เราทุกคนจะมีขอบเขตของตัวเอง เรากินอิ่มแค่ไหน ? เราทนเรื่องบางเรื่องได้แค่ไหน ? บางคนกลับล้ำเส้นตัวเองจนรู้สึกแย่ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าแค่ไหนควรพอ ? แค่ไหนคือถึง ” ขีดจำกัด ” แล้ว
สร้างขอบเขตให้ตัวเอง เพราะทุกคนมีขีดจำกัด
“ Boundaries & Limit” ขีดจำกัด และ ขอบเขต
ก่อนอื่นเลยอยากให้ลองนึกถึงเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกใช้งานเป็นเวลานานแล้วไม่ได้พัก ถูกใช้งานจนเครื่องร้อน จนเครื่องกระตุก
ตัวของเราเหมือนกันที่เกิดมาพร้อมกับขอบเขตและขีดจำกัด จริง ๆ ทุกคนมักจะมีขอบเขตของตัวเอง เรากินอิ่มแค่ไหน เราทนเรื่องบางเรื่องได้แค่ไหน
ถ้าให้ลองนึกถึง boundaries หรือ ขอบเขต สิ่งที่เป็นกายภาพ สัมผัสได้ คือ กำแพง ที่กั้น รั้ว แต่ในทางชีวภาพ เช่น ความรู้สึก ความสัมพันธ์ การทำงาน
เรามีขอบเขตให้กับสิ่ง ๆ นั้นพอดีหรือยัง? หรือเราปล่อยให้สิ่งเหล่านั้นเข้ามารบกวนและล้ำเส้นในชีวิตของเรามากเกินไปอยู่หรือเปล่า? อยากชวนสำรวจ
ขีดจำกัด และ ขอบเขต ในการทำงาน
work-life balance เป็นเรื่องที่สำคัญมาก อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องคำพูด บางองค์กรหัวหน้าเลือกใช้คำพูดที่ไม่ดี ทำให้พนักงานรู้สึกแย่ อาจทำให้เกิดเป็นการฝังใจหรือการรับรู้คุณค่าในตัวเองต่ำได้
วัฒนธรรมองค์กรและเนื้องานอาจจะแตกต่างกันไป บางบริษัทอาจจะมีรีเช็คงาน คุยงาน หลังเลิกงานหรือวันหยุด บางบริษัทอาจจะแบ่งเวลางานกับเวลาพักชัดเจน ต้องเลือกให้เหมาะสมกับตัวเอง
ความสัมพันธ์ที่ล้ำเส้นเกิน ขีดจำกัด และ ขอบเขต
การรับมืออาจจะต้อง balance ระหว่าง การให้เวลาตัวเองและการประนีประนอมกับคนรอบข้าง
1. ปฏิเสธ
เพราะการบอกหรือแสดงออกให้อีกฝ่ายรับรู้สำคัญมาก เพราะเราเติบโตมาแตกต่างกัน อยู่ในสังคมที่แตกต่างกัน ถ้าไม่สื่อสาร คนอื่นอาจจะล้ำเส้น ซึ่งกระทบความสัมพันธ์ได้
2. หลีกเลี่ยง
ในกรณีที่เราสื่อสารแล้ว บอกแล้ว แต่เขาไม่เข้าใจ เรามีสิทธิ์เลือกว่าจะสนิทกับคนนี้มากน้อยแค่ไหน ไม่ผิดที่จะหลีกเลี่ยง ไม่อยู่กับคนที่ทำให้เราไม่สบายใจ ไม่เป็นตัวเอง
3. สำรวจตัวเอง
อาจจะเป็นการลองบันทึกโน้ตไว้ว่าเราจะให้ boundaries และ limits อยู่ตรงไหน เรื่องไหนคือฟางเส้นสุดท้ายสำหรับเรา ให้ลองระลึกไว้เสมอและอย่าใจร้ายกับตัวเอง
ต้องอดทนจนเกิน ขีดจำกัด ล้ำเส้นตัวเอง
คำถามที่น่าสนใจคือ ฝืนแล้วเกิดผลดีเรียกว่าล้ำเส้นไหม? ถ้าฝืนแล้วคุ้มค่าคงไม่แย่ แต่ฝืนแล้วไม่คุ้มค่าเหนื่อย ต้องรู้สึกแย่ ต้องรู้สึกทุกข์ คงต้องพอ เพราะเป็นการล้ำเส้นตัวเอง
หรือบางคนอาจจะใจอ่อนกับตัวเองจนมีความสุขบนความทุกข์ เพราะเกินขีดจำกัดและขอบเขตเราตั้งไว้ การไม่เคารพตัวเองทุกรูปแบบ อาจเรียกได้ว่าเป็นการล้ำเส้นตัวเองเช่นกัน
บ่อยครั้งมากที่เราล้ำเส้นตัวเอง โดยการกดดันตัวเอง ตำหนิตัวเอง ไม่ยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็น จนสุดท้าย ทุกอย่างที่อดทนมาอาจจะพังทั้งหมด ถ้าเป็นแบบนี้ อาจจะถึงจุดแล้วไหม
ที่ต้องเริ่มถามตัวเองในแต่ละวันว่า เราเป็นไงบ้าง? เลิกเกลียดตัวเองจากการทำอะไรไม่สำเร็จ เพื่อให้เหลือความรู้สึกแย่จากเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่มีความรู้สึกแย่ที่เกิดจากการล้ำเส้นตัวเอง
ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามอยู่ที่นั่น
บางทีเราไม่ลิมิตตัวเอง แต่ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อาจจะลิมิตเรา ทำอะไรไม่ได้นอกจากยอมรับ แต่ถ้าเรารู้ว่าเราทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ตอนนั้นแล้ว คงไม่มีอะไรน่าเสียดาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้ง ” ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามอยู่ที่นั่น ” เป็นเรื่องจริง ถ้าอย่างอื่นไม่เอื้อ แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นไม่มีคุณค่าโอกาสอื่น ๆ ยังมีให้ลอง
อย่าล้ำเส้นตัวเอง โดยการปล่อยเบลอ พยายามแบบไม่ลืมหูลืมตาจนไม่มีความสุขหรือต่อว่าตัวเองจนจมอยู่กับความผิดหวัง อีกอย่างที่สำคัญคือ การพยายามคนเดียวนั้นเหนื่อย
การหาคนช่วยอยู่และทำเคียงข้างกันไปไม่ใช่เรื่องผิด พยายามกันให้จนถึงที่สุด ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรจะได้ไม่เสียดาย ถึงแม้จะไม่สำเร็จแต่เราและอีกคนได้เต็มที่กับสิ่งนั้นแล้ว
Will power แรงใจที่จะควบคุมตัวเอง
Will power คือ แรงใจที่จะควบคุมตัวเอง ความสามารถในการควบคุมใจตัวเอง การมีวินัยและความตั้งใจในตัวเอง จะนำเราไปสู่ความสำเร็จ อ้างอิงจาก Cambridge Dictionary
คำว่า อดทน คำว่าพยายาม มีทั้งผลดีและผลเสีย ถ้าเราทนแล้วสิ่งนั้นเกิดผลตอบแทนที่ดี การอดทนคงคุ้มค่า แต่ถ้าเราทนกับสิ่งที่ไม่ได้เกิดผลดี เดินออกมาคือคำตอบที่ดีกว่า อดทนในแง่ดี
จะรู้ได้ไงว่าแค่ไหนถึงควรพอ?
ถ้าไม่มีความสุขในการทำสิ่งนั้นแล้วคงพอ ใช้ความสุขนี่แหละเป็นตัววัด คิดว่าเราพยายามได้ แต่หันกลับมาถามตัวเองบ้าง ว่ายังไหวไหม? ยังมีความสุขอยู่ไหม?
ถ้าเราเริ่มรู้สึกเอ๊ะหรือเริ่มตั้งคำถามตัวเองบ่อย ๆ ว่าเรากำลังฝืนอยู่ไหมนะ? เราเหนื่อยไหม? แล้วถ้าเราทำต่อจะส่งผลอะไรมากกว่านั้นไหม? คงเป็นสัญญาณเตือน
รับมืออย่างไรกับความผิดหวัง?
1. ถามตัวเอง
เราพยายามได้ แต่รีเช็คตัวเองสักหน่อยระหว่างทาง ว่ายังไหวไหม ยังมีความสุขอยู่ไหม
2. ตัดสินใจ
มีแค่สองทาง คำถามที่ว่า ควรไปต่อหรือพอแค่นี้ ไหวก็ไปต่อ ไม่ไหวก็พอ บางทีคำตอบเรียบง่ายแค่นั้นจริง ๆ
3. ยอมรับการตัดสินใจของตัวเอง
ไม่ไหวก็คือไม่ไหว ทนจนไม่มีความสุข ก็ปล่อยตัวเองเป็นอิสระจากสิ่งนั้นเถอะ ยอมรับความจริง อยู่กับปัจจุบันให้ได้มากที่สุด
Keystone Habits สร้างนิสัยพื้นฐานใหม่
จะห้ามไม่ให้ความผิดหวังเกิดขึ้นคงจะยากมากเลย เลยอยากแชร์ถึง Keystone habits การสร้างนิสัยพื้นฐานที่จะทำให้เรากลายเป็นคน best version กว่าเดิม ถ้าให้เลือกแก้นิสัย 1 อย่างที่เราอยากแก้ไข
หลายคนคงมีหลายอย่าง เวลาที่เราจะแก้ไขนิสัยของเรา เรามักจะทำพร้อม ๆ กัน พอทำหลายอย่างพร้อมกันทำให้เหนื่อยที่จะฝืน แต่หากเราเริ่มเปลี่ยนจากนิสัยพื้นฐานเราก่อนอาจจะดีกับตัวเองมากกว่า
Keystone Habits คือ “นิสัยพื้นฐาน” ของเราที่เป็นตัวยึดเหนี่ยวและเป็นพื้นฐานของนิสัยอื่น ๆ ที่จะตามมาภายหลัง ประกอบออกมาเป็น “ตัวเรา” ในทุกวันนี้ จุดเด่น คือ ต้องง่าย ต้องเป็นสิ่งที่ชอบทำ
เป็นสิ่งที่อยากทำ ไม่กดดัน ไม่ล้ำเส้นขอบเขตการเปลี่ยนแปลงของตัวเองมากเกินไป จากนั้นค่อยทำไปทีละ step ให้สำเร็จและเห็นผลไปเรื่อย ๆ และอย่าลืมกำหนดเวลาให้พอเหมาะเพื่อให้ทำได้เรื่อย ๆ
ผลกระทบถ้าเราไม่มี ขีดจำกัด และ ขอบเขต ให้ตัวเอง
1. กำหนดทิศทางในชีวิตได้ยาก
เราจะกำหนดทิศทางในชีวิตได้ดีกว่า ถ้าเรารู้ว่าขอบเขตของเราอยู่ตรงไหน จะไม่เสียพลังงานไปกับเป้าหมายที่เราไม่สามารถเอื้อมถึงหรือสิ่งที่เราไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้
2. ขาดความเคารพตัวเอง
อาจกลายเป็น people pleaser ในที่สุด หากปล่อยให้คนอื่นล้ำเส้น สุดท้ายแล้วการที่เราฝืน “โอเค” “ไม่เป็นไร” ร้ายแรงที่สุดคือ เราจะกลายเป็นคนสูญเสียจุดยืนและตัวตน
3. Low self-esteem
คุณค่าในตัวเองจะแกว่ง จะเว้าแหว่ง เมื่อเราล้ำเส้นตัวเองหรือปล่อยให้คนอื่นล้ำเส้นไปเรื่อย ๆ
4. เกิดภาวะทางอารมณ์
เวลาที่เราปล่อยให้ความรู้สึกแย่ที่เกิดขึ้นจากการล้ำเส้นที่มาจากการไม่มีขีดจำกัดและขอบเขตให้ตัวเอง ถ้าไม่จัดการอย่างเหมาะสมจะสามารถนำไปสู่ภาวะทางอารมณ์ได้ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล
ที่มา :
รู้จัก Keystone Habits เพราะการพัฒนาตัวเองเริ่มได้ด้วย “นิสัย” พื้นฐานที่ดี
Post Views: 2,612