วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับ นิทรรศการ “Turn Yours Scars into Stars” “แม้จะเจ็บปวดแต่คุณก็งดงาม” เป็นนิทรรศการที่ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้คนที่เจอกับประสบการณ์ต่างๆที่ไม่สวยงาม
และกลายเป็นบาดแผลที่เจ็บปวด โดยนิทรรศการจะจัดในวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ The Palette Artspace ค่าเข้าชม 100 บาท 🙂
รวมถึงมุมมองของศิลปิน 2 ท่านที่จะนำงานศิลปะไปจัดแสดงที่นิทรรศการด้วย ในหัวข้อ “ความเจ็บปวดและบาดแผลทางจิตใจ”
จริงๆแล้ว ความเจ็บปวดสวยงามอย่างไร?
Tum Ulit
Art of Hongtae
” โจทย์ในครั้งนี้มีความท้าทายไหม? ”
Art of Hongtae : เป็นโจทย์ที่เบสิค เพราะไม่ว่าศิลปินคนไหนในประวัติศาสตร์ก็ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานจากความเจ็บปวดทั้งนั้น หากศึกษาดูศิลปินในประวัติศาสตร์ที่ชีวิตแย่
จะสร้างผลงานได้อย่างมีเอกลักษณ์และเรื่องราวที่น่าสนใจ แม้จะไม่ได้พูดออกมาเลยก็ตาม
Tum Ulit : ความเจ็บปวดเป็นวัตถุดิบที่ดีสำหรับศิลปิน แค่เปลี่ยนรูปแบบไปในรูปแบบที่ศิลปินนั้น ๆ สื่อสารออกมา เช่น บางคนพูดคุยกับเพื่อน แต่ศิลปินใช้การวาดภาพในการสื่อสาร
มุมมองที่มีต่อ “การยอมรับการจากลา”
Tum Ulit : ก่อนที่จะเกิดการยอมรับการจากลาได้ อาจจะต้องเข้าใจก่อนว่า เราอยู่ในกฎข้อหนึ่งคือ เราพบเพื่อจาก เป็นสิ่งพื้นฐานและสากล ฉะนั้น การจะยอมรับการจากลาให้ได้คือ
มองย้อนกลับไปเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เรื่องธรรมดา สุดท้ายแล้วเราเกิดมาเจอกัน ใช้ชีวิตร่วมกัน และจากลา ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อสารเสมอมาในผลงาน
Art of Hongtae : แตกสลายเมื่อตอนต้นปี เนื่องจากถูกทิ้งและอกหักเมื่อตอนต้นปี 2022 เป็นการอกหักครั้งแรกตอนอายุ 35 เป็นการแตกสลายที่ยาวนาน แต่คนเลข 3 มักมีมุมมองทุกอย่างตาม
ความเป็นจริงมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสามัญสำหรับโลกใบนี้ หากเป็นคำทางพุทธศาสนา คือเป็น สามัญลักษณะ หรือ ไตรลักษณ์ คือ ลักษณะอันเป็นปกติของโลกนี้ 3 อย่าง คือ ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้
และไม่มีตัวตน ซึ่งเป็นมาตรฐานของทุกอย่าง ความรักก็เช่นกัน มันจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น ทนไม่ได้ และหายไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเวลา ว่าจะทนไม่ได้นานแค่ไหน หากยาวนานไปจนถึงตัวตาย
ก็จะเรียกรักนิรันดิ์ ถ้าเกิดทนไม่ได้แค่ 2-3 สัปดาห์ หรือ เป็นเดือน ก็เรียกว่าอกหัก พิจารณากันแบบนั้น ซึ่งคุณค่าของการแตกสลายครั้งนี้ คือ ได้งานเยอะมากจากการอกหัก
เกิดความรู้สึกขึ้นเยอะมากในแบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน การเจ็บปวดเหล่านั้นเหมือนเป็นพาเลทสี ที่ใช้ในการเขียน ในการวาดงานศิลปะ เพราะสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้ว
“อุปสรรคของการสร้างงานศิลปะครั้งนี้”
Art of Hongtae : ระหว่างทางไม่มีอุปสรรคใด ๆ แล้ว และไม่ร้องไห้กับเรื่องที่ผ่านมาแล้ว…เพราะร้องจนไม่เหลืออะไรให้ร้องอีกครั้ง ตอนนี้เหลือเป็นตะกอนของความทรงจำ
เกิดเป็น Flashback ขึ้นมาบ้างและเราจำภาพมันได้ค่อนข้างชัดเจน ความทรมานเราอาจจะอยู่นาน และแฟนตาซี
Tum Ulit : การเห็นความจริงและยอมรับ ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะยอมรับได้ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ๆ เพราะมันไม่เคยง่าย แต่อุปสรรคจริง ๆ คือเรารู้ว่า ทุกอย่างมีเวลาของมัน และเราไม่สามารถเร่งให้หายเร็ว ๆ ขึ้นได้
Art of Hongtae : รีบหายไม่ได้ แผลมันมีเวลาของมัน มันก็ค่อย ๆ แห้ง และตกสะเก็ด มันขึ้นอยู่ทีว่า เราเป็นมนุษย์ที่มีเกล็ดเลือดเยอะแค่ไหน มันก็จะตกสะเก็ดเร็วขึ้น
แทนที่จะไปโฟกัสว่าเมื่อไหร่จะหาย ก็เอาเวลาไปดูแลตัวเอง หรืออะไรที่เป็นประโยชน์กับแผล เป็นขั้นตอนเชิงบวกที่จะทำให้แผลหายเร็วขึ้น มากกว่าการเอาเข็มมาจิ้มแผลตัวเอง
“แรงบันดาลใจในการสร้างผลงานศิลปะที่จะนำไปจัดแสดงในนิทรรศการ”
Art of Hongtae : แรงบันดาลใจหลัก ๆ คือ การอกหักเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
Tum Ulit : เป็นเรื่องของ ความสัมพันธ์กับทุกอย่าง เพราะสุดท้ายทุกอย่างก็ไม่ใช่ของเรา เราแค่หยิบยืมมาใช้ ฉะนั้นการยอมรับการจากลาคือ การยอมรับกับทุกอย่าง
อย่างแมวตัวแรกที่ตั้งชื่อว่า Good bye เพื่อเป็นการเตือนตัวเองว่าสุดท้ายเราก็ต้องจากลา
การก้าวผ่านความเจ็บปวด และช่วงเวลาที่ยากที่สุด?
Art of Hongtae : การพยายามหาความจริงและไม่พยายามหาความจริง การจากกันมี 2 รูปแบบ คือการจากเป็นและจากตาย หากเป็นการจากตาย คำตอบมีเพียงคำตอบเดียว คือหมดลมหายใจ
หากเป็นการจากเป็นจะเกิดคำถามมากมายขึ้น เช่น ตรงไหนที่เราไม่ดี ตรงไหนที่พอจะแก้ไขได้ไหม มันจะดีหากเราตอบมันได้ แต่ถ้าเราตอบมันไม่ได้มันก็จะทรมาน
แต่จะแย่กว่านั้นอีก หากหาคำตอบได้ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ทันแล้ว เพราะ เลิกกันแล้ว ไม่รักกันแล้ว ทนกันไม่ได้แล้ว ความทรมานนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา เต็มไปด้วยความหวังและสิ้นหวังในเวลาเดียวกัน
Tum Ulit : เมื่อเกิดความเจ็บปวดเราจะตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่ทำอย่างนั้น? อย่างนี้? ซึ่งเป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจเราที่สุด แต่อีกส่วนหนึ่งคือ คำถามว่าเมื่อไหร่เราจะกลับมาเป็นปกติ
การรอเวลาเพื่อกลับไปถึงจุดนั้นมันทรมาน เพราะเรารู้สึกว่าการจะกลับมาเป็นตัวเองอีกครั้งต้องต่อสู้กับตัวเองเยอะมาก
“หรือจริง ๆ ที่เราทรมาน คือการที่เราปักเส้นชัย ว่าจะหายเจ็บเมื่อไหร่ แต่สุดท้ายยังไม่หายตามธงที่ปักไว้ – Art of Hongtae”
ความเจ็บปวด สุดท้ายแล้วงดงามไหม?
Art of Hongtae : ในตอนนั้นไม่มีอะไรสวยงามเลย มันเเย่ จนรู้สึกอยากตาย มันจึงไม่มีอะไรสวยงามเลย ชีวิตเหมือนฝนตกทุกวัน สีเทาทุกวัน แต่เมื่อเราก้าวผ่านมาแล้ว
เราจะเริ่มมองเห็นบางจุดที่เริ่มใช้ได้ ประโยชน์ คือ ถ้าเพื่อนเราอกหักก็รู้ว่าจะดูแลเพื่อนยังไง สิ่งที่สวยงามคือ มิตรภาพ เพื่อนขับรถมาตอนตี 2
พาเราเดินในซอยแล้วส่งเราเข้านอน เพื่อนสมัยประถมที่ไม่เคยเจอกันโทรมาหา แล้วปลอบใจ นั่นเป็นสิ่งที่สวยงาม
Tum Ulit : ความงดงามคือการเห็นว่า มีใครที่รักเราบ้าง แต่หากให้ขยายความขึ้น ความงดงาม คือการที่ทำให้เราเติบโตขึ้น หมายความว่าถ้าเราไม่เจ็บปวด ไม่หกล้ม ไม่เคยผิดพลาด
เราจะไม่ได้เรียนรู้ แต่พอมันเกิดขึ้นแล้ว มันทำให้เราตระหนักถึงชีวิต ได้มองเห็นชีวิตตัวเองว่าเรามีความเจ็บปวดแบบไหน เรามีการจัดการกับความคิดแบบไหน
ความงดงาม คือ เราได้เรียนรู้ที่จะเผชิญหน้ากับมันโดยตรงแล้วจะผ่านมันไปได้ โดยเป็นคนที่ดีขึ้นกว่านี้ได้อย่างไร
Art of Hongtae : ความเจ็บปวดทำให้เราครบเครื่องขึ้น เปรียบเหมือนเวลาสวมบทบาทตัวละคร สิ่งที่จำเป็นมากที่สุดคือ ต้องเข้าใจตัวละครนั้นมาก ๆ การเข้าใจ คือการรู้จักเขารอบด้าน
รู้ไปถึงว่าเขาจะตัดสินใจยังไงเมื่อเจอเหตุการณ์เหล่านั้น มากไปกว่านั้นคือ ทำให้มีความ Emphathy มากขึ้น เพราะเคยหัวเราะเยาะเพื่อนที่อกหัก แล้วคิดว่า อะไรจะขนาดนั้นกับแค่ผู้หญิงคนเดียว
แต่วันนี้ เมื่อเจอเหตุการณ์เกิดขึ้นกับตัวเอง จึงพบว่า เราไม่มีสิทธิที่จะมองแบบนั้นอีกต่อไป และในวันนี้เราสามารถบอกคนที่อกหักได้ว่า “กูก็เคยเป็นแบบมึง เดี๋ยวก็หายไม่ตายหรอก”
ศิลปะช่วยให้ก้าวผ่านเรื่องราวควงามเจ็บปวดได้มากน้อยเพียงใด
Tum Ulit : ช่วยได้ และเป็นปัจจัยนึงที่ทำให้เห็นตัวเอง งานชิ้นแรก ๆ ที่เป็นที่รู้จัก ก็สร้างออกมาจากความเจ็บปวดและบาดแผลทางใจของตัวเอง วาดภาพเล่าเรื่องราว
แต่ละเหตุการณ์ออกมามาในรูปแบบ Comic การได้สื่อสารแบบนี้ออกไป ก็ทำให้สบายใจขึ้น อาจจะเหมือนการโทรไปเล่าให้ใครซักคนฟังฟัง ต่างกันตรงที่แค่ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ
ซึ่งช่วยให้ค่อย ๆ เข้าใจตัวเองมากขึ้น เห็นบาดแผลที่ผ่านมามากขึ้น แต่การทำศิลปะอาจไม่ได้ทำให้ทุกคนดีขึ้น ไม่สามารถการันตีแบบนั้นได้
Art of Hongtae : วิธีการของเเต่ละคนไม่หมือนกัน ทุกคนมีเครื่องมือที่แตกต่างกัน อย่างเช่น วาดภาพแล้วรู้สึกดีขึ้น หลาย ๆ คนก็แต่งตัวเซ็กซี่แล้วถ่ายรูป
นั่นอาจเพราะบางคนเห็นตัวเองสวย แต่เสียคุณค่านั้นไปเพราะโดนทิ้ง, บางคนร้องเพลงแล้วดีขึ้น ซึ่งมันเป็นคำตอบได้ว่า ทำสิ่งที่รู้สึกเป็นคุณค่าของเรา
เพื่อให้การเป็นอยู่ในโลกนี้ของเราชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้นใครที่กำลังพบเจอกับความเจ็บปวด พยายามหาเครื่องมือที่เป็นตัวเองเพื่อสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงให้กับตัวเอง
ฝากถึงคนที่อยากจะก้าวผ่านความเจ็บปวด
Tum Ulit : แค่รู้สึกว่าอยากจะผ่านมันไปได้ ก็เป็นการเริ่มต้นกระบวนการที่ดีแล้ว
เคยได้มีโอกาสไปนั่ง วิปัสสนา กับพระอาจารย์โกเอ็นก้า เราได้เห็นความเจ็บปวดทางกายเชื่อมไปที่จิตใจของเรา โดยนั้งสมาธิโดยห้ามขยับ 1 ชั่วโมง ซึ่งความคัน ความเหงื่อไหล
ทำให้เรารำคาญใจ ถ้าในสถานการณ์ปกติ เราแค่ปาดเหงื่อออก มันก็หายไปแล้ว แต่ครั้งนี้ทำไม่ได้ ทำให้ได้เผชิญหน้ากับมัน ซึ่งมันทำให้เราเห็นตัวเองกับสิ่งเร้าภายนอกในขณะนั้น และเราจัดการกับสิ่งนั้นอย่างไร
ในขณะที่นั่งวิปัสสนา มีแต่ความโกรธ และความรู้สึกว่าเมื่อไหร่มันจะหายไป เหมือนแบบจำลองชีวิต คือ บางความเจ็บปวดเกิดขึ้นโดยที่เราจัดการมันได้
แต่ความเจ็บปวดบางอย่างมันจัดการไม่ได้ตอนนั้น เหมือนทกับการคันมันจะอยู่กับเรา และมันจะหายไป
การเชื่อว่าวันหนึ่งมันจะหายไป จะทำให้เราไม่ทุกข์ร้อนกับมัน แต่ไม่ได้บอกว่าความเจ็บปวดจะไม่มีอยู่จริง แต่ว่าเราจะไม่เป็นทุกข์กับมันมากเกินไป และอดทนเพราะมันทำอะไรไม่ได้
Art of Hongtae : เมื่อเราดึงตัวเองมาเป็นมือที่ 3 เหมือนตอนเราดูมวย และ ตอนเป็นนักมวยเอง เราเห็นภาพคนละมุมกัน เช่นกัน การวิปัสสนาหรือการฝึกจิต คือการที่เราดึงตัวเองออกมาให้เห็นตัวเอง
การเฝ้าดูตัวเอง ตอนที่นั่งวิปัสสนา แล้วปวดขา ถ้าเป็นปกติเราก็ยืดขา แต่อดทน จนการปวดขานั้นหายไปเองเลย ไม่แน่ใจว่าหายไปได้ยังไง เหมือนขาหายไปเลย ฉะนั้น เกิดขึ้น ทนไม่ได้ ตั้งอยู่ ดับไป
ทุกอย่างเป็นแบบนั้นเสมอ สุดท้ายไม่ต้องไปอยากรู้หรอกว่ามันจะหายเมื่อไหร่ วัตถุดิบของเราไม่เหมือนกัน เราตอบแทนกันไม่ได้ เพราะเสบียงที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน
แต่ที่จะต้องทำคือ หายใจ แล้วไปต่อ เพราะมีคนที่รักคุณอยู่รอบ ๆ มีสิ่งที่นอกเหนือจากตัวคุณอยู่รอบ ๆ ตัวคุณ อย่ามองแค่ตัวเอง ให้มองไปรอบ ๆ เวลาเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ มีอะไรเยอะแยะไปหมด
เช่น ความจริง,มิตรภาพ ,ความเจ็บปวดของคนอื่น หรือ เรื่องสวยงามบนโลก แล้วมันจะช่วยบรรเทาเบาคลายให้ดีขึ้นไปเอง
นิทรรศการ Turn Your Scars into Stars
Tum Ulit : อยากจะเชิญชวนมาชมว่า ศิลปินแต่ละท่านมีความเจ็บปวดอย่างไร ถ่ายทอดออกมาอย่างไร และสะท้อนถึงตัวเองอย่างไร อาจจะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น
หรือไม่มากขึ้น ก็ไม่เป็นไรอย่างน้อยได้มาชื่นชมศิลปะจากศิลปินหลาย ๆ ท่าน ก็เป็นสุนทรีทางจิตใจแล้ว
Art of Hongtae : ถ้ามาเดินงานนี้ก็รู้แล้วว่า อย่างน้อยก็มีคนประมาณ 10 คนที่เจ็บปวดเหมือนกับคุณ และเขาก็นำความเจ็บปวดมาทำเป็นงานศิลปะ และศิลปินในงานก็น่าสนใจ
เพราะกรอบประสบการณ์ของแต่ละศิลปินก็ต่างกัน การถ่ายทอดงานออกมาก็แตกต่างกัน เป็นสิ่งที่ดีมากที่คุณจะได้มางานเดียวเเล้วเหมือนได้ไป 10 งาน
ช่องทางติดตามรายละเอียดข้อมูลต่างๆของทางนิทรรศการ
Instagram : scarsintostars_event
Twitter : Turn Your Scars into Stars
Facebook : Turn Your Scars into Stars #แม้จะเจ็บปวดเเต่คุณก็งดงาม
Line : @starryteam
Post Views: 2,786