ทำอย่างไรดี? เมื่อเห็นคนตัดพ้อ คิดฆ่าตัวตาย ถ้าเราเจอแบบนี้อาจจะทำให้เราตั้งตัวไม่ถูกว่าเราจะทำอย่างไร
เพราะ กลัวว่าถ้าพูดออกไปอาจจะทำให้เขาเปลี่ยนไปโดยที่เราไม่รู้ว่าเขาเปลี่ยนไปในแง่ดีกว่าเดิมหรือแย่ลงกว่าเดิม
บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยในทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ วิธีเตรียมรับมือเมื่อเห็นคนมีแนวโน้มคิดฆ่าตัวตาย
การสังเกตสัญญาณเตือนคนที่มีแนวโน้ม คิดฆ่าตัวตาย
1. ส่งข้อความหรือโพสต์ความรู้สึกที่เกิดจากความรู้เศร้า เสียใจ ความล้มเหลว ตอนนั้นเขาจะอาจไม่มีใครอยู่ข้าง ๆ เลย เขาอาจจะไม่ได้แค่ระบายความรู้สึก
แต่อาจเสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเอง ถ้าเราเห็นอาจจะลองสละเวลาพูดคุยกับเขาให้มากขึ้น เปิดพื้นที่รับฟังเขาสักเล็กน้อย ใช้การพูดคุยกับเราเพื่อให้เขาตระหนักคิดและหาทางจัดการได้อย่างเหมาะสม
2. การส่งข้อความ ส่งเสียงมาหาเหมือนเป็นการบอกลา เช่น ขอบคุณที่รับฟังวันนี้ ฉันดีขึ้นบ้างแล้วแต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่อยากอยู่บนโลกใบนี้ ลักษณะข้อความนี้อาจจะไม่ได้แค่แสดงความขอบคุณ
แต่อาจเป็นสัญญาณบอกว่าเขาจะไปแล้วอยากให้ลองคิดว่าอะไรกันนะที่ทำให้เขาส่งข้อความทำนองแบบนี้มา สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา ตอนนี้เขารู้สึกอย่างไร ใช้ทักษะเพื่อทำความเข้าใจเขา
เพราะถ้าเราเข้าใจเขาเราอาจช่วยเขาได้ทันท่วงที
3. การบ่นว่าอยากตาย ไม่อยากอยู่บนโลกใบนี้อีกแล้ว มีรูปที่ทำร้ายตัวเอง การส่งข้อความทำนองนี้ พยายามอย่ามองว่าเขาเรียกร้องความสนใจ เขาอาจส่งมาเพื่อเป็นสัญญาณบอกว่าอยากขอกำลังใจ
ขอที่ปรึกษาสักคนได้ไหมเพียงแค่ไม่กี่นาทีของเราให้เขาได้ระบายความในใจ อาจช่วยให้เขาเดินต่อไปข้างหน้าได้อีกครั้ง
4. ข้อความที่บ่งบอกความสิ้นหวังในชีวิต เช่น ถ้าทำแบบนี้ก็คงไม่เป็นแบบนี้ ไม่มีอะไรดีเลยฉันทนทุกข์ทรมานต่อไปเพื่ออะไร ถ้าเราพบเห็นแล้วปล่อยเขาไว้ อาจจะทำให้เขารู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกโดนทอดทิ้ง
ไม่มีใครสักคนอยู่ข้างเขาแม้แต่รับฟังลักษณะเป็นสัญญาณเตือนของการเป็นผู้รับฟังที่ถ้าเราพบเห็นต้องช่วยเหลือเขา ถ้าเราสังเกตได้แล้วเราก็จะสามารถช่วยเขาได้
หลังจากนั้นพบเห็นเราต้องรู้จักวิธีการประเมินความเสี่ยงด้วยการตั้งคำถามก่อน เช่น เขาอยู่ไหน มีใครอยู่ข้าง ๆ เขาตอนนี้หรือเปล่า มีอุปกรณ์อะไรไหมที่เสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเอง
ประเมินสถานการณ์โดยรอบว่าเขาสามารถควบคุมด้วยตัวเองได้แค่ไหน
ความเสี่ยงต่ำ
ถ้าเขาอยู่ในประเมินความเสี่ยงต่ำ อาจจะพูดคุยให้กำลังใจ รับฟังปัญหา และแสดงให้เขารับรู้ว่าเราเข้าใจเขาว่านะ ว่าเขากำลังเผชิญอยู่กับอะไร การพูดคุยจะช่วยทำให้เขารู้สึกเข้มแข้งขึ้น
รู้สึกว่ามีใครสักคนเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเขาเราสามารถเชิญชวนให้เขาทำกิจกรรมเพื่อให้เขารู้สึกดีขึ้นได้ ชวนเขาคิด ชวนเขามองว่ากิจกรรมอะไรที่ทำให้เขาทำแล้วมีความสุข
หรือทำแล้วเบี่ยงเบนออกจากสิ่งนั้นได้ สถานที่ วัตถุ สิ่งของต่าง ๆ ที่สามารถยึดเหนี่ยวจิตใจเขาเพื่อให้เขามีแรงจูงใจที่จะอยู่ต่อไป
ความเสี่ยงกลางถึงสูง
หากประเมินแล้วเขาอยู่ในความเสี่ยงกลางถึงเสี่ยงสูง เราควรจะแนะนำสถานที่ติดต่อเพื่อให้เขาเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด เขาอาจมีความผิดปกติทางอารมณ์ร่วมด้วย หากเขามีความเสี่ยงถึงขั้นนี้
เขาอาจมีการวางแผนที่จะทำร้ายตัวเองมาก่อนหน้านี้บ้างแล้วความรู้สึกของเขาที่เกิดจากความเครียด ความเศร้า ความผิดหวัง จนอยากทำร้ายตัวเองขั้นสูง
การส่งต่อให้กับผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุดเป็นการเหมาะสมที่สุด เพราะการรักษาจะต้องใช้วิธีที่เหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญ
ถ้าหากเราคิดว่าเราไม่สามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมได้ ควรต้องระวังให้มาก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำร้ายตัวเอง
สุดท้ายนี้ ถ้าหากเราพบเห็นข้อความ รูปภาพ ที่เป็นสัญญาณเตือนว่าเขาคิดจะทำร้ายตัวเอง ลองนำ 4 ลักษณะนี้ไปประเมินเขาต่อว่า เขามีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองอยู่ในระดับไหน
ลองไปให้การช่วยเหลือเขาเบื้องต้น พูดคุย รับฟัง เสียสละเวลาให้เขาสักนิด อาจเปลี่ยนชีวิตของเขาได้เลย
Post Views: 2,439