หลาย ๆ ครั้งความคิดของเราก็วิ่งเราจนเราจับไม่ทันเลยใช่ไหม? บางครั้งความคิดมันเกิดจากการที่เรา คิดมาก เพราะเรายังตัดสินใจไม่ได้ คิดมากเพราะตัวเราเองไม่รู้จะจัดการกับปัญหาตรงนั้นยังไงดี?
หลาย ๆ คนคงเคยรู้สึกว่าพอได้แล้ว หยุดคิดได้แล้ว ตัดสินใจเลือกสิ่งต่าง ๆ ให้กับตัวเองได้แล้ว แต่ความยากคือเราไม่สามารถหยุดความคิดได้ทันทีทันใด บทความนี้ Alljit Podcast X รัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ
ความ คิดมาก เกิดขึ้นได้อย่างไร?
บางครั้งความคิดมากก็เกิดจากการที่เราตัดสินใจไม่ได้ คิดมากเพราะไม่รู้ว่าเราจะจัดการกับปัญหาตรงนั้นอย่างไร หรือบางคนอาจจะคิดมากเพราะไม่สามารถเลือกสิ่งหนึ่งกับสิ่งหนึ่งได้
7 วิธีทำให้เราคิดมากน้อยลง
1.เรียนรู้ที่จะสังเกตความคิดของตัวเอง
สังเกตความคิดของตัวเองว่าส่วนสำคัญของสิ่งที่เรากำลังคิดอยู่ที่ตรงไหน เรากำลังให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรบ้าง แต่การที่เราจะกลับมาสังเกตความคิดของตัวเราเองได้ ต้องมาจาก “สมาธิ” ของตัวเราเองก่อน
การปล่อยให้ความคิดของเราลอยไปลอยมา ไม่มีที่ยึดเกาะ จนไม่สามารถหยุดคิดได้ การฝึกสมาธิตัวเองให้มีสติ สามารถควบคุมตัวเองได้ว่าเรากำลังคิดเรื่องอะไรอยู่
มันจะทำให้ความคิดของเราหยุดนิ่งแต่มันไม่ได้แปลว่าเราหยุดคิด สมาธิจะช่วยให้เราหยุดความหมกมุ่นของความคิดได้
2.เขียนความคิดของตัวเอง
ลองเขียนความคิดของตัวเราเอง ออกเป็นข้อ ๆ เลย ว่าเรากำลังคิดเรื่องอะไรอยู่ การเขียนเป็นเทคนิคที่ช่วยเรามาก ๆ เป็นเหมือนการระบายความคิดและความรู้สึก เวลาที่เราเขียนมันจะผ่านหลายกระบวนการมากกว่าความคิด
มันจะผ่านการคิดวิเคราะห์ ประมวลผลแล้วออกมาเป็นตัวหนังสือ การที่เราเขียนความคิดของเราออกมาให้มันชัดเจน ทำให้ความคิดเป็นระบบมากยิ่งขึ้น
ถ้าเราเก็บความคิดเหล่านั้นไว้แล้วเราไม่เขียนระบายมันออกมาให้มันชัดเจนหรือเราไม่สามารถลิสต์มันออกมาได้เลย มันจะเป็นเหมือนกับการที่เราเอาอะไรหลาย ๆ อย่างมาสุมไว้ ทับถมไว้
มันไม่ได้ช่วยให้เราหยุดคิดได้ มันมีแต่จะทำให้เราคิดวกวนไปเรื่อย ๆ เราจะจับต้นชนปลายไม่ถูกก็จะไม่นำมาสู่การจัดการปัญหาที่เหมาะสม
3.กำหนดช่วงเวลาคิดมาก
ลองกำหนดเวลาให้ตัวเองได้คิดมาก การกำหนดเวลาให้เราได้มีเวลาคิดมากจะช่วยให้เราไม่ต้องไปหมกมุ่นอยู่กับปัญหาเดิมซ้ำ ๆ
เราจะต้องมีการตั้งเวลากับตัวเองว่าช่วงเวลาไหน ที่เราจะอนุญาตให้ตัวเองได้คิด ช่วงเวลาไหนที่เราจะอนุญาตให้ตัวเองได้ทำอย่างอื่น
เช่น อาจจะตั้งเวลาให้ตัวเองได้คิดมากสัก 30 นาที หลังจากหมดเวลาเราก็ต้องไปทำอย่างอื่น มันจะทำให้ตัวเราเองมีวินัยกับตัวเองมากขึ้น เราจะรู้ว่าเมื่อเวลาหมด เราต้องมีวินัยกับตัวเองว่าเราจะออกจากจุด ๆ นั้น เราต้องทำและฝึกให้เป็นนิสัย
4.เบี่ยงเบนความคิดของตัวเอง
การจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือสองสิ่งขึ้นไป มันอาจจะยากเกินไป อาจจะลองทำ กิจกรรมอื่น ๆ เช่น ออกกำลังกาย เล่นเกมส์ ที่มันต้องใช้ความคิดเหมือนกัน
จะได้นำความคิดของเราจากการคิดมากเรื่องเดิม ไปจดจ่อที่ความคิดในการทำกิจกรรมที่ช่วยเบี่ยงเบนความคิดของเราออกไป
กิจกรรมที่ใช้ทั้งร่างกาย ความคิดและความรู้สึกของเรา จะช่วยให้ความคิดมากของเราหยุดชะงักไปด้วย เช่น การเล่นเกมส์บอร์ด การเล่นเกมส์ที่ต้องเเข่งขันกัน
5.โฟกัสกับปัจจุบัน
การที่เราโฟกัสกับสิ่งที่ทำในปัจจุบันเป็นอีกวิธีที่สามารถลดนิสัยขี้คิดมากของเรา คือเลิกคิดแล้วลงมือทำเลย ลงมือทำกับสิ่งที่ควรจะทำ ณ ตรงนั้นเลย
อย่าไปโฟกัสว่าสิ่งที่ต้องทำฉันจะต้องคิดให้รอบคอบก่อน จะต้องวางแผนให้ชัดเจนก่อน ลงมือทำและโฟกับกับอะไรที่อยู่ ณ ปัจจุบันไปเลย
เพื่อหลีกเลี่ยงความคิดมากเกี่ยวกับอดีตหรืออนาคตที่มันจับต้องไม่ได้เพราะทุกครั้งที่เรามีความกังวล ความกลัว มันทำให้เราไม่อยู่กับปัจจุบัน จนอาจจะเสียโอกาสหลายๆอย่างไป
6.เคารพความคิดเห็นของตัวเอง
ความคิดของเราเป็นสิ่งที่ต้องเคารพมากที่สุด ไม่ว่าใครจะพูดอะไร คิดอย่างไร เเต่สุดท้ายเเล้วตัวเราเองจะรู้ว่าอะไรที่ดีที่สุดสำหรับตัวเรา จงเรียนรู้ที่จะเคารพความคิดของตัวเองให้ได้เท่าการเคารพความคิดของคนอื่น
ยิ่งคิดมากเท่าไหร่ เรายิ่งจะลังเลกับความคิดของตัวเองมากเท่านั้น เพราะฉะนั้น “คิด” “ตัดสินใจ” ได้แล้ว จงเคารพความคิดและการตัดสินใจของตัวเราเอง
7.ปัจจุบันคือสิ่งที่เราแก้ไขได้
เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความผิดพลาดในอดีตได้ แต่เราสามารถเเก้ไขสิ่งที่อยู่ในปัจจุบันได้ เป็นเรื่องปกติมาก ๆ ที่ใครหลาย ๆ คนมักจะคิดมากเกี่ยวกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นและข้อผิดพลาดในอดีต เราอาจจะเปลี่ยนแปลงอะไรที่มันเคยเกิดขึ้นไม่ได้
“แต่เราสามารถเลือกได้ว่าปัจจุบันเราอยากจะให้เป็นอย่างไร”
การที่เราปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความคิดมาก วนเวียนอยู่กับความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น มีแต่จะทำให้สุขภาพจิตของเราค่อย ๆ แย่ลง มากไปกว่านั้น เราอาจจะไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ หรือเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเองเลย
Post Views: 6,741