คุมอารมณ์ไม่อยู่

คุมอารมณ์ไม่อยู่ทำไงดี? พร้อมการเพิ่ม ความฉลาดทางอารมณ์ โดยนักจิตวิทยา

เรื่องAdminAlljitblog

อารมณ์ในแต่ละวันของคนเรา มีอารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความสุข โกรธ เศร้า เหงา บางทีเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นของตัวเองคืออารมณ์อะไร?

 

แต่เมื่ออารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น เราสามารถที่จะควบคุมอารมณ์นั้นได้ไหม

 

บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยในทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ แล้วถ้าเราอยากเพิ่ม ความฉลาดทางอารมณ์ จะส่งผลดีต่อเราอย่างไร? 

เมื่อพูดถึงความฉลาดทางอารมณ์ให้เห็นภาพชัดขึ้น คงคล้ายกับความฉลาดทางสติปัญญา เช่น เรียนเก่ง จัดการตัวเองเก่ง วางแผนการใช้ชีวิตได้ค่อนข้างดี 

ความฉลาดทางอารมณ์

ความฉลาดทางอารมณ์ ก็หมายถึง เราสามารถจัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเองได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนฉลาดทางสติปัญญา จะมีความฉลาดทางอารมณ์ตามมาด้วย

 

เพราะอย่างคนที่เรียนเก่ง ประสบความสำเร็จ ก็ยังมีความเครียด กดดัน

 

และไม่สามารถจัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้เนื่องจากหลาย ๆ อย่าง ที่เขาทำต้องออกมาดีความกดดันจึงเพิ่มขึ้น

 

ฉะนั้นเมื่อพูดถึงความฉลาดทางอารมณ์นั่นคือ “การเข้าใจและรับรู้อารมณ์ของตัวเอง”

 

เมื่อเราเข้าใจและรับรู้อารมณ์ของตัวเอง จะนำไปสู่การเข้าใจอารมณ์คนอื่นด้วย สำคัญกว่านั้นเมื่อเรารู้ก็จะสามารถตระหนักและจัดการได้อย่างเหมาะสม 

อารมณ์รูปแบบธรรมดากับความฉลาดทางอารมณ์แตกต่างกันอย่างไร?

อารมณ์รูปแบบธรรมดา หมายถึงพื้นฐานที่ใช้เรียกชื่ออารมณ์ต่าง ๆ คำสั้น ๆ ง่าย ๆ ที่เราอยากทำความเข้าใจว่าเรารู้สึกอย่างไร คนรอบข้างรู้สึกอย่างไร 

 

ส่วนความฉลาดทางอารมณ์เป็นการรับรู้และจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดี สามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ สามารถประสบความสำเร็จได้มากขึ้นเนื่องจากเหตุผลอยู่เหนืออารมณ์ 

หากอยากเริ่มต้นเป็นคนฉลาดทางอารมณ์ ต้องทำอย่างไร?

1. เริ่มจากการตระหนักรู้ต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ว่าเราสามารถระบุอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ไหม ทำความเข้าใจอารมณ์ตัวเองได้หรือไม่ เนื่องจากหลายคนมักหลีกเลี่ยงอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

 

หรือปล่อยผ่านอารมณ์นั้น ๆ เพราะคิดว่าเดี๋ยวอารมณ์นั้นก็ผ่านไป แต่การปล่อยอารมณ์ไว้เรื่อย ๆ เมื่อถึงวันที่หมดความอดทนก็สามารถทำลายสิ่งที่สร้างมาได้เหมือนกัน 

 

2. การฝึกสติกับตัวเองสามารถทำให้รู้เท่าทันอารมณ์ได้ เมื่อเกิดเรื่องอะไรก็ตามให้หยุดและคิดทบทวนกับตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้น

 

3. ฝึกการควบคุมลมหายใจของตัวเองมากขึ้น จะสามารถทำให้ตระหนักรู้ได้เร็วขึ้นและเลือกแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมได้ดีขึ้น

 

4. เขียนระบายสิ่งที่รู้สึก เพื่อให้อารมณ์ที่เกิดขึ้น ได้รับการปลดปล่อยออกมา แทนการโต้ตอบกลับในตอนที่โกรธ การนำความฉลาดทางอารมณ์มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

 

ก็จะทำให้เราสามารถจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น หากเราตระหนักรู้และควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ สามารถนำไปสู่การรับรู้และเข้าใจอารมณ์คนรอบข้างได้ดีด้วยเช่นกัน

 

สุดท้ายแล้ว เราเองก็จะมีความสุขกับการใช้ชีวิตและใคร ๆ คงอยากอยู่ร่วมกับเราอย่างแน่นอน

Related Posts