เมื่อนึกถึงความรู้สึกเศร้า สิ่งที่เป็นร่องรอยหรือแสดงให้เห็นชัดที่สุดก็คือ น้ำตา แต่บาครั้งตอนที่เราเสียใจอะไรมาก ๆ ผิดหวังอะไรมาก ๆ ก็ทำให้เรา ร้องไห้ไม่ออก เหมือนกัน
การที่เราร้องไห้ไม่ออกก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่เจ็บปวด อยากร้องไห้มาก แต่มันร้องไม่ออกเลย วันนี้เราจะชวนทุกคนทำความเข้าใจความรู้สึกนี้กัน 🙂
ร้องไห้ไม่ออก
ที่มาของความเศร้า มาจากความรู้สึกไหนบ้าง?
- การถูกปฏิเสธจากคนอื่นหรือสังคม
- ความผิดหวัง
- การสูญเสีย
- ความเหงา
- การไม่รับรู้คุณค่าของตัวเอง
- ความไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่ชอบตัวเอง
- ความรู้สึกเจ็บใจ โกรธ
ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายที่มาของความเศร้าไว้ว่า เป็นการทำงานของ สมองกลีบท้ายทอย สมองกลีบอินซูลาฝั่งซ้าย ทาลามัสฝั่งซ้าย และฮิปโปแคมปัส
ซึ่งการทำงานจะรวมกันประมวลผลเรื่องความขัดแย้ง ความเจ็บปวด ความโดดเดี่ยว ความทรงจำ ความรู้สึกดีใจ ความสนใจ ประสาทสัมผัสทางร่างกาย การตัดสินใจ และการแสดงความรู้สึก
ความซับซ้อนของสมองทำให้สามารถรู้สึกเศร้าได้หลากหลายรูปแบบ ต่างออกไปในแต่ละคน อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าความรู้สึกเศร้ามีหลายที่มามาก ๆ
นอกจากความเศร้าจะเกิดขึ้นทางสมองแล้วเวลาที่เราเศร้าก็จะกระทบกับร่างกายของเราด้วย เช่น อาการปวดหัว รูปแบบการนอนที่เปลี่ยนไป บางทีก็นอนไม่หลับ หรือนอนตลอดทั้งวัน เปลี่ยนรูปแบบการกินให้กินไม่หยุดหรือไม่กินอะไรเลย
เศร้า VS ซึมเศร้าต่างกันยังไง?
จากเว็บไซต์ Better health กล่าวไว้ว่า เวลาที่รู้สึกเศร้าไม่ได้หมายความว่าเราจะมีภาวะซึมเศร้า แต่ถ้าความรู้สึกเศร้าเริ่มส่งผลกระทบต่อใช้ชีวิต การทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
อาจจะส่งผลให้เรามีภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง เศร้า กับ ซึมเศร้า คือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และระยะเวลาที่เรารู้สึก
เช่น ถ้าเราพึ่งเลิกกับแฟนเราก็จะรู้สึกเศร้า แต่ถ้าการเลิกกับแฟนเกิดขึ้นมาได้สักหลายปีแล้ว แต่เรายังรู้สึกเศร้า รู้สึกหดหู่อยู่อาจจะแสดงว่าความเศร้าของเราได้พัฒนาเป็นซึมเศร้า ซึ่งต้องไปพบแพทย์เพื่อพูดคุยวินิจฉัยด้วย
ทาง Better health ก็ได้บอกถึงวิธีดูความแตกต่างของ เศร้า กับ ซึมเศร้า ..
เศร้า
- อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่คงที่
- เป็นความคิดที่เกิดขึ้นได้เมื่อเราคิดในแง่ลบ แต่ไม่ถึงกับการฆ่าตัวตาย
- เป็นปฏิกิริยาทั่วไปที่เกิดขึ้นได้เมื่อรู้สึกถึงความพ่ายแพ้ ผิดหวัง กังวล
ซึมเศร้า
- รู้สึกเศร้าอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน สูญเสียความมั่นใจ มีผลกระทบต่อสิ่งอื่น ๆ เช่น ความสนใจที่เคยชอบลดลง ไม่อยากอาการ พลังงานน้อย การนอนที่เปลี่ยนไป มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย
- สามารถเกิดขึ้นได้กับพันธุกรรม
- เกิดความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจที่อาจจะส่งผลกระทบกับร่างกาย เช่น น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงที่ผิดปกติ
จะเห็นได้ชัดเลยว่าจุดตัดของทั้งสองอย่างคือ กระทบกับชีวิตประจำวันไหม? เป็นคำถามสำคัญจริง ๆ ที่เอาไว้รีเช็คตัวเองได้ และที่สำคัญถ้าเป็นซึมเศร้าไม่ได้เศร้าแปป ๆ แล้วหายเหมือนเศร้าทั่วไป แต่ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ตัวเองและการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญควบคู่กัน
ร้องไห้ไม่ออก ทำไงดี
เพลงเศร้า หนังเศร้า
ในกรณีที่ร้องไห้ไม่ออกแต่อยากร้องไห้การฟังเพลงหรือดูหนังที่มีเนื้อเพลงหรือเรื่องราวตรงกับสถานการณ์ที่กำลังเจออยู่ พอมีอะไรตรงกับความรู้สึก จะร้องไห้ออกมาได้ง่าย เหมือนได้ทบทวนตัวเองไปในตัวว่าตอนนี้เรากำลังตกอยู่ในปัญหาอะไร
คุยกับคนที่เราสนิทใจแบบ Deep Talk
เวลารู้สึกเศร้าการที่เราคุยกับคนที่เรารู้สึกสนิทใจ สามารถทำให้เราเกิดความสบายใจและปลอดภัยที่จะร้องไห้ตอยอยู่กับเขาได้
ยอมรับความรู้สึกเศร้าที่เกิดขึ้น
ต้องยอมรับกับตัวเองก่อนว่าเศร้า เพราะบางทีตัวเราเองก็ปฏิเสธที่จะเศร้าไม่อยากร้องไห้ ไม่อยากมีความรู้สึกนี้
เรียบเรียงความรู้สึกที่เกิดขึ้น
ค่อย ๆ จัดการความรู้สึกตัวเองทีละอย่าง แยกให้ออกว่าเรากำลังเศร้าเรื่องอะไรเพราะบางทีความเศร้าก็เกิดขึ้นหลาย ๆ เรื่องปนกันไปหมด
ทำไมเราเศร้าแต่ ร้องไห้ไม่ออก ?
5 stages of grief
เป็นทฤษฎีหนึ่งในทางจิตวิทยาเวลาที่คนเราเจอเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจ ไม่ว่าจะเป็น ความผิดหวัง ความสูญเสีย คนเราจะต้องเจอกับ 5 ขั้นของความเสียใจนี้ คือ 1.Denial 2.Anger 3.Bargaining 4.Depression
และ 5.Acceptance บางทีการที่เราร้องไห้ไม่ออก อาจจะเป็นเพราะเรายังอยู่ในขั้นแรก ๆ อยู่ เช่น เราอาจจะยังอยู่ในขั้น Denial เราเลยจะมัวแต่ช็อค ยอมรับความจริงไม่ได้ มีแต่คำถามว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงหรอ?
ทำไมเราต้องมาเจอเหตุการณ์แบบนี้? แต่เมื่อไหร่ที่เราอยู่ในขั้น Depression หรือขั้นของซึมเศร้าแล้ว เราอาจจะร้องไห้ออกมาได้ไม่ยาก
คุ้นชินกับความเศร้า
เวลาคนเราเสียใจกับบางอย่างในชีวิตแล้วไม่ได้จัดการหรือระบายออกอย่างเหมาะสม เป็นไปได้ที่เราจะคุ้นชินกับความเศร้า ทำให้ไม่ร้องไห้ออกมา
ความสับสน
การอยู่ในช่วงที่สับสน ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก อาจจะทำให้ยากที่เราจะตามตัวเองทันว่าตอนนี้เรากำลังรู้สึกเศร้า เวลาเราเศร้าแต่ร้องไห้ไม่ออก เป็นเพราะเรายังสับสน ว่าเราคิดอะไร รู้สึกยังไง
กับเรื่องที่เกิดขึ้นกันแน่ พอวันหนึ่งที่เรารู้แล้วว่าเราเศร้า จากการที่เวลาผ่านไปและได้ทบทวนตัวเอง ถีงวันนั้นเราจะร้องไห้ออกมาเอง โดยที่ไม่ต้องพยายามบิลด์อารมณ์ตัวเอง
การคาดหวังของสังคม
ที่ถูกตังค่ามาว่า ร้องไห้เท่ากับอ่อนแอ หรือประโยคที่ค่อนข้างได้ยินบ่อยว่า อ่อนแอก็แพ้ไป แต่จริง ๆ แล้วคนเราสามารถอ่อนแอได้ เราไม่ใช่เครื่องจักร หุ่นยนต์ที่ไม่เหนื่อย ไม่เศร้า ไม่มีความรู้สึก
ถ้าเรายอมรับความรู้สึกตัวเอง เศร้าก็เศร้า โกรธก็โกรธการที่เรากลั้น เราไม่ระบายออกมาเมื่อเราเศร้าเสียใจ หรือรสอะไรก็ตามถ้าทำเป็นระยะยาวจากที่เราเศร้าเฉย ๆ อาจจะกลายเป็นภาวะซึมเศร้าได้
เจอเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ
เวลาที่เจอเหตุการณ์สะเทือนใจจะทำให้เรามีความงง ๆ สับสน ทำตัวไม่ถูกว่าตอนนี้เราควรรู้สึกอะไร แล้วผ่านไปสักระยะเพิ่งจะรู้สึกเศร้าขึ้นมา ภาวะนี้เกิดจากอารมณ์ช็อก เพราะเราไม่ได้คิดว่าจะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น
ทำให้บางคนมีภาวะซึมเศร้าเป็น PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) หรือความผิดปกติหลังเกิดบาดแผลทางใจ ดร.จาเมกา วู้ดดี้ คูเปอร์ (Jameca Woody Cooper) อธิบายว่า
“บาดแผลทางใจสามารถทำให้บุคคล และสมองของเขาชัตดาวน์ลง ราวกับว่าอยู่ในโหมดป้องกัน” นำไปสู่ความรู้สึกชาทางอารมณ์ที่ไม่สามารถร้องไห้ออกมาได้
ข้อดีของการร้องไห้
จากเว็บไซต์ mindbodygreen
- การร้องไห้จะช่วยหลั่งฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ออกซิโทซิน และเอ็นดอร์ฟิน ที่บรรเทาความเจ็บปวดทางกาย และใจ
- ช่วยลดฮอร์โมนความเครียดอย่าง ฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคทรอปิกได้
- ไมเคิล เฉิน (Michael Chen) แพทย์ และผู้อำนวยการแพทย์ประจำ One Medical กล่าวว่า “การร้องไห้สามารถช่วยด้านอารมณ์ของเราได้ ทั้งการพัฒนาการนอนหลับ ลดการอักเสบของร่างกาย และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
- ทำให้เรารู้ว่าใครพร้อมอยู่ข้างเรา อันนี้ได้มาจากแอนิเมชั่นเรื่อง inside out ในเรื่อง ตัวละครเอกจะมี “จอย” ตัวละครที่เป็นอารมณ์สุข จอยจะพยายามให้ไรลีย์มีความสุขตลอด ไม่ยอมให้อารมณ์อื่นเข้ามามีบทบาทเลย แต่พอโตขึ้น อารมณ์อื่น ๆ เกิดขึ้นอย่างห้ามไม่ได้ เพราะไรลีย์ต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงและปัญหาชีวิต จนสุดท้าย sadness ตัวละครที่เป็นอารมณ์เศร้าเข้ามา ทำให้ไรลีย์รู้ว่า พ่อแม่และคนรอบข้าง พร้อมจะซัพพอร์ตไรลีย์
วิธีระบายอย่างอื่นนอกจากร้องไห้
การร้องไห้เป็นวิธีหนึ่งในการแสดงความเศร้า ความอึดอัดใจ รวมถึงความรู้สึกและอารมณ์ลบอื่น ๆ แต่ถึงเราจะไม่ได้ร้องไห้หรือพยายามทำอะไร จิตใจเราจะมีกลไกการป้องกันและเยียวยาความเจ็บปวดให้อยู่แล้วที่เรียกว่า Defense Mechanism เรื่องของการระบายสิ่งที่อึดอัดอยู่ข้างใน
1.กลไก Displacement คือ การระบายโดยการไปลงกับอย่างอื่น เช่น บางคนโกรธหัวหน้าแต่ไปแสดงออกอารมณ์นี้กับคนในครอบครัว เช่น ไปพูดจาไม่ดีกับพ่อแม่
2.กลไก Sublimation คือ การเอาสิ่งร้าย ๆ ไปเปลี่ยนให้เป็นการกระทำที่ดี ๆ เช่น ในกรณีของความเศร้า บางคนอาจจะเปลี่ยนความเศร้าให้เป็นงานศิลปะ หรือที่ในการเรียนจิตวิทยาชอบยกตัวอย่างนี้ คนที่มีความก้าวร้าว ชอบการชกต่อย อาจจะใช้จุดนี้ไปเป็นนักมวย
มีอีกหลายอย่าง แต่ได้ยกตัวอย่างมาให้พอเห็นภาพ แต่ด้วยความที่กลไกป้องกันทางจิต มุ่งที่จะปกป้องเราอย่างเดียว ซึ่งบางครั้งสิ่งที่แสดงออกไม่ใช่การกระทำที่คำนึงถึงจิตใจของผู้อื่น การพยายามหาวิธีการระบายที่ดีอาจจะช่วยได้มากกว่า ไม่เสี่ยงต่อการเสียความสัมพันธ์หรือผลกระทบทางลบต่าง ๆ ด้วย
อ้างอิง
About sadness
What are emotions?
Why Can’t I Cry? 8 Reasons, From Medical To Emotional
Post Views: 15,874