“อกหัก” เป็นวลีที่ใช้อธิบายเวลาที่เราได้รับความเจ็บปวดทางใจอย่างรุนแรง หรือความเจ็บปวดที่เราสูญเสียคนเป็นที่รัก ไม่ว่าจากการเสียชีวิต การหย่าร้าง รวมไปถึงการถูกปฏิเสธ
เป็นคำที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณและถูกใช้กันอย่างกว้างขวาง
หลาย ๆ คนน่าจะเคยรู้จักและสัมผัสกับความรู้สึกอกหัก บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยในทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ วิธีการรับมือเมื่อเรามีวันที่อกหัก
ถ้า อกหัก แล้วมูฟออนไม่ได้ มันสามารถจำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ไหม?
การอกหักคือเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตเรา ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเรา บางคนกระทบมากบางคนกระทบน้อย ขึ้นอยู่กับพื้นฐานจิตใจความเข้มแข็งของแต่ละคน เวลาที่เรารู้สึกผิดหวัง การสูญเสีย
เป็นสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกถึงความเศร้าได้ ความเศร้าที่เกิดขึ้นถ้าเรารู้สึกว่าเราเศร้า แต่เป็นความเศร้าที่เรารู้สึกว่า เราต้องผ่านพ้นไปให้ได้อาจจะไม่นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า
แต่คนที่รู้สึกอกหักแล้วเศร้าแล้วจมดิ่งอยู่กับความรู้เศร้า ก็จะเริ่มมีอาการหดหู่ เบื่อ ไม่อยากเจอใคร ตามมาด้วยความคิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อตนเอง โทษตัวเอง ตอกย้ำตัวเอง
พอรู้สึกถึงอาการที่กล่าวมาข้างต้นก็จะเริ่มส่งผลต่อทางกายของเรา
ทำให้เราเริ่มไม่อยากรับประทานอาหาร เริ่มปล่อยให้ตัวเองผอม หรือบางคนก็เลือกรับประทานมากกว่าปกติ นี่เป็นอาการเบื้องต้นที่เริ่มเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า
ทำไมบางคนอกหักจนฆ่าตัวตาย?
เวลาที่เรารู้สึกรักใครสักคนมาก ๆ จะนำตัวเองไปผูกติดกับอีกฝ่าย มอบความรู้สึกให้อีกฝ่ายเปรียบเหมือนโลกทั้งใบของตัวเอง
พอเกิดเหตุการณ์เลิกลาทำให้รู้สึกเหมือนโลกอีกเสี้ยวหนึ่งของเขาได้พังทลายลงไป ไม่สามารถอยู่ได้เพียงลำพังอีกต่อไป
เวลาที่เรารู้สึกเศร้าเรามักจะหลงลืมไปว่า จริง ๆ แล้วเรายังมีโลกอีกเสี้ยวหนึ่งที่อยู่กับเราเสมอมา จึงเป็นแนวโน้มให้คนที่อกหักมีความคิดที่ “พอแล้วไม่อยากที่จะใช้ชีวิตอยู่” เกิดขึ้น
เราเกิดมาอยู่คนเดียว เราก็ต้องอยู่คนเดียวให้ได้จริงหรือเปล่า?
มนุษย์เราเกิดมาตัวคนเดียวแต่แท้จริงแล้วมนุษย์คือสัตว์สังคม สังคมแรกที่เรามีคือครอบครัวและยังมีสังคมเพื่อน สังคมที่ทำงาน ถึงมนุษย์จะสามารถอยู่คนเดียวได้
แต่ท้ายที่สุดแล้วมนุษย์ยังมีความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาคนอื่น และผูกมิตรกับคนอื่นเพื่อการดำรงชีวิต
คนที่เป็นภาวะซึมเศร้า ถ้าอกหักแล้วอาการจะหนักเพิ่มขึ้นไหม?
จริง ๆ แล้วขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ในบางคนที่มีความรักที่ไม่ดีเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เลิกรากันไป อาจจะทำให้รู้สึกว่าหลุดพ้นพันธนาการของความสัมพันธ์
แต่กับบางคนที่มีความรักที่ดีเวลาเลิกกันไป อาจจะทำให้รู้ว่าโลกของเขาได้พังทลายลงไป เรื่องของอาการจึงขึ้นอยู่กับกรณีแล้วแต่บุคคล
มูฟออนไม่ได้ เสี่ยงจะเป็นซึมเศร้าไหม?
มนุษย์มีการมูฟออนตลอดเวลา แต่บางคนไปแบบเดินหน้าบ้าง ถอยหลังบ้าง แต่ไม่ว่ายังไงคนที่มูฟออนเขาพยายามทำบางสิ่งบางอย่างให้ตัวเองดีขึ้นอยู่แล้ว แต่ถ้าสมมุติเขาถอยหลังมากกว่าเลือกที่จะเดินหน้า
เขาก็จมดิ่งอยู่กับความเศร้าจึงเกิดความเสี่ยงที่จะเป็นซึมเศร้า
จะแยกยังไงดีระหว่าง เศร้า อกหัก เสียใจ?
“เศร้า อกหัก เสียใจ” แท้จริงแล้วมีอาการ และความหมายที่คล้ายกัน แต่ความหมายในทางภาษาอังกฤษมีความแตกต่างกัน
ความเสียใจ ‘sadness’ ในทางภาษาอังกฤษ คือภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้น ที่เราสามารถหาที่มาที่ไป หาสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ มีเหตุการณ์บางอย่างที่เข้ามากระทบกับอารมณ์เราแล้วทำให้รู้สึกเสียใจ
ซึ่งต่างจากความเศร้าที่มีแนวโน้มไปสู่ภาวะซึมเศร้า ‘depression’ อาการของซึมเศร้าบางทีจะหาที่มาที่ไปที่เรารู้สึกแบบนั้นไม่ได้ เกิดจากความคิดและความผิดปกติของสารสื่อประสาทของเรา
ถ้าเรารู้สึกแบบนี้ประมาณสองถึงสี่อาทิตย์จะสามารถนำเราไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้าได้
วิธีสังเกตุว่าเราเศร้า จนเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าหรือเปล่า?
สังเกตว่าตัวเองมีวิธีจัดการรับมือกับความเศร้าที่เกิดขึ้นได้ไหม เวลาที่เราเศร้าแล้วเราพาตัวเองออกไปทำอะไรบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น
อาการดีขึ้นของเราไม่ใช่ความรู้สึกเศร้าที่หายไปแต่เราจะค่อย ๆ ดีขึ้นจากภาวะความเสียใจ
แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ความเศร้ามันเกิดขึ้นแล้วเรารู้สึกจัดการกับมันไม่ได้ หรือพยายามแล้วแต่กลับมาที่เดิม ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเรา กับคนรอบตัวของเรา
สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณเตือนว่าเราอยู่กับความรู้สึกนี้นานเกินไป อาจจะทำให้เราต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์เพื่อได้รับคำแนะนำ
อกหักรับมือยังไงดี?
1. อยู่กับความรู้สึกเสียใจที่เกิดขึ้นให้เต็มที่ การอกหักนอกจากจะมีข้อเสียที่ทำให้เรารู้สึกทรมานใจแล้ว แต่ก็ยังมีข้อดีที่เกิดขึ้นคือทำให้เราได้รับบทเรียนและรู้สึกเติบโตขึ้น
ได้กลับมาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้อยู่กับคนที่อยู่ข้าง ๆ เราไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือเพื่อนของเราที่เราเคยหลงลืมพวกเขาไปบ้างในช่วงเวลาที่เรามีแฟน
2. ในกรณีที่มีความรู้สึกซึมเศร้าแล้วมีความรู้สึกคิดโทษตัวเอง หรือคิดว่าตัวเองไร้ค่า ให้เราไปจัดการกับความรู้สึกไร้ค่าของตัวเอง ทบทวนความรู้สึกตัวเอง ความสุขจริง ๆ ของเราคืออะไร
เป้าหมายของเราคืออะไร หรือลองมองโลกของเราให้กว้างขึ้นว่าในอนาคตอาจจะมีใครสักคนที่พร้อมคอยอยู่ข้าง ๆ เราอีกครั้งเพื่อคอยย้ำเตือนว่าเรามีคุณค่าอย่างไร
3. ค่อย ๆ จัดการกับปัญหาความเศร้าที่เข้ามาทีละอย่าง จดบันทึกสิ่งที่เรารู้สึกว่าเรารู้สึกอย่างไรบ้าง มีความรู้สึกไหนที่เราสามารถแก้ไขให้กับตัวเองได้บ้างเพื่อค่อย ๆ แก้ทีละอย่าง
อกหักแล้วพบนักจิตวิทยา?
เมื่อคนที่อกหักแล้วไปพบนักจิตวิทยา นักจิตวิทยาจะไม่มีอะไรที่แนะนำได้ตายตัว แต่จะเดินไปพร้อม ๆ กับคนไข้ที่มาหาถามถึงปัญหาและพร้อมที่จะแก้ไขไปพร้อมกับคนไข้
ถ้าใครที่มาจุดถึงนี้แล้วรู้สึกว่าตัวเราไม่สามารถดึงตัวเราออกมาจากความรู้สึกที่จมดิ่งทางออกที่ดีคือการที่เราไปพบนักจิตยาเพื่อให้ช่วยเราพาออกมาจากความรู้สึกที่เราไม่สามารถพาตัวเองออกไปได้
อาการอกหัก เศร้า เสียใจ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเคยเผชิญ บางคนมีวิธีที่สามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ แต่บางคนก็ไม่มีวิธีรับมือจึงทำให้ดิ่งสู่ภาวะซึมเศร้า เวลาที่เรารู้สึกสังเกตตัวเองว่าเริ่มเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า
เราควรที่จะจัดการตัวเองด้วยการพาตัวเองไปพบนักจิตวิทยา เพื่อให้ตัวเราได้หลุดออกมาจากความรู้สึกที่กำลังกลืนตัวตนของเรา เชื่อว่าทุก ๆ คนเมื่อหลุดพ้นจากความรู้สึกเหล่านี้จะมีโลกที่เราสามารถยืนได้ด้วยตัวเองและสวยงามรอเราอยู่
Post Views: 3,839