” เครียดกับงาน ” ในชีวิตการทำงานสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากก็คือความเครียด เป็นสิ่งที่มาคู่กันกับคำว่างาน เพราะการที่เราใช้ความคิดกับอะไรนาน ๆ ก็ทำให้เราสะสมความเครียดได้เหมือนกัน
Alljit ร่วมกับคุณกวินทิพย์ จันทนิยม นักจิตวิทยาการปรึกษาและตอนนี้กำลังทำงานในตำแหน่ง HR (Human Resource / Human Resource Management)
สิ่งที่มากระตุ้นให้เกิดความรู้สึก เครียดกับงาน
1. งาน
งานที่ทำซ้ำ ๆ มีความจำเจ งานที่ทำเป็นระยะเวลานาน หรือเรื่องปริมาณงานที่มากจนเกินไป ก็จะทำให้พนักงานมีความเครียดเกิดขึ้นได้
แต่ในทางตรงกันข้ามปริมาณงานน้อยเกินไปก็ทำให้เครียดได้เหมือนกัน หรือเจองานที่ยากเกินความสามารถของเราจนเกินไป หรือมีเวลาการทำงานที่ไม่มีความยืดหยุ่น เป็นต้น
2. สภาพแวดล้อม
ถ้าเป็นด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน ก็จะเป็นเรื่องของการมีระบบการทำงานที่ไม่ชัดเจน ระบบการบริหารพนักงานไม่ดี ความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงานและหัวหน้า กฎระเบียบขององค์กรที่เคร่งครัดจนเกินไป
งานที่ทำไม่มีความมั่นคงหรือความก้าวหน้า หรือเป็นเรื่องของอุปกรณ์การทำงานไม่เอื้ออำนวย มีเสียงดังรบกวน ห้องที่ทำงานไม่มีความสว่างมากพอ เป็นต้น
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สามารถเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดในการทำงานได้ทั้งนั้นเลย
รับมือเมื่อรู้สึก เครียดกับงาน มากเกินไป
1. จัดลำดับความเร่งด่วน
อย่างแรกเราควรจัดลำดับงานตามความเร่งด่วนและความสำคัญของงานก่อน จะได้ทำเป็นงาน ๆ ไปจะได้ไม่กังวลและเครียดมาก
2. ขอความช่วยเหลือ
หากงานยังมีปริมาณมากเกินกว่ากำลังอยู่ อาจต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น หรือถ้าเป็นงานใหญ่ ๆ ควรแบ่งงานเป็นชิ้นย่อย ๆ ค่อย ๆ ทำให้เสร็จทีละขั้นตอนทีละเรื่อง
จะดีกว่าการทำงานใหญ่ไปเรื่อย ๆ โดยไม่แบ่งเป็นขั้นตอน
3. ผ่อนคลายตัวเอง
ใช้วิธีผ่อนคลายในแบบที่ตัวเองชอบ อย่างเช่น บางคนอาจจะหามุมสงบนั่งพักจากงานอยู่คนเดียว บางคนอาจจะฟังเพลงบรรเลงคลอไปด้วยเพื่อปรับอารมณ์ของตนเอง
บางคนชอบการกินก็อาจจะหาสิ่งที่ชอบมานั่งกินไปด้วยทำงานไปด้วย คนที่เป็น perfectionist งานทุกอย่างต้องเป๊ะ ต้องทำให้เสร็จในเวลาอันรวดเร็ว คนประเภทนี้ก็มักจะมีความเครียดสูง
ควรปรับความ perfectionist ลงบ้าง ให้ตัวได้ผ่อนคลายมากขึ้น เพราะเดี๋ยวจะมีผลเสียด้านสุขภาพกายสุขภาพจิตตามมาทีหลัง
ถ้ากำลัง เครียดกับงาน มากเกินไปปรับความคิดตัวเองอย่างไร?
1. ลองสำรวจความคิดลบของตัวเอง
ทบทวนแล้วลิสต์ออกมาว่าแต่ละครั้งคิดลบในระดับรุนแรงมากน้อยแค่ไหน หาเหตุผลประกอบว่าทำไมต้องคิดลบ และหาข้อโต้แย้งที่ไม่ควรคิดลบ และลองดูว่าจะคิดบวกได้อย่างไรในสถานการณ์นั้น ๆ
2. พยายามมองหาสิ่งดีๆ
ให้คิดไว้ว่าทุกอย่างมันมีสองด้านเสมอ เช่น เราเจองานยาก แต่ในอีกมุมมันก็ช่วยให้เราพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นถ้าเราทำงานนี้สำเร็จเราก็จะมีผลงานเพิ่มมากขึ้นเก็บเป็น Achievement ไว้ไปต่อยอดได้อีกในอนาคต
3. คิดว่าเรามีศักยภาพ
ให้คิดว่างานที่เราได้รับมอบหมายให้ทำ หัวหน้าคงเห็นว่าเรามีศักยภาพที่จะทำได้เลยให้เราทำงานนี้ เราโชคดีกว่าอีกหลาย ๆ คนที่เค้าไม่ได้งานนี้ แต่องค์กรนี้รับเราเข้ามาทำงานนี้เค้าก็ต้องมองเห็นอะไรในตัวเราแน่นอน
การคิดบวกมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
จากงานวิจัย การคิดบวกนี่มีประโยชน์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การคิดบวกช่วยให้รับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น เพราะผู้ที่คิดบวกจะมีฮอร์โมนความเครียดคอร์ติซอล (Cortisol) อยู่ในระดับที่ค่อนข้างเสถียร
และช่วยให้ตอบสนองต่อความเครียดได้ดีกว่าผู้ที่มองโลกในแง่ร้าย สามารถจัดการปัญหาได้ดีกว่า หรือการคิดบวกช่วยต้านเศร้าได้ คนที่คิดบวกจะมีทักษะการแก้ปัญหาที่ดี อีกทั้งการคิดบวกยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิต พฤติกรรม
และยังมีประโยชน์ในการป้องกันภาวะซึมเศร้ามากกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่มองโลกในแง่ร้าย การคิดบวกยังช่วยต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาพบว่าคนที่คิดบวกมากๆ มีแนวโน้มที่จะมีความเข้มข้นของสารแคโรทีนอยด์ในร่างกาย
ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในระดับที่สูงกว่าประมาณ 3-13 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับคนที่มีการคิดบวกน้อยกว่าค่ะ เห็นมั้ยคะว่าหารคิดบวกมีประโยชน์และข้อดีอย่างมาก
HR ช่วยเหลือพนักงานที่มีความ เครียดกับงาน เกินไปอย่างไร
1. Work-life Balance
ให้ความสำคัญกับ work-life balance อาจจะกำหนด policy ขององค์กรให้เอื้อต่อการ work life balance ของพนักงาน หรือจัดกิจกรรมสนุก ๆ ในระหว่างวันให้พนักงานได้คลายเครียดกันบ้าง
2. สร้างมุมพักผ่อน
สร้างมุมพักผ่อนไว้ให้พนักงานไม่ว่าจะเป็นมุมอ่านหนังสือ มุมเล่นเกมส์ มุมพักผ่อน
3. Hybrid Working
กำหนดให้มีการทำงานแบบ Hybrid ทำงานในออฟฟิศสลับกับ Work From Home หรืออนุญาตให้พนักงาน Workation ได้ คือการทำงานไปด้วยเที่ยวพักผ่อนไปด้วยได้ เน้นที่ผลลัพธ์การทำงานของพนักงานเท่านั้นพอ
“ฝืนแสดงออกว่าโอเคทั้งที่ไม่โอเค”
อาจจะต้องการใช้เวลาในการพักผ่อน พักจากงานบ้างแล้ว ใช้สิทธิ์การลาพักร้อน เรารักงานได้ เราก็ต้องรักตัวเองได้ด้วย อนุญาตให้ตัวเองได้พักผ่อนบ้าง อย่ากลัวหรือไม่กล้าในการใช้สิทธิ์ลาพักร้อน
เพราะเป็นสวัสดิการและสิทธิ์ที่เราสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด ไปพักผ่อนทำกิจกรรมที่ชอบ ชาร์จแบตชาร์จพลังให้ตัวเองบ้างก็เป็นสิ่งที่ดีแล้วค่อยกลับมาลุยงานต่อเราจะได้มีพลังและกำลังใจในการทำงาน
ผลกระทบจากการที่ เครียดกับงาน มากเกินไปคืออะไรบ้าง
คนทำงานทุกคน เมื่อพบเจอกับความเครียดบ่อย ๆ ก็อาจจะส่งผลต่อสุขภาพของคนทำงานเหล่านั้นได้ ซึ่งมนุษย์ออฟฟิศที่มีภาวะเครียดมาก ๆ
มักจะมีอาการปวดหัวร่างกายรู้สึกอ่อนล้า ไม่มีแรงจะทำงาน ไม่มีสมาธิในการทำงาน งานลดประสิทธิภาพลง บางคนมีอาการหงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่คงที่ ส่งผลต่อสุขภาพจิตด้วย
บางคนเครียดมากสะสมเป็นระยะเวลานานก็จะส่งผลให้รู้สึก Burn Out หรือเกิดภาวะซึมเศร้าตามมาได้
ความเครียดมีประโยชน์เหมือนกันนะ
ความเครียดก็มีประโยชน์ในตัวของมันอยู่ แต่ต้องเป็นความเครียดในระยะสั้นจากบทความจากเว็บไซต์ istrong mental health ได้บอกประโยชน์ของความเครียดระยะสั้นไว้
1.ความเครียดทำให้เราฝึกแก้ปัญหา
เวลาที่เราเครียด จริงอยู่ว่าเราจะรู้สึกอึดอัดจากภายใน แต่ในขณะเดียวกันสมองของเราก็จะคิดหาทางออก หาหนทางเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา เพราะถ้าเราไม่มีความเครียดใด ๆ เลยก็เป็นไปได้ว่าเราอาจจะไม่ได้พัฒนา
2.ความเครียดมีผลดีต่อร่างกาย
เวลาเครียดร่างกายจะปลดปล่อยสารเคมีในสมองที่ช่วยให้เราตอบสนองต่อความเครียดในระดับต่ำ สามารถกระตุ้นการผลิต neurotrophins เป็นสารเคมีที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเซลล์ประสาทในสมอง
3.ความเครียดช่วยปกป้องเรา
ในคนเราเวลาเกิดความเครียดร่างกายจะหลั่งสารเพื่อเตรียมความพร้อมที่ช่วยควบคุมระบบภูมิคุ้มกันที่ชื่อว่า Interleukin ซึ่งร่างกายจะมีระบบปกป้องเราในรูปแบบความเครียดที่ไม่มากเกินไป ถือว่าเป็นผลดีที่ช่วยกระตุ้นความระมัดระวังให้เรา
4.ความเครียดฝึกให้เราคิดเชิงบวก
เมื่อเราเกิดความเครียดในช่วงแรกเราอาจจะรู้สึกกดดัน แต่หลังจากนั้นเราจะหาวิธีผ่อนคลายด้วยการคิดบวก ซึ่งการคิดบวกนั้นอาศัยทัศนคติที่ดี ทัศนคติที่ดีจะนำทางออกที่ดีให้กับเราเสมอ
ความเครียดเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องเจอแต่อยู่ที่เราจะใช้วิธีไหนจัดการกับความเครียด เรารักงานที่ทำได้ เราก็ควรที่จะรักด้วยเองด้วย ถ้าร่างกายเราส่งสัญญาณเตือนว่าเราเครียดมากเกินไปแล้ว
ก็อยากให้พาร่างกายเรา จิตใจเรา ห่างจากงานบ้าง ไปพักผ่อน ผ่อนคลาย ให้รางวัลกับตัวเองด้วยการพักผ่อน
“เรารักงานได้ แต่ เราต้องรักตัวเองด้วย”
Post Views: 3,634