“การทำงานร่วมกัน” แน่นอนว่าต้องมีคนมากกว่าสองคนขึ้นไป แน่นอนว่าต้องมีหลากหลายความคิด หลากหลายทัศนคติ หลากหลายประสบการณ์ และสิ่งที่ตามมาจากความหลากหลายนั้นก็คือ ปัญหากับ เพื่อนร่วมงาน
Alljit ร่วมกับคุณกวินทิพย์ จันทนิยม นักจิตวิทยาการปรึกษาและตอนนี้กำลังทำงานในตำแหน่ง HR (Human Resource / Human Resource Management)
วิธีรับมือกับ เพื่อนร่วมงาน ที่ทำให้การทำงานราบรื่น
บางครั้งเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำงานร่วมกับคนที่เขาไม่ชอบเราได้ แต่เราก็ต้องทำงานร่วมกับเขาอยู่ดี เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามทำงานร่วมกับคนที่เขาไม่ชอบเราให้ได้ โดย อาจจะใช้วิธี ดังต่อไปนี้
1.โฟกัสที่งานอย่างเดียว
มีสมาธิและความสนใจไปที่งานของเราเท่านั้น อย่าพยายามไปใส่ใจสิ่งอื่นๆจากเขาคนนั้น ทำงานของเราออกมาให้ดีที่สุดก็พอ
2.หลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องอื่นนอกเหนือจากงาน
ให้พยายามพูดคุยกับเขาคนนั้นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานก็พอ จะได้ไม่เกิดการปะทะกันมาก
3.เปิดใจคุยกันแบบไร้อคติ
ถือโอกาสปรับความเข้าใจกันระหว่างทำงาน ถ้าเป็นไปได้ ใช้เวลาที่ทำงานด้วยกันนี้ในการปรับความเข้าใจกัน เพื่อที่จะลดความไม่ชอบกันลง พูดคุยกันแบบตรง ๆ ไปเลยจะได้เข้าใจมุมมองของเขาและเรา
“เหนื่อยงานไม่เท่าเหนื่อยกับ เพื่อนร่วมงาน ”
บางทีเราคิดว่างานที่ทำนั้นเหนื่อยแล้ว แต่พอเจอคนในที่ทำงานที่มีความเยอะสิ่งมาก ๆ นั่นแหละ ทำให้เราเหนื่อยมากยิ่งกว่างานที่ทำอีก บางทีงานที่ทำเรายังมีวิธีจัดการงานได้ง่าย ๆ แต่กับเรื่องคนนี่ค่อนข้างยาก
เพราะคนเรามีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายนิสัยใจคอ อยู่ที่ว่าเราจะเจอแบบไหนบ้าง เพราะฉะนั้นเหนื่อยงานก็ยังไม่เท่ากับเหนื่อยคน
เราควรพูดคุยกับคนที่นินทาเราไหม
สามารถพูดคุยได้ แต่เราต้องเว้นระยะและระวังในเรื่องที่จะพูดคุยด้วย หรือถ้าสามารถทำได้ก็ควรพูดคุยแค่เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานเท่านั้น เรื่องส่วนตัวยิ่งไม่ควรเลย เพราะเราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเค้าจะเอาเราไปพูดไปนินทาเรากับใครบ้าง
และสิ่งที่เค้าจะเอาไปพูดจะเป็นเรื่องจริงแค่ไหน จะเพิ่มเติมใส่อะไรเข้าไปบ้าง ถ้าเค้าเป็นคนที่ชอบนินทาอยู่แล้วยิ่งไว้ใจและเชื่อใจได้ยาก เพราะฉะนั้นเราควรพูดคุยกับเค้าในเรื่องงานมากกว่าหรือไม่ก็เป็นเรื่องทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว
โดน เพื่อนร่วมงาน เอาเปรียบ ทำอย่างไรดี ?
ปัญหาที่เจอในการทำงานอย่างหนึ่งเลยก็คงมีเรื่องเพื่อนร่วมงานเอาเปรียบเรา อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรากำลังไม่มีความสุขในการทำงาน จนบางครั้งเรารู้สึกไม่สบายใจที่จะต้องทำงานกับเพื่อนร่วมงานบางคน ความรู้สึกไม่สบายใจจะยิ่งมีมากขึ้น
เมื่อรู้สึกว่าเพื่อนร่วมงานกำลังเอาเปรียบเรา ทำงานโดยไม่ได้ใส่ใจว่าการกระทำของเขาจะทำให้เราเดือดร้อนหรือไม่ แต่เราก็อาจจะเลี่ยงไม่ได้ถูกมั้ยคะต้องทำงานร่วมกัน เพราะฉะนั้นเราต้องมีวิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงานประเภทนี้ คือ
1.คุยแบบตรงไปตรงมา
ให้พูดคุยอย่างตรงไปตรงมาควรจะเปิดใจพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน บอกให้เพื่อนร่วมงานคนนั้นรู้ว่าเรารู้สึกไม่สบายใจอย่างไรบ้าง เราไม่ชอบพฤติกรรมส่วนไหนของเขาบ้าง และสิ่งเหล่านั้นทำให้ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร
2.ให้หัวหน้าเข้ามาช่วย
ขอให้หัวหน้าเข้ามาช่วยจัดการแก้ไข ให้เราบอกหัวหน้าในสิ่งที่เราเจอหรือเป็นกังวล แล้วขอให้หัวหน้าช่วยเหลือเรา ให้ช่วยตักเตือนเพื่อนร่วมงานที่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้เรา
3.หัดปฏิเสธ
อย่ามัวแต่เกรงใจ อะไรก็ได้ พยายามหาเหตุผลมาบอกเพื่อนร่วมงานคนนั้นว่าทำไมเราถึงต้องปฏิเสธงานที่เค้าวานให้เราทำให้ด้วยเหตุผลอะไรเราต้องหัดพูดหัดปฏิเสธให้เป็นบ้าง
เจ้านายที่เวลาเสนออะไร ไม่รับฟังเลย
1.ลองเปลี่ยนวิธีการนำเสนอใหม่
บางทีที่หัวหน้าไม่รับฟัง อาจเป็นเพราะสิ่งที่เราเสนอไปไม่ดึงดูด ไม่มีหลักการมากพอก็เป็นได้ ลองเสนอด้วยการอธิบายเหตุผลพร้อมข้อมูลหรือตัวเลขประกอบ จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้น เข้าใจง่ายน่าเชื่อถือ
2.การพูดถึงประโยชน์ที่จะได้รับ
หากดำเนินการตามที่เสนอมา โดยเน้นประโยชน์ที่มีต่อตัวผู้ฟังก่อนเป็นอันดับแรก จะทำให้ดูน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น
3.ลองนำเสนอกับคนอื่นดูก่อน
ก่อนนำเสนอหัวหน้า ลองนำความเห็นนี้ ไปเล่าให้คนอื่น ๆ ฟัง โดยเฉพาะคนที่มีตำแหน่งสูงกว่า หรือทำงานมานานกว่า เพื่อจะได้ลองทดสอบไอเดียและขอความเห็น ก่อนที่จะนำเสนอจริงกับหัวหน้า
4.ค่อย ๆ อธิบาย
เวลานำเสนอแก่หัวหน้าควรมีความใจเย็น ค่อย ๆ อธิบาย อย่าใช้อารมณ์และควรมีความสุภาพอ่อนน้อม
สภาพแวดล้อมการทำงานที่ toxic
สภาพแวดล้อมการทำงานที่ Toxic หรือ Toxic work environment เป็นสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานอย่างเป็นสุขและทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพ” หรือ “บรรยากาศการทำงานเป็นพิษ”
การทนทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ Toxic หรือ เป็นพิษ ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของคนทำงานอย่างมาก เพราะจะทำให้พนักงานรู้สึกไม่มีกะจิตกะใจในการทำงาน หมดเรี่ยวหมดแรง
เนื่องจากความเครียดที่มีต่อร่างกายและจิตใจและจะส่งผลทำให้เกิดอัตราการลาออกของพนักงานสูงด้วย
ทำงานออนไลน์ WFH รับมือกับ เพื่อนร่วมงาน และหัวหน้าอย่างไรได้บ้าง
ในกรณีทำงานแบบออนไลน์ เราและทีมงานอาจจะต้องมีการ meeting อัพเดตงานกันอยู่เป็นระยะ เพื่อป้องกันให้เกิดความผิดพลาดในงานน้อยที่สุด
ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีโปรแกรมวีดีโอคอลที่ทันสมัยและมีลูกเล่นหลากหลายโปรแกรม ที่สามารถนำเข้ามาช่วยในการทำงานหรือติดต่อสื่อสารผ่านทางออนไลน์ วีดีโอคอลได้ง่ายขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม zoom, Team, Google Meet หรือ โปรแกรม Slack
วิธีการปรับตัวกับ เพื่อนร่วมงาน
1.เริ่มจากการผูกมิตรและเปิดใจให้คนอื่น
โดยเริ่มต้นชวนเพื่อนร่วมงานคนอื่นคุยบ้าง ค่อย ๆ เรียนรู้นิสัยใจคอ ความชอบของเพื่อนร่วมงานแต่ละคน หากรู้สึกว่าเข้ากันไม่ได้จริง ๆ ก็ไม่เป็นไร คุยกันแค่เรื่องงานก็ได้
2.ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน
เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกดี เพราะเป็นลักษณะของคนที่มีความอ่อนโยน สุภาพ ที่ใครพบเห็นก็ต้องรู้สึกเอ็นดูอยากเข้าหา
3.ช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่เราสามารถจะช่วยได้
เช่น เสนอตัวช่วยเหลืองานต่าง ๆ อย่างงานเล็ก ๆ น้อย ๆ และควรทำด้วยความเต็มใจ รวมทั้งงานบางอย่างที่ไม่ใช่งานในหน้าที่ แต่เราสามารถช่วยได้และไม่เป็นการเบียดเบียนงานประจำของเรา ก็ควรเสนอตัวเข้าช่วยเหลือ
เราอาจรู้สึกว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะทำความเข้าใจกับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานที่มีปัญหากัน แต่มันก็เป็นเหมือนบททดสอบหนึ่ง ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาและปรับความเข้าใจกันได้
เราอาจจะรู้สึกดีกับตัวเอง รู้สึกเหมือนได้ปลดล็อคความรู้สึกหนักอึ้งที่แบกมาตลอดได้ บรรยากาศการทำงานก็อาจจะดีขึ้น ถ้าเราสามารถรับมือกับปัญหาที่เจอได้ ในครั้งหน้าเราก็จะมีภูมิต้านทานและสามารถรับมือกับมันได้แบบชิล ๆ เลยก็ได้
“บางครั้ง เราก็ไม่สามารถปฏิเสธที่จะไม่ทำงานกับคนที่เราไม่ชอบได้”
Post Views: 6,482