ประโยคนึงจาก “หลักเซ้ง” ตัวละครในเรื่อง กรงกรรม ก่อนที่เขาจะใกล้จบชีวิตลง เขาได้ฝากประโยคแก่คนรักว่า “คนเรามีเวลาอยู่ 3 วัน เมื่อวาน วันนี้ พรุ่งนี้ เมื่อวานนี้เราได้ใช้ไปหมดแล้วเอามาใช้อีกไม่ได้แล้ว
วันนี้เรากำลังใช้เวลากันอยู่และใช้เวลาได้แค่ครั้งเดียว ส่วนพรุ่งนี้ไม่รู้จะมีโอกาสได้ใช้ไหม อย่าประมาทเวลา ใช้เวลาที่เหลือของเราอยู่กับความสุขจริงๆดีกว่านะ ”
ซึ่งตรงกับโควท Enjoy life today .Yesterday is gone and tomorrow may never come. จาก Alan Coron นักเขียนชาวอังกฤษ
เวลา : Time
เวลา ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพุทธศักราช 2542 ให้คำนิยามว่าชั่วขณะ ความยาวนานที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ โดยนิยมกำหนดขึ้นเป็นครู่ คราว วัน เดือน ปี
จากซีรี่ส์เรื่อง The Deadline ทำให้คิดได้ว่า ชีวิตคือความไม่เท่าเทียมก็จริง แต่สิ่งนึงที่ทุกคนมีเท่ากันคือเวลา เพราะฉะนั้นอาจจะพูดได้ว่า เวลาคือต้นทุนของชีวิต
เราได้มาฟรี ๆ โดยที่ไม่ต้องแลกมากับอะไร เพราะคนเรามีเวลาใน 1 วันเท่ากันคือ 24 ชั่วโมง /1440 นาที /86,400 วินาที แต่เราจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปช้าเมื่อต้องรอคอยอะไรสักอย่าง
เราจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วเมื่ออยู่กับคนที่เรารักหรืออยู่กับอะไรที่มีความสุข อย่างที่คนเขาชอบพูดกันว่าช่วงเวลาแห่งความสุขมักผ่านไปไวเสมอ…
บทความจาก dek d มีทฤษฎีที่อธิบายว่าทำไมบางครั้งคนเราถึงรู้สึกว่าเวลาผ่านไปช้าและบางครั้งก็ผ่านไปเร็ว เหตุผลเพราะว่าเวลามี 2 ด้านก็คือ
‘Objective time’ คือ เวลาจริงตามนาฬิกา ปฏิทิน หรือตารางเวลาการเดินรถ และเป็นเวลาที่วัดค่าได้
‘ลาดูเร่ (La durée)’ คือเวลาที่เราดำรงชีวิตหรือเวลาที่เรารู้สึก คำศัพท์คำนี้มาจากภาษาฝรั่งเศสซึ่งเทียบได้กับคำว่า ‘Duration’ ของภาษาอังกฤษ
“สิ่งสำคัญที่สุดคือเวลาไม่สามารถย้อนกลับมาได้” เวลา=ต้นทุนของชีวิต คนเรามี 24 ชมเท่ากันจริง แต่คนเรามีวิธีจัดการเวลาในแต่ละ 24 ชั่วโมงไม่เท่ากัน
เช่น คนที่มีต้นทุนชีวิตที่ดีเขาอาจจะมีความสามารถจัดการเวลาชีวิตได้มากกว่า ได้ทำในสิ่งที่อยากทำได้มากกว่า หรือบางคนใน 24 ชั่วโมงนั้นเขาอยากที่จะใช้เวลากับคนที่เขารัก
หรืออยากจะเล่นเกมดูซีรีส์ทั้งวันก็ไม่ผิดเหมือนกัน อย่าเสียดายที่ไม่ได้ทำในสิ่งที่ชอบในเวลาที่เรามีจำกัด เพราะไปทำตามความคาดหวังของคนอื่น
เมื่อวาน
มีหลายประโยคที่เกี่ยวข้องกับเมื่อวาน เช่น เมื่อวานคือสิ่งที่เอากลับมาไม่ได้ เมื่อวานคืออดีตที่ควรวางมันไว้ที่เดิม แต่สิ่งนึงที่รู้สึกคือ ขอบคุณเมื่อวาน ที่ทำให้มีวันนี้
เราเป็นแบบนี้ได้เพราะการผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต การเรียนรู้ การถูกอบรมสั่งสอน หรือแม้กระทั่งกับเรื่องเลวร้ายต่าง ๆ ในชีวิตที่ทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้
แต่จะคิดแบบนี้ได้ก็ต่อเมื่อเราผ่านเหตุการณ์นั้นมาแล้ว เพราะบางครั้งเราก็ไม่สามารถขอบคุณเหตุการณ์เลวร้ายได้เพราะยังไม่ลืม ยังเจ็บกับมันอยู่ ยังใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกของเมื่อวานอยู่
วันนี้
“วันนี้คือความสุขที่จับต้องได้ คือความทุกข์ที่สัมผัสได้” รู้สึกว่าความตายเป็นเรื่องไกลตัวทั้ง ๆ ที่จริงมันจะมาตอนไหนก็ไม่รู้พอคิดแบบนี้แล้วเลยอยากจะทำทุกวันให้เต็มที่
ไม่อยากให้เกิดความรู้สึกว่า รู้งี้น่าจะทำแบบนั้น จะทำแบบนี้ แต่มันคงห้ามกันไม่ได้ เพราะมนุษย์ ความไม่รู้เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเราใช้ชีวิตแบบมีสติ ไม่ประมาท และรู้หน้าที่ตัวเอง
คิดไว้เสมอว่าตอนนี้เราทำได้เต็มที่และดีที่สุดแล้วอาจจะช่วยลดความรู้สึกที่เสียดาย และเสียใจไปก็ได้
พรุ่งนี้
พรุ่งนี้ คือ วันที่ยังไม่เกิดขึ้น กำหนดไม่ได้ คาดเดาไม่ได้ 100% สำหรับบางคน พรุ่งนี้ คือ เเรงขับเคลื่อน ความความหวังให้ใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีที่สุด
แต่สำหรับบางคนความรู้สึกว่าไม่อยากมีวันพรุ่งนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้เพราะ กำลังอยู่กับความทุกข์ในอดีตและปัจจุบัน อนาคตก็ไม่รู้ว่าจะดีขึ้นไหม หมดซึ่งความสุข ซึ่งก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน
อ. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ศาสตราจารย์ทางปรัชญาให้ความเห็นว่า ความหวังเป็นสิ่งจำเป็น มนุษย์ไม่อาจอยู่ได้ถ้าไม่มีหวัง การมีความหวังคือการมีเป้าหมายในชีวิต
ทำให้ชีวิตมีคุณค่าที่ชัดเจนขึ้นมา แต่เราไม่ต้องไปคิดว่าสิ่งที่เราหวังแล้วจะต้องได้หรือไม่ได้ เอาแค่ว่าในใจของเรามีหวัง ที่เหลือเป็นเรื่องของคนอื่น
เป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ แต่ใจเราบังคับได้ แค่มีความหวังเพียงในใจก็เพียงพอแล้ว ขอบคุณข้อมูลจากบทความ the matter
ไม่อยากใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกของเมื่อวานที่เคยทำผิดพลาด
เมื่อเราลืมอดีตที่เราเคยทำผิดไม่ได้ เราอาจจะยังคงใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกของเมื่อวานและที่สำคัญเลยคือ โทษตัวเอง บางทีความรู้สึกนั้นก็ทำให้เราเจ็บปวด
ถ้าตอนนี้เรากำลังหาความสงบให้กับจิตใจ การให้อภัยตัวเองอาจจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราก้าวไปข้างหน้าได้ บทความจาก Prevention : How to Forgive Yourself
การให้อภัยตัวเองไม่ได้ทำได้เพียงข้ามคืน เพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ลองบอกกับตัวเองว่าคนเราทำผิดพลาดกันได้ และไม่เป็นไรถ้าจะมีความรู้สึกผิดหรือละอายใจกับเรื่องราวในอดีต
นักจิตวิทยา Fred Luskin ผู้อำนวยการโครงการ Stanford University Forgiveness กล่าวว่า “การให้อภัยเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราเผชิญกับสิ่งที่เราทำในอดีต,ยอมรับกับข้อผิดพลาดของเราและก้าวต่อไปข้างหน้า
ไม่ได้หมายว่าเราแก้ตัวและไม่ได้หมายความว่าเราลืม มีฤดูกาลสำหรับความทุกข์และความเสียใจของเรา เราต้องมีสิ่งนั้น แต่เมื่อฤดูกาลสิ้นสุดลง โลกเคลื่อนไป และเราต้องก้าวต่อไปเช่นกัน”
ในบทความนี้มีทั้งหมด 13 วิธีในการที่จะให้อภัยตัวเอง ขอยกมา 5 ข้อที่น่าสนใจ
1. จัดหมดหมู่ให้ความผิด
เป็นเรื่องยากที่จะให้อภัยตัวเองเมื่อเราเมื่อได้ทำ 4 สิ่งต่อไปนี้…
- เคยล้มเหลวในงานสำคัญในชีวิต เช่น การเเต่งงาน
- การกระทำของเราไปทำร้ายใครสักคน
- เคยทำร้ายตัวเองด้วยวิถการใช้ชีวิต เช่น การดื่มแอลกอฮอลล์หรือทำอะไรที่เป็นการทำร้ายตัวเอง (self-destructive)
- ไม่ได้ทำในสิ่งที่เราคิดว่าควรทำ เช่น ไม่ได้เก็บเงินไว้เพื่อส่งลูกเรียน
การจัดหมวดหมู่ให้ความผิด เป็นกระบวนการเริ่มต้นการให้อภัย ทำให้เราสามารถแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ที่เราทำมองดูมัน ค่อย ๆ ถอยห่างและเริ่มต้นฮีลตัวเอง
2. สังเกตว่าเราพูดกับตัวเองในใจอย่างไร
ให้เราลดการพูดกับตัวเองในเชิงลบ (Negative self-talk) การปล่อยให้ตัวเองจมกับสถานการ์ที่เคยทำและกล่าวโทษตัวเองให้รู้สึกแย่กับสิ่งที่เคยทำจะทำให้เราให้อภัยตัวเองได้ยาก
ให้รับรู้และยอมรับความผิดพลาดโดยไม่ทำให้ตัวเองผิดหวัง โดยการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นและคิดว่ามันเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ เกิดอะไรขึ้นในครั้งนี้และสามารถทำอะไรแตกต่างไปจากเดิมได้ในอนาคต
3. ฝึก PERT (Positive Emotion Refocusing Technique)
หรือเทคนิคการปรับโฟกัสอารมณ์เชิงบวก เป็นกลยุทธ์ 45 วินาที ที่ Luskin สร้างขึ้นเพื่อใช้ในเวลาที่เราต้องการก้าวผ่านความผิดพลาดในอดีต
เพียงแค่หลับตา หายใจเข้าลึกๆ ดันหน้าท้องออกเบาๆ จากนั้นหายใจออกช้าๆ ในขณะที่หน้าท้องรู้สึกผ่อนคลาย ให้หายใจเข้าครั้งที่สองแล้วหายใจออก
ในการหายใจครั้งที่สาม ให้จินตนาการถึงคนที่เรารักหรือสถานที่ธรรมชาติที่สวยงามที่ทำให้เรา เช่น ทะเล น้ำตก อะไรก็ได้เลยที่เราชอบ หายใจเข้าลึก ๆ ในขณะที่เรากำลังสำรวจความงามของธรรมชาติรอบตัว
สังเกตว่าเรารู้สึกอย่างไร และปล่อยให้ความรู้สึกนั้นไปอยู่ตรงกลางรอบ ๆ หัวใจของเรา
4. ทำในสิ่งที่ในสิ่งถูกต้อง
เพื่อชดใช้ในสิ่งที่เราเคยทำ เราอาจจะต้องหาทางที่จะใจดีกับคนที่เราเคยทำร้าย แม้ว่าคนนั้นจะหายไปจากชีวิตของเราเเล้ว เเต่เราก็สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยการมอบความใจดีหรือเมตตาให้กับคนอื่น
เช่น ถ้าเราเคยเป็นพ่อแม่ที่แย่ พอจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะเป็น ปู่ย่าตายายที่ดีของหลาน ๆ หรือพอจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะเข้าร่วม Group support ให้คำแนะนำเป็นเพื่อนกับลูกของคนอื่นได้หรือไม่
การทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้เราเปลี่ยนมุมมองที่เรามองตัวเอง มองเห็นคุณค่าในตัวเองที่เรามีได้มากขึ้น
5. แทนที่ความรู้สึกผิดด้วยการขอบคุณ
ความรู้สึกแย่ต่อสิ่งที่เราเคยทำในอดีตสามารถสร้างปัจจุบันที่เจ็บปวดได้ ในขณะที่เรากำลังเรียนรู้ที่จะให้อภัย ลองพักร่างกายและจิตใจด้วยการแทนที่ความรู้สึกผิดเป็นการขอบคุณ ด้วยการทำสิ่งเหล่านี้
- ไปซื้อของที่ Supermarket และขอบคุณสำหรับอาหารและสิ่งของมากมายที่มีอยู่
- เมื่อขับรถ ขอบคุณเพื่อนร่วมเส้นทางที่ปฏิบัติตามกฎจราจร
- ถ้ามีคนสำคัญในชีวิต ลองขอบคุณพวกเขาที่คอยอยู่เคียงข้าง
- ถ้าไปซื้อของเเล้วมีพนักงานรอให้บริการ ลองขอบคุณพวกเขาสำหรับการบริการและความช่วยเหลือ
- เมื่อตื่นขึ้นมาในตอนเช้า ลองขอบคุณสำหรับลมหายใจและของขวัญของชีวิต
แรงบัลดาลใจที่ดีที่สุด คือ Deadline
The Greatest Inspiration is the Deadline. กับหลายเรื่องมี Deadline แต่เวลาชีวิตมักไม่มี Deadline หรือจริง ๆ ก็มีนั่นแหละ แต่เราไม่มีทางล่วงรู้ นั่นอาจจะเป็นเรื่องดีที่จะทำให้เราทำในสิ่งที่อยากทำ
มีความสุขกับสิ่งที่ควรมีความสุข เพราะไม่รู้ว่า Deadline ในชีวิตจะมาเมื่อไหร่ เคยคิดเหมือนกันว่าเราจะใช้ชีวิตให้ทุกวันเหมือน Deadline ดีไหม เพราะเราก็ไม่รู้ว่าเราจะตายวันไหน
บางคนอาจจะใช้ได้นะ แต่บางคนยิ่งคิดยิ่งรู้สึกกดดัน เลยคิดว่าเราก็พยายามทำให้ทุกวันมีความสุข ใช้ชีวิตให้เต็มที่ในทุก ๆ วันเท่าที่เราจะทำได้นั้นแหละคือแฮปปี้แล้ว
โรคกลัวความตาย
พอกล่าวถึงเรื่องของ เวลา แล้วสิ่งที่มาพร้อมกับเวลาก็คือ ความตาย แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ชอบพูดเรื่องของความตายทั้งที่แล้วจริงแล้วคนเราสามารถตายได้ทุกวัน เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายของชีวิตเราไหม
อะไรคือโรคกลัวความตาย?
ในภาษากรีก Thanatos หมายถึง ความตาย และ Photos หมายถึง ความกลัว Thanatophobia รวมกันเป็น กลัวความตาย โดยที่บุคคลนั้นที่มีความกังวล และหวาดกลัวอย่างมาก เมื่อนึกถึงความตาย
ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ กลัวการพรากจากคนรัก กลัวการสูญเสีย เมื่อความกลัวเหล่านั้นมันเกิดขึ้นจนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันทำให้พวกเขาไม่กล้าออกจากบ้าน
ประเภทของความกลัว
1. กลัวสิ่งที่ไม่รู้จัก
โรค กลัวความตาย มีพื้นฐานมาจากกลัวในการสิ่งที่ไม่รู้เพราะมนุษย์ต้องการรู้ทุกอย่าง มีความต้องการที่ต้องคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆได้ทำให้ความไม่รู้เป็นสาเหตุที่ทำให้มนุษย์กลัวตาย
2. กลัวสูญเสียการควบคุม
การตายอยู่นอกเหนือการควบคุม ทำให้คนกลัวในสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้
3. กลัวความเจ็บปวด เจ็บป่วย
ความเจ็บปวด เจ็บป่วย ทำให้คนหมดแรง หมดอำนาจ ที่จะทำในสิ่งต่าง ๆ
4. กลัวคนใกล้ชิดทอดทิ้ง
เขามักจะกลัวว่าหลังจากที่เขาตายจะเกิดอะไรขึ้นต่อคนใกล้ชิดกับพวกเขาทำให้พวกเขากลัวที่จะตาย
การกลัวความตายจะถูกวินัจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นเพราะมีโอกาสที่จะมีปัจจัยแทรกซ้อนจากโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ด้วย เช่น โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ โรค PTSD ซึ่งอาการหวาดกลัวความตาย
- รู้สึกวิตกกังวลอย่างรุนแรงเมื่อเผชิญหน้าหรือนึกถึงความตายหรือกำลังจะตาย
- มีผลกระทบในชีวิตประจำวันหรือความสัมพันธ์
- มีอาการอยู่นานกว่า 6 เดือน
ถึงแม้ว่าความตายจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แต่หากว่าใครที่มีอาการเหล่านี้ต่อเนื่องถึง 6 เดือนจนถึงกระทบต่อการใช้ชีวิต กระทบกับความสัมพันธ์กับคนรอบตัว การไปพบแพทย์เป็นทางออกที่ดีที่จะทำให้เรากลับมาบาลานซ์สิ่งต่างๆในชีวิตให้มากขึ้น
คนที่สามารถตอบได้ว่าความสุขที่แท้จริงคืออะไร คือตัวของเราเอง เพราะความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน ไม่สามารถนำมาตัดสินตัวเราหรือใครได้เลย
ถ้าวันนี้ยังไม่รู้ว่า ณ ตอนนี้ ความสุขของเราอยู่ที่ตรงไหน ไม่เป็นไรเลยค่อย ๆ ตามหามัน ไปพร้อมกับพวกเราใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเราพอใจ และใช้ชีวิตด้วยความเข้าใจ
อ้างอิง :
Yesterday is gone, and tomorrow may never come.
How to Forgive Yourself.
Post Views: 2,732