” เสพข่าว ” “เสพสื่อ” จนเครียด? เพราะโซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เข้าแอพใดแอพหนึ่งไปแน่นอนว่าหน้าฟีดจะมีทั้งโพสต์ที่เป็นบทความ รูปภาพ วิดีโอ และอื่น ๆ อีกมากมายขึ้นมาให้เห็น
วันนี้ Alljit Podcast เลยอยากมาชวนพูดคุยและทำความเข้าใจกันว่า การเสพสื่อที่มากเกินไปมีผลกระทบอย่างไรบ้าง และเราจะเสพข่าวอย่างไรไม่ให้ทำลายสุขภาพจิต
https://youtu.be/E0ecYJUn5Go
เพราะยุคสมัยนี้โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อพวกเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันสร้างผลกระทบทั้งด้านดีและไม่ดี คือถ้าช่วงไหนเราเสพอะไรที่ดีต่อใจ เราก็จะสดใส แต่ช่วงไหนที่เราเสพแต่ข่าวหนัก ๆ เราก็ดาวน์ได้เหมือนกัน
ช่วงนี้จากข่าวอุบัติเหตุของคุณแตงโม-นิดา เราจะเห็นได้ว่าเข้าแอพไหนก็เจอข่าวนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าถึงเราจะไม่ได้ตามขนาดนั้น แต่ก็หลีกเลี่ยงได้ยากมาก ๆ ไถ instagram ก็เจอ facebook ก็เจอ twitter ก็เจอ
จนหลาย ๆ คนก็ออกมาเเชร์ว่า ตามข่าวนี้มาก ๆ ก็รู้สึกดิ่ง หลอน หวาดกลัว เพราะเหตุการณ์กระทบจิตใจมาก ๆ
ผลกระทบของการ เสพข่าว ที่มากและนานเกินไป
1.อารมณ์และความรู้สึกเชิงลบ
ความรู้สึกเชิงลบไม่ว่าจะเป็นเศร้า กลัว โกรธ ซึ่งอารมณ์และความรู้สึกเชิงลบเหล่านี้ หากปล่อยให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม อาจนำไปสู่สภาวะทางจิตใจที่ผิดปกติได้ด้วย
2.ความเครียด
ยิ่งเป็นข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ที่จะมีผลกระทบโดยตรงกับชีวิต เช่น การขึ้นราคาของสินค้า การระบาดของโรค หรืออื่น ๆ คงเป็นไปได้ยากมากๆนะที่จะจัดการความคิดและจิตใจไม่ให้เกิดความเครียดได้
“ความเครียดเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติที่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่คาดคิดหรือความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถควบคุมได้”
3.ผลกระทบทางลบต่อร่างกาย
ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อ่อนเพลีย ความต้องการทางเพศลดลง ซึ่งเป็นอาการทางร่างกายต่าง ๆ
กล้ามเนื้อจะหดเกร็งซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยช่วงไหล่ ปวดเมื่อยตามร่างกาย
การหายใจและความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงไป
มีปัญหาด้านการนอน นอนน้อยหรือมากเกินไป
มีปัญหาด้านการกิน กินน้อยหรือมากเกินไป
และที่สำคัญอาจทำให้ภูมิคุ้มกันแย่ลงอีกด้วย
4.กระทบต่อความสัมพันธ์
การมีสุขภาพจิตและสุขภาพกายย่ำแย่ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การสื่อสารและการแสดงออกกับคนรอบข้างเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งได้ เหมือนกับว่าบางทีเราสะสมเรื่องราว สะสมพลังงานลบ ๆ ไว้จนสิ่งเหล่านั้นกระจายไปหาคนรอบข้าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี
เหมือนเวลาที่เราเสพข่าวเดียวกัน แต่ความคิดเห็นไม่ตรงกัน เหมือนความคิดเห็นมันแตกออกเป็นสองฝั่ง อันนั้นก็ทำให้เกิดความขัดเเย้งเล็ก ๆ ได้เหมือนกัน
วิธีจัดการ
1.social media detox
การ detox คือ การนำสารพิษออกไป หาก social media เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้จิตใจเราต้องเจอกับความเครียดหรือความรู้สึกเชิงลบต่าง ๆ social media จึงเป็นเสมือนสารพิษอย่างหนึ่งเหมือนกัน social media detox หมายถึง การไม่เข้า social media เป็นระยะเวลาหนึ่ง
สามารถกำหนดระยะเวลาได้ด้วยตนเอง ยกตัวอย่างเช่น 6 ถึง 12 ชั่วโมง หรืออาจกำหนดเป็น หลักวัน หลักเดือน
ถ้าเราต้องใช้โซเชียลสำหรับการทำงานล่ะ?
ถ้าจำเป็นต้องใช้โซเชียลมีเดียในการทำงาน ในการติดต่อกับคนอื่น ถ้าไม่สามารถหยุดได้จริงๆอาจใช้การจำกัดการใช้งานแทน ใช้เท่าที่จำเป็น เช่น ลองชัดเจนกับตัวเองว่า เราจะใช้ไลน์ในการคุยเรื่องงานเท่านั้น ไม่ให้ตัวเองไปไปไถฟีดแอพนั้นแอพนี้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ
2.ดูคอนเท้นต์ที่ดีต่อใจแทน
หาก social media detox ไม่ใช่ทางของเราจริง ๆ เราไม่สามารถห้ามตัวเองได้จริงๆ อย่าลืมว่าทุกคนสามารถเลือกสิ่งที่จะรับรู้ได้ ลองเปลี่ยนจากเสพข่าวเสพสถานการณ์บ้านเมืองเป็นเสพสิ่งที่ดีต่อใจแทนก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดเลยนะ
เหมือนเวลาเราเลือกทานอาหาร เราก็ต้องเลือกสิ่งดี ๆ เข้าปากเรา สื่อที่เราเสพก็เช่นกัน เราเลือกได้ที่จะเสพสิ่งที่ดีหรือสิ่งที่เป็นพิษ ถ้าเราปล่อยให้ตัวเองรับสารพิษไปเรื่อยๆ แน่นอนว่ามันไม่ส่งผลดีต่อตัวเรา
เพราะในยุคนี้ที่สังคมให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตมากขึ้น สื่อที่ผลิต content ฮีลใจจึงมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ นอกจากนี้การเสพสิ่งอื่น ๆ ที่สร้างความจรรโลงใจให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลง ดูหนัง ดูซีรี่ส์ สามารถช่วยได้เช่นกัน
3.ปรึกษาคนที่เราไว้ใจหรือจิตเเพทย์
หากเราไม่สามารถจัดการความคิดและความรู้สึกของตนเองได้ การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลที่ไว้ใจได้ก็เป็นเรื่องที่ควรทำ การจัดการตนเองไม่ได้ไม่ใช่ว่าคุณอ่อนแอ ไม่ดีพอ ไม่มีความสามารถมากพอ
ทุกคนมีภูมิคุ้มกันและขีดจำกัดที่แตกต่างกัน ไม่จำเป็นที่จะต้องคาดหวังว่าตัวเองจะต้องไหวตลอดเวลา
Post Views: 3,364