เคยรู้สึกไหมว่าทำไมเราถึงพูดดีกับคนอื่นตลอด แต่เรามักจะ ใจร้อนกับคนใกล้ตัว ทำไมเราถึงเป็นแบบนั้น อาจจะเพราะ เรารู้สึกว่าเราหันมาเมื่อไหร่ก็พวกเขาหรือเปล่าเลยทำให้เราทำพฤติกรรมแบบไหนกับพวกเขาก็ได้
บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ
หาวิธีปรับตัวเองเมื่อเรารู้ตัวว่าเรามักจะทำไม่ดีกับคนใกล้ตัว เราควรทำอย่างไรที่จะทำให้ตัวเองดีขึ้นเพื่อรักษาคนใกล้ตัวของเราให้อยู่กับเราอย่างมีความสุข
เพราะอะไรถึงใจเย็นกับคนอื่นได้ แต่ ใจร้อนกับคนใกล้ตัว
บางคนจะมีทัศนคติว่า เมื่ออยู่กับคนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัวจะทำตัวอย่างไรก็ได้ คนในครอบครัวก็อยู่ด้วยอยู่ดี หรืออาจจะเป็นเพราะว่าเมื่อเรารู้สึกว่าเราอยู่ในที่ปลอดภัย
เราก็จะแสดงพฤติกรรมทุกอย่างของเราเองออกมาทั้งหมด โดยไม่คำนึงถึงคนรอบตัว ซึ่งอาการหัวร้อน ขี้หงุดหงิด ที่แสดงออกมา แท้จริงแล้วก็คือนิสัย หรือตัวตนจริง ๆ ของเราด้วยเหมือนกัน
บางคนจะนำอารมณ์ที่ไม่ดีที่เก็บกดไว้ หรือไปประสบมาจากนอกบ้าน มาระบายหรือแสดงออกกับคนในบ้าน ซึ่งการระบายอารมณ์ออกทางพฤติกรรมก้าวร้าว
เป็นกลไกการป้องกันทางจิตใจอย่างหนึ่งของมนุษย์ เพียงแต่สำหรับบางคนเลือกที่จะมาระบายกับคนในบ้านเพราะไม่สามารถทำกับคนอื่นที่ไม่รู้จักได้
วิธีจัดการกับความ ใจร้อนกับคนใกล้ตัว
เราควรจะต้องรับรู้อารมณ์ของตนเองเป็นอันดับแรก และต้องตระหนักว่าแม้เป็นคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด ก็ต้องใช้ความพยายามในการควบคุมอารมณ์ของตนเองด้วย
พูดคุยแล้วแต่เขาก็ยังไม่ปรับตัวควรจะแก้ยังไง ?
ต้องเริ่มต้นสื่อสารให้ถูกต้อง หลายคนมักเริ่มต้นด้วยคำพูดประมาณว่า ทำไม “เธอ”ทำแบบนั้น ทำไม “เธอ” เป็นคนแบบนี้
ซึ่งเราควรจะเริ่มต้นด้วยคำว่า “ฉัน” ยกตัวอย่างเช่น “ฉันคิดว่าถ้าเราคุยกันดี ๆ เราอาจจะเข้าใจกันมากขึ้นกว่านี้” ซึ่งในประโยคดังกล่าว นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนคำพูดให้นุ่มนวลขึ้นแล้ว ยังมีการบอกในสิ่งที่ต้องการด้วย
พูดน้ำเสียงดีมากกับคนอื่น แต่พูดกับเราด้วยน้ำเสียงดุดัน เกิดจากอะไร
คนเรามักแสดงพฤติกรรมที่แท้จริงเมื่ออยู่ในที่ ๆ รู้สึกปลอดภัย ซึ่งปัญหาอาจจะอยู่ที่ตัวเราเองคาดหวังว่าเขาต้องพูดด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลกับเราเหมือนที่พูดกับคนอื่นมากกว่า
คนใกล้ตัวทำผิด เขาหัวร้อน แต่คนนอกทำผิด เขาใจเย็น
ผู้ร้ายคนเดิมนั้นก็คือความคาดหวังว่าคนใกล้ตัว จะต้องทำแต่สิ่งที่ดี ๆ ให้กัน ไม่ทำเรื่องผิดพลาด เมื่อผิดหวังก็เสียใจ จนกลายเป็นความหงุดหงิดโมโห และอีกส่วนหนึ่ง
ก็เพราะเขาแสดงพฤติกรรมแท้จริงตามที่รู้สึกกับคนใกล้ตัว กับคนนอกเขาอาจจะโกรธเหมือนกัน เพียงแต่ไม่แสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีออกไปมากกว่า
ความคาดหวังมีส่วนไหมที่ทำให้เขาหัวร้อน
ความคาดหวังมี 2 รูปแบบ คือ คาดหวังกับตัวเองว่าฉันจะต้องได้รับ คาดหวังกับผู้อื่นว่าต้องให้ฉันได้ เมื่อผิดหวังทำให้เรารู้สึกไม่ได้ตามที่ต้องการ จะหงุดหงิดโมโห
โดยเฉพาะกับคนใกล้ตัว เพราะมนุษย์เรียนรู้โดยสัญชาตญาณอยู่แล้วว่าคาดหวังกับใครได้ หรือไม่ได้กับใคร
ถ้ารู้ว่าเป็นหัวคนร้อนกับคนใกล้ตัวเราจะจัดการตัวเราอย่างไรดี
ต้องเปลี่ยนวิธีคิดก่อนว่า ยิ่งสนิทยิ่งต้องเกรงใจ เมื่อเราตระหนักสิ่งนี้แล้วจะทำให้เรารู้จักควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตนเองได้มากขึ้น
ถ้าเรารับนิสัยของแฟนไม่ได้ ควรทำยังไงดี?
เราไม่สามารถเปลี่ยนนิสัยใครได้ เพราะฉะนั้นเราควรกลับมาทบทวนตัวเองว่า เราพยายามที่จะพูดคุยด้วยคำพูด น้ำเสียงที่ดี ที่ถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้าเราคิดว่าเราทำเต็มที่แล้วพยายามจนถึงที่สุดแล้ว
เราก็ต้องกลับมาจัดการอารมณ์และความรู้สึกของตัวเราแทน
ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้ เราไปพบนักจิตวิทยาได้ไหม?
หากเราไม่สามารถรู้ทันอารมณ์ของตนเอง ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องยากสำหรับบางคน นักจิตวิทยาจะคอยช่วยแนะนำวิธีสำรวจอารมณ์ตนเอง ให้รู้ทันอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้น
หรือรู้อารมณ์ได้ครบถ้วนรอบด้าน ทำให้สามารถรู้ไปถึงต้นตอ ของอารมณ์นั้น ๆ และแนะนำวิธีเข้าไปจัดการอารมณ์ได้
Post Views: 25,718