ไม่มีเพื่อนแปลกไหม

ไม่มีเพื่อน แปลกไหม? คำว่าเพื่อนจริง ๆ ต้องเป็นแบบไหน

เรื่องAdminAlljitblog

เพื่อนจำเป็นไหมสำหรับการใช้ชีวิต? การที่เราเป็นคนที่ ไม่มีเพื่อน แปลกไหม?

 

บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยในทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ เพื่อนสำคัญไหมในชีวิตเรา

 

เราสามารถอยู่ตัวคนเดียวได้รึเปล่าถ้าชีวิตของเราไม่มีคนไหนที่ทำให้เรารู้สึกถึงคำว่าเพื่อนเลย

นิยามคำว่าเพื่อน ไม่มีเพื่อน แปลกไหม?

หากพูดถึงเพื่อน เรามักจะนึกถึงเพื่อนแบบไหน? เพื่อนวัยเรียน เพื่อนที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุข เพื่อนเที่ยวหรือเพื่อนกิน นิยามของคำว่า เพื่อน นั้นมีหลากหลายรูปแบบ คำว่าเพื่อนสำคัญรองจากคำว่าครอบครัวและคนรัก

 

เมื่อเราพูดถึงบริบทคำว่าเพื่อนของแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป อาจเป็นเพื่อนที่คุยได้ทุกเรื่อง คนที่ทำให้รู้สึกปลอดภัยเมื่อเล่าเรื่องไม่สบายใจให้ฟัง

 

คนที่เข้าใจเราในวันที่แย่โดยเราไม่ต้องพูดอะไรออกไป แค่อยู่ข้าง ๆ กัน พากันทำอะไรสนุก ๆ ก็พอใช่ไหม?

 

“ช่วงวัยเด็ก” เราต้องการแค่คนเล่นสนุกด้วยกัน เลิกเรียนต้องรีบออกไปเล่นกับเพื่อน “ช่วงวัยรุ่น” เราต้องการเพื่อนที่สามารถพูดคุยกันได้อย่างสนิทใจ รู้สึกปลอดภัยกับการเล่าอะไรให้ฟัง

 

“วัยทำงาน” เราคงมองหาเพื่อนสักคนที่คอยซัพพอร์ตจิตใจในวันที่เหนื่อยล้าจากสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องเจอนิยามและความสัมพันธ์ของเพื่อนก็แตกต่างไปตามช่วงวัย 

 

เราเคยสังเกตไหมว่า ในแต่ละช่วงวัยของเราจะมีเพื่อนที่หล่นหายไประหว่างทาง อาจไม่ได้ติดต่อกันแล้วทั้งที่เคยสนิทกันมาก ด้วยเรื่องราวและเงื่อนไขในชีวิตของแต่ละคน

 

สุดท้ายเราจะเหลือเพื่อนที่เรียกว่าเพื่อนได้อย่างจริง ๆ อยู่ไม่กี่คน

แท้จริงคำว่า “เพื่อน” สำคัญไหมในชีวิตเรา?

หากถามว่าสำคัญไหมอาจต้องดูในบริบทของแต่ละคนเช่นกัน บางคนอาจต้องการมีเพื่อนเยอะ ๆ  บางคนมีเพื่อนแค่คบแบบผิวเผินก็ทำให้รู้สึกสบายใจกว่า

 

รวมถึงบางคนก็ไม่ได้รู้สึกว่าการมีเพื่อนสามารถทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้

 

หากแบ่งความสำคัญของเพื่อนตามช่วงวัย วัยเรียน ประถม มัธยม ค่อนข้างสำคัญสุด เราจะรู้สึกทุกข์ใจเมื่อมีปัญหากับเพื่อน เพราะเพื่อนเป็นพัฒนาการด้านหนึ่งของบริบททางสังคม 

การไม่มีเพื่อนแปลกไหม?  

หากพูดถึงความแปลก คงหมายถึงอะไรที่แตกต่างจากตัวเราเอง แต่เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาไม้บรรทัดของเราไปวัดกับคนอื่น เป็นเรื่องของตัวบุคคลที่แบบไหนเรียกว่าเพื่อนได้จริงมากกว่า

 

หากมีเพื่อนเยอะแต่จำนวนเหล่านั้นไม่ได้รู้สึกดี กลับทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว การมีเพื่อนจำนวนไม่ต้องเยอะ หรือแค่ 1 คนที่พร้อมเข้าใจจริง ๆ พร้อมใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันบนคำว่าเพื่อนได้นั่นอาจเพียงพอแล้ว

 

หากใครเป็นคนขาดทักษะการสร้างสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง อาจรู้สึกว่าการเริ่มต้นเป็นเพื่อนกับใครสักคนนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ

 

แต่อย่าเพิ่งปักธงในใจหรือสร้างภาพให้ตัวเองในความคิดไปก่อนว่าคนรอบข้างจะไม่อยากเป็นเพื่อนกับเรา

อยากมีเพื่อนควรเริ่มต้นอย่างไร? 

1. เริ่มจากการที่เราถามกับตัวเองก่อนว่า “เราต้องการมีเพื่อนแบบไหน” เช่น เพื่อนออกกำลังกาย, เพื่อนเที่ยว, เพื่อนที่คอยซัพพอร์ตกันและกัน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเราได้และเพื่อที่ไม่ให้รู้สึกแย่ หากเพื่อนไม่ได้มีทัศนคติไลฟ์, สไตล์ตรงกับเรา 

 

2. ประเมินสถานการณ์ก่อนการทำความรู้จักกับใครสักคน ว่าสถานการณ์ตรงหน้าเราเป็นอย่างไร วิเคราะห์สีหน้า ท่าทาง ของอีกฝ่ายว่าพร้อมที่จะคุยกับเราไหม

 

3. ลองแบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ หากอยากเริ่มต้นการเป็นเพื่อนกับใครสักคน เรื่องราวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเรื่องทั่วไป หรือถามไถ่กันในเรื่องราวที่ไม่ต้องลงลึกมากเพื่อไม่ให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัดที่ต้องตอบ 

 

4. ความจริงใจ ต่อการเป็นเพื่อนกัน ไม่นำเรื่องราวของคนอื่นมาบอกต่อ หากเจ้าของเรื่องไม่อนุญาต หรือพูดถึงบุคคลที่ 3 ในแง่มุมที่เขาต้องเสียหายและเดือดร้อน สิ่งที่ต้องทำใจยอมรับคือ

 

“ไม่ใช่ทุกคนที่เราให้ใจไป แล้วเขาจะให้ใจตอบกลับมา” เรามีสิทธิ์ประเมินว่าเขาสามารถเป็นเพื่อนเราได้ไหม และเขาเองก็มีสิทธิ์ประเมินตัวเราด้วยเช่นกัน 

 

ท้ายที่สุดแล้ว คำว่าเพื่อนจะสำคัญกับชีวิตเราไหม ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละคน และแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ บางคนอาจชอบการมีเพื่อนเยอะ ๆ หรือบางคนอาจรู้สึกว่าเพื่อนที่ดีที่สุดคือตัวเอง

 

แล้วสำหรับเราเเล้ว เราคิดว่าเพื่อนที่ดีเป็นแบบไหน?

Related Posts