ถ้าพูดถึงเรื่อง คิดมาก ใคร ๆ ก็คงต้องเคยคิดมาก คิดมากกับเรื่องบางเรื่อง คิดมากกับเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ หรือคิดมากไปกับซะทุกเรื่อง ซึ่งตอนนี้เรากำลังคิดมากอยู่ในระดับไหนกัน
ถึงขั้น Chronic Overthinking หรือ คิดมากเรื้อรังแล้วหรือเปล่า
หากความคิดมากสามารถเกิดขึ้นกับทุกคนได้ แล้วความคิดมากมักเกิดมาจากสาเหตุใด จากคำอธิบายของของนักจิตวิทยา Denielle Syslo นักบำบัด Dr. Paulette Sherman
สาเหตุหลักที่นำไปสู่การเป็นคน คิดมาก ได้ทั้งหมด 3 ปัจจัยด้วยกัน
1. ความเครียด ซึ่งความเครียดเป็นรูปแบบหนึ่งของการตอบสนองต่อความกลัวที่เกิดขึ้นในชีวิตคนเรา ที่มักเกิดขึ้นตอนที่เราเกิดความรู้สึกกลัว จึงทำให้ความคิด
และความกังวลต่าง ๆ มากมายพร้อมที่จะเข้ามาในหัวเราได้ในทันที ทำให้เราเกิดความรู้สึกเครียดจนนำไปสู่การคิดมากได้นั่นเอง
2. การบอบช้ำทางจิตใจจากเหตุการณ์ในอดีตที่เคยผ่านมา ซึ่งคนที่เคยผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นบาดแผลทางจิตใจ มักจะรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจมากกว่าคนทั่วไป
จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นคนคิดมากได้มากกว่า สาเหตุเก็กิดจากบาดแผลทางจิตใจที่เกิดขึ้นนั้นมักเปลี่ยนแปลงการพัฒนาของสมองให้อยู่ในสภาวะที่ต้องคอยระมัดระวังมากจนเกินไปหรือระวังมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
และทำให้เกิดความรู้สึกถึงความกังวลต่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเสมอ
3. การเป็นคนที่ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ คนที่ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบในที่นี้จะรวมถึงคนที่ชอบควบคุมสิ่งต่าง ๆ รอบตัว หรือคิดว่าตัวเองสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้อยู่เสมอ
ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นคนคิดมากได้ เพราะเขามักกังวลว่าตัวเองนั้นอาจไม่สามารถควบคุมเรื่องบางเรื่องในชีวิตได้หรือเขามัวแต่หมกมุ่นกับความคิดต่าง ๆ นั้นมากจนเกินไป
ฉันเป็นคน คิดมาก แล้วหรือยัง วันนี้เราลองมาเช็คลิสต์ตัวเองกันดู
1. นึกถึงอดีตที่ผ่านไปแล้วอยู่บ่อย ๆ ครั้ง และมักจะกังวลว่าอนาคตอาจมีเรื่องอะไรแย่ ๆ รอคอยอยู่เสมอ
ยกตัวอย่าง เช่น นึกถึงอดีตแฟนเก่าที่เคยนอกใจ จนส่งผลทำให้คิดกังวลไปก่อนแล้วว่าแฟนคนใหม่แอบนอกใจ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้น
แต่เป็นเพียงเพราะความกลัวกังวลคิดว่าต้องมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
2. ไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรเพราะกลัวว่าตัวเองอาจจะตัดสินใจผิดพลาดได้
ยกตัวอย่าง เช่น อาจเคยถูกตำหนิอยู่บ่อยครั้ง จนส่งผลทำให้กลายเป็นคนไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ และไม่กล้าแม้แต่ที่จะตัดสินใจเรื่องเล็กน้อยเพราะกลัวการถูกตำหนิ
3. คิดหรืออ่านอะไรบางอย่างซ้ำไปมาเพื่อหาความหมายที่แท้จริงของเรื่องนั้น ๆ
ยกตัวอย่าง เช่น อ่านหนังสือแต่ไม่สามารถอ่านแล้วเข้าใจได้ในทันที เพราะเกิดความคิดอื่นเข้ามาแทรก ทำให้ต้องอ่านซ้ำวนไปมาหลายรอบกว่าจะเข้าใจเนื้อหา
4. มักมีคำว่า ‘จะเกิดอะไรขึ้น’ หรือ ‘ควรจะ’ เกิดขึ้นในความคิดอยู่ตลอดเวลา
ยกตัวอย่าง เช่น วันนี้มีประชุมกับหัวหน้า ก็เกิดความกังวลตลอดเวลาเลยว่า ฉันจะทำได้ไหมนะ ทุกอย่างจะราบรื่นไหมนะ โอเคมันคิดกันได้นะ แต่ไม่ควรจะตลอดเวลา
5. นอนไม่ค่อยหลับเพราะชอบคิดเรื่องต่างๆ ก่อนเข้านอน
ช่วงเวลาก่อนเข้านอนเป็นช่วงเวลาแห่งความคิด หลาย ๆ คนเกิดอาการนอนไม่หลับเพราะ ใช้ช่วงเวลาก่อนอนทบทวนเรื่องต่าง ๆ
คิดวนไปมา ยกตัวอย่าง เช่น วันนี้ฉันทำอะไรไปบ้าง ไม่น่าทำแบบนั้นเลย ทำไมถึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้นะ
6. กังวลอยู่บ่อยครั้งว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรเกี่ยวกับตัวเอง หรือกังวลว่าพวกเขาต้องการอะไร
ยกตัวอย่าง เช่น คิดมากกับสายตาคนรอบข้างอยู่ตลอดเวลา จนเผลอไปคิดแทนคนอื่นแล้วว่า ที่เขาพูดแบบนนี้เขาต้องการที่จะสื่ออะไรหรือเขากำลังคิดอะไรอยู่ ไม่ชอบเราหรือเปล่า
คิดมาก แค่ไหนถึงเรียกว่าเรื้อรัง
เพราะจริง ๆ การที่เราคิดมากอยู่บ่อย ๆ ครั้งอาจไม่ใช่เรื่องธรรมดาอีกต่อไป เพราะการที่เราคิดมากอยู่บ่อย ๆ มากจนเกินไปนั้น อาจนำไปสู่การคิดมากแบบเรื้อรังได้
ซึ่งระดับของความเครียดสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับด้วยกัน คือ
1. ความเครียดระดับต่ำ (Mild Stress)
เป็นระดับความเครียดที่ยังไม่ถึงกับคุกคามต่อการดําเนินชีวิตของเรามากนัก อาจเป็นเพียงแค่ความรู้สึกถึงความเบื่อหน่าย ขาดแรงกระตุ้น และมีพฤติกรรมที่เชื่องช้าลง
ซึ่งความเครียดระดับนี้อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเวลา และทุกสถานการณ์ เช่นอาจจะกำลังกังวลเกี่ยวกับงาน การเรียน เรื่องเพื่อน เรื่องแฟน หรือเรื่องครอบครัว
ก็อาจส่งผลทำให้เกิดความเครียดขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง และส่งผลทำให้เราเกิดความรู้สึกไม่อยากที่จะทำอะไร อยากอยู่เฉย ๆ รู้สึกเบื่อเซ็ง
2. ความเครียดระดับปานกลาง (Moderate Stress)
เป็นความเครียดในระดับปกติที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย และเป็นระดับความเครียดที่ไม่แสดงออกที่ชัดเจน ส่วนใหญ่แล้วความเครียดระดับนี้สามารถปรับตัวกลับสู่ภาวะปกติได้เองจากการได้ทํากิจกรรมที่ตัวเองชื่นชอบ
ซึ่งสามารถช่วยคลายความเครียดลงได้ เพราะการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราชื่นชอบจะสามารถช่วยทำให้เราหลุดออกจากโฟกัสจากเรื่องเครียดแล้วพาให้เรากลับมารู้สึกปกติได้เหมือนเดิมหรือทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมาได้บ้าง
3. ความเครียดระดับสูง (High Stress)
เป็นความเครียดที่เกิดจากเหตุการณ์รุนแรง ซึ่งหากปรับตัวไม่ได้ก็อาจจะทําให้เกิดความผิดปกติตามมากับทางร่างกาย ทางอารมณ์ ทางความคิด และทางพฤติกรรม เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย หงุดหงิด
พฤติกรรมการนอนและการรับประทานอาหารเปลี่ยนไป จนมีผลต่อการดําเนินชีวิต จึงควรหาใครสักคนคอยอยู่เป็นเพื่อนคอยรับฟังเพื่อระบายความรู้สึกออกมา หรือมีผู้ใหญ่สักคนคอยแนะนําให้คําปรึกษาอย่างใกล้ชิด
4. ความเครียดระดับรุนแรง (Severe Stress)
เป็นความเครียดระดับสูงและเรื้อรังอย่างต่อเนื่องจนทําให้คนคนนั้นมีความล้มเหลวในการปรับตัว และก่อให้เกิดความผิดปกติและเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ที่รุนแรงขึ้นมาได้ เช่น อารมณ์แปรปรวน มีอาการทางจิต
มีความบกพร่องในการดําเนินชีวิตประจําวัน ซึ่งอาจมีอาการนานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี ระดับความเครียดนี้อาจจะต้องหาเวลาว่างเพื่อเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
อาการ คิดมาก เรื้อรัง นำไปสู่ปัญหาสุขภาพด้วยโรคอะไรได้บ้าง?
1. โรควิตกกังวลทั่วไป มีอาการตื่นตระหนก กลัว และไม่สบายใจ ไม่สามารถอยู่ในความสงบได้ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ และการคิดมากเรื้อรัง
อาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย ซึ่งในขณะเดียวกันก็อาจส่งผลให้ผู้ที่มีโรคซึมเศร้าอยู่แล้วก้าวข้ามผ่านช่วงที่รู้สึกหดหู่ได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
2. เสี่ยงต่อการเป็นโรคสุราเรื้อรังเพราะความเครียดสูงทำให้มีแนวโน้มดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น เพราะบางคนเลือกที่จะบำบัดอาการหงุดหงิดหรือซึมเศร้าจากการคิดมากด้วยการดื่มแอลกอฮอล์
3. การคิดมากอาจก่อให้เกิดความคิดในเชิงลบมากยิ่งขึ้น เพราะการที่เราวนนึกถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายอย่างต่อเนื่องเป็นต้นเหตุ
4. เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เพราะการคิดมากมักส่งผลให้เกิดความเครียด เมื่อเกิดความเครียดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
5. ส่งผลให้นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอทำให้คุณภาพในการนอนแย่ลงเกิดจากการนึกถึงหรือกังวลต่อสถานการณ์ใดซ้ำ ๆ ในช่วงเวลาเข้านอน ซึ่งปัญหาสำคัญของคนที่ตกอยู่ในภาวะคิดมาก
คือ การปล่อยให้ตัวเองครุ่นคิดทบทวนอยู่กับเรื่องเดิม ๆ ที่ดึงขึ้นมาจากความทรงจำบนความรู้สึกเสียดาย ผิดหวัง เสียใจ มีความโกรธแค้นกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว หรือเป็นกังวลเกี่ยวกับผลพวงของสิ่งที่จะเกิดขึ้น
ตามมาอยู่เสมอ ได้แต่คิดวนเวียนอยู่อย่างนั้นโดยไม่ได้พยายามคิดหรือแสวงหาวิธีการควบคุมหรือแก้ไขปัญหาที่จะช่วยให้ตัวเองคลายความทุกข์และความกังวลใจลงไปได้เลย
วิธีรับมือเมื่อมีอาการ คิดมาก
1.เริ่มจากการสำรวจตรวจสอบความคิดของตัวเราเองก่อนว่าตัวเองกำลังคิดถึงอะไรอยู่ เพื่อค้นหาและตรวจสอบความคิด เพื่อชี้ชัดถึงที่มาที่ไปและหาทางออกได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
2.เลือกเผชิญหน้ากับปัญหาและตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นจะช่วยทำให้เราสามารถออกจากความกลัวและความกังวลใจได้เป็นอย่างดี
3.ยอมรับความเป็นไปทั้งก่อนและหลังจากความพยายามในการแก้ไขสิ่งต่าง ๆ นั้นเท่ากับเป็นการเคารพและยอมรับนับถือในตัวเอง เมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้ลงมือทำสิ่งที่ทำได้อย่างเต็มที่ไปแล้ว
ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไรก็ไม่มีอะไรให้ต้องเสียใจหรือติดอยู่ในใจจนต้องเก็บมาคิดมากอีกแล้ว
4.บริหารสมองอยู่เสมอ ทำได้โดยการค้นหาความสนใจไปยังเรื่องใหม่ ๆ ลองให้เวลากับการคิดและลงมือทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ตลอดจนหาเวลาในการเดินทาง
ทำกิจกรรมและพบปะผู้คนเพื่อสร้างการจดจำในสิ่งที่ดีเข้ามาแทนที่
5.พึ่งพาเพื่อนที่รู้ใจ เพื่อนที่รู้ใจในที่นี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทเท่านั้น แต่อาจรวมถึงสัตว์เลี้ยงที่รักของเรา น้องหมา น้องแมว หรือสมุดบันทึกคู่ใจที่จะช่วยคอยรับฟังเรื่องราวที่เราไม่สบายใ
จและคอยเป็นกำลังใจให้กับเราได้เพียงแค่เราเลือกที่จะหันไปหาเขา
จริง ๆ การเป็นคนคิดมากแม้จะไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใคร ๆ ก็เป็นกันได้ แต่เราทุกคนก็ไม่ควรที่จะละเลยจนทำให้เกิดผลกระทบต่อทางสุขภาพกายและใจของเรา ดังนั้นการหาทางออกจึงจำเป็นมากที่ต้องอาศัย
ทั้งเวลาความตั้งใจและความอดทน ตลอดจนมีความเข้าใจจากคนใกล้ชิดซึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราห่างไกลจากการเป็นคนคิดมาก
ได้นั่นก็คือการยอมรับนับถือตัวเองด้วยการมีความสุขและพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่เสมอ
หากวันหนึ่งความคิดมากเหล่านั้นเราไม่สามารถรับมือได้ด้วยตัวเอง เราจมอยู่กับความคิดมากจนหาทางออกไม่เจอ และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อาจลองหาเวลาว่างเพื่อเข้าไปรับคำปรึกษาที่ดีจากผู้เชี่ยวชาญ
ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางทางออกที่ดีเลยทีเดียว
Post Views: 6,630