ในทางจิตวิทยาทุกคนสามารถ คิดมาก ได้ เพราะคนเราเกิดมาพร้อมระบบการคิด วิเคราะห์ และมีเหตุผลของตัวเอง แต่การคิดมากอาจจะต้องสำรวจดูว่า เราคิดมากแค่ไหน? ยาวนานเกินไปไหม?
การคิดมากไปกระทบกับระบบการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่?
บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ อาการคิดมาก เป็นคนที่ชอบคิดมากจนนอนไม่หลับ มีวิธีแก้ไขอย่างไร
สาเหตุของความ คิดมาก มาจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
1. ความกลัว เพราะ กลัวการตัดสินจากคนอื่น เราเลยคิดทบทวนอยู่ตลอดเวลา ว่าจะทำแบบนี้ดีไหม,เรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรบ้าง
2. Perfectionist ชอบความเป๊ะ ทุกอย่างจะต้องออกมาสมบูรณ์แบบ จะทำให้เราคิดเยอะมากกว่าปกติ โดยคนประเภทนี้จะไม่ค่อยมีความยืดหยุ่น จึงทำให้คิดซ้ำ วนไปวนมาบ่อยครั้ง
3. คนอ่อนไหวง่าย ไวต่อความรู้สึก คนลักษณะนี้จะคิดมาก เช่น ถ้าทำแบบนี้เขาจะคิดอย่างไร ถ้าฉันพูดแบบนี้ออกไปจะโอเคไหมนะ คิดถึงตัวคนอื่นตลอดเวลา
การที่เรา คิดมาก แล้วไม่จัดระบบความคิดของเราให้ดี จะเกิดส่งผลกระทบต่อร่างกาย ภาวะอารมณ์ รวมไปถึงการเข้าสังคมเช่นกัน
คนคิดมาก มี 2 รูปแบบ
1. คิดถึงอดีต
วันนั้นน่าจะทำแบบนี้ รู้อย่างนี้ทำแบบนี้ดีกว่า เรามักจะคิดทบทวนถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้ว เพื่อตำหนิตัวเองในวันนี้
2. คิดถึงอนาคต
ถ้าเกิดแบบนี้ขึ้นจะต้องเป็นแบบนี้แน่ ๆ เลย ตีความอนาคตไปก่อน ตั้งสมมติฐานในอนาคตว่าจะต้องเป็น 1 2 3 ตามที่คิดไว้ การคิดที่ติดอยู่กับอนาคตมากไปจะทำให้มุมมองของเราแคบลง
คิดมาก กับ วิตกกังวล แตกต่างกันอย่างไร
ความคิดมาก คือ ความคิด ความวิตกกังวล คือ อารมณ์ ซึ่งหลาย ความคิด นำไปสู่อารมณ์ และอารมณ์นำไปสู่ความคิดได้เช่นเดียวกัน ทั้งสองความรู้สึกนี้เชื่อมโยงกัน
ความวิตกกังวล
ความวิตกกังวล คือสิ่งที่ไม่ได้อยู่ตรงหน้า อาจจะเป็นสิ่งที่อยู่ในอดีตหรือในอนาคตก็ได้ ซึ่งเป็นอารมณ์ ๆ หนึ่งเพื่อประคองให้เราระมัดระวังตัวเองมากขึ้น ในทางจิตวิทยามองว่า วิตกกังวลมีทั้งข้อดีและข้อเสียเกิดขึ้นได้
สำคัญคือต้องมีให้พอดี หากเรามีความวิตกกังวลมากเกินไป จนไปกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น กระทบปัญหาการนอนหลับ กังวล และระแวงเกินเหตุจนไม่สามารถตัดสินใจได้ ก็สามารถนำไปสู่ภาวะวิตกกังวลได้
วิธีรักษาภาวะวิตกกังวล
สำรวจที่อาการก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง อาการเป็นอย่างไร เพราะที่มาอาการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
การรักษาหลัก ๆ มี 2 วิธี
1. รักษาด้วยยา เพื่อปรับสารสื่อประสาทของความกลัวที่หลังมากกว่าปกติ
2. การทำจิตบำบัด โดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ผู้รักษาค่อย ๆ ลงไปหาความกังวลของตัวเองเพื่อหาสาเหตุและจัดการกับความกังวลนั้น
สิ่งที่เป็นผลกระทบของภาวะวิตกกังวล
1. ปัญหาการนอนหลับซึ่งส่งผลกระทบต่ออารมณ์
2. ขาดความมั่นใจในตนเอง จนไม่กล้าตัดสินใจ
3. ขาดสมดุลทางด้านจิตใจ
วิธีรับมือกับ ความคิดมาก หรือ การวิตกกังวล
อยากให้เริ่มสังเกตตนเองว่ากังวลกับสิ่งใดได้บ้าง และจับอาการของตนเองให้ได้ หากเราเริ่มจับความคิดของตนเองได้แล้ว จากนั้นลองมองหาสิ่งรอบ ๆ ตัวดู โฟกัสไปในสิ่งที่อยู่ตรงนั้น
หรือกำหนดลมหายใจตัวเองเพื่อดึงตนเองมาอยู่กับปัจจุบันให้ได้มากที่สุด และดูว่าเราสามารถควบคุมอะไรได้บ้าง อะไรเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม เพื่อจัดลำดับความคิดของตนเอง
Post Views: 4,951