ไม่กล้ารับคำชม

ทำไมเราถึง ” ไม่กล้ารับคำชม ” จากคนอื่น

เรื่องAdminAlljitblog

ไม่กล้ารับคำชม จะทำอย่างไรดี ? การได้รับคำชมจากคนอื่นอาจเป็นเรื่องที่ทำให้หนักใจ อึดอัดใจ..บางครั้งกลับไม่รู้จะตอบไปว่าอะไร ถึงจะดีต่อใจทั้งคนพูดคนฟัง.. เพราะสำหรับหลายคนการได้รับคำชมไม่ใช่เรื่องน่ายินดี

ปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทำให้ ไม่กล้ารับคำชม ?

สารบัญ

1. การตั้งคำถามกับความจริงใจ 

สำหรับคนที่มีพื้นฐานหวาดระแวง ไว้ใจคนอื่นยาก เวลาได้รับคำพูดดี ๆ จากคนอื่น บางสถานการณ์อาจทำให้รู้สึกว่า เขาชมไปงั้นงั้นรึเปล่า , เขามีจุดประสงค์อะไรแฝงหรือไม่ , เราเป็นอย่างที่เขาชมหรือเปล่า

 

2. การมีความมั่นใจในตัวเองต่ำ

หากมี self-confidence ต่ำ เราจะรู้สึกว่า ไม่จริง เราไม่ได้ทำได้ดีขนาดนั้น เราไม่ได้ดูดีขนาดนั้น ทำให้เวลาได้รับคำพูดดีๆ จากคนอื่น มีแนวโน้มที่เราจะรู้สึกอึดอัด หนักใจ และตั้งคำถามกับคำชมที่เกิดขึ้น  

 

3. การที่ไม่สามารถรับรู้คุณค่าของตัวเองได้

self-esteem ที่ต่ำ จะทำให้เราด้อยค่าตัวเอง เราจะรู้สึกว่าเราเป็นใคร เราสมควรได้รับคำพูดนั้นจริงไหม เป็นความเจ็บปวดอย่างหนึ่งเช่นกัน เวลาที่เรามีความคิดไปในทางที่ดูถูกตัวเอง ตัวเองไม่ดีพอ 

 

ถ้าเรามี Low Self-esteem จะอึดอัดใจเวลาตอบรับคำชม ไม่สามารถยอมรับคำเชิงบวกและไม่ยอมเปลี่ยนการรับรู้ของเราเกี่ยวกับตนเองตามคำชมนั้นได้ จะคิดว่าตัวเองไม่คู่ควร (Self-worth)

 

เพราะ คำชมนั้นขัดแย้งกับสิ่งที่เรามองตัวเองในปัจจุบัน หากได้รับคำชมในวันที่เรารู้สึกว่าเรายังไม่ใช่ ก็ยากที่จะเชื่อและแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะยอมรับ ดังนั้นแม้แต่คำชมที่จริงใจและมีความหมาย ก็ยังดูเป็นคำโกหก

 

4. การเลี้ยงดู 

การถูกเลี้ยงดูมาแบบไม่เคยได้รับคำชมเลย จะทำให้เกิดความรู้สึกดีไม่พอ ด้อยกว่าคนอื่น รวมถึงการยอมรับคำชมจากคนอื่นเองก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน ประโยคที่ว่า “ชมมากเดี๋ยวเหลิง”

 

คิดว่าหลาย ๆ บ้านคงเคยได้ยินหรือได้ใช้ประโยคนี้ ลองย้อนกลับไปตอนที่ลูกเป็นเด็ก เริ่มหัดเดิน หัดพูด หัดทำนู่นทำนี่ด้วยตัวเอง พ่อแม่หยิบยื่นคำชมให้เขาอย่างง่ายดาย “พูดคำนี้ได้แล้วเก่งจังเลย”

 

“เดินเก่งจังเลย” แต่พอโตขึ้นมาช่วงวัยหนึ่ง การหยิบยื่นคำชมให้เขาในวันที่เขาทำสิ่งดี ๆ กลับเป็นเรื่องยากมาก เพราะ วัฒนธรรมที่ถูกส่งต่อว่า ชมมากไม่ดี ชมมากเดี๋ยวเหลิง… 

 

จากหนังสือ Dare to dream คว้าฝันสุดปลายเท้า ที่เขียนโดยเลนา มาเรีย เขากล่าวถึงการชมไว้ได้น่าคิดตามมาก ๆ ” อย่าชมมากไป เดี๋ยวเหลิง! ” แต่ใครจะเหลิงจริงจังเพียงเพราะได้รับคำชมเล่า

 

ฉันอยากบอกว่า การไม่มีใครชมต่างหากที่ทำให้เราทะเยอทะยาน อยากเป็นคนเด่นดัง จากนั้น ก็ห่อหุ้มตัวเองไว้ด้วยอัตตาและความหยิ่งทะนง

 

5. การตีความจากประสบการณ์ส่วนตัว

–  คำชมเป็นเหมือนการถูกตัดสิน  เช่น การ “เป็นคนฉลาด” เป็นคำชมที่ดูน่าภูมิใจ แต่ในบางครั้ง ความฉลาดของเขาที่มี ทำให้ความตั้งใจและความพยายามถูกมองข้าม  “เก่งแบบนี้ ไม่ต้องพยายามอะไรเลย”

 

เรื่องราวของคุณ Ohm Cocktail จากรายการ The Chair  ภาพลักษณ์ที่หลายๆคนให้กับเขาคือ “ฉลาด”  เขาบอกว่าการถูกมองว่าฉลาดบางครั้งก็ดีเพราะคำพูดเขาจะดูมีน้ำหนัก

 

แต่บางครั้ง คำว่าฉลาดก็ตามมากับคำว่าเจ้าเล่ห์ ทั้งที่คนอื่นอาจไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำลงไปเป็นความจริงใจที่ออกจากเราหรือวางแผนไว้ก่อนมากมาย  เพราะดูซับซ้อนกว่าคนปกติ

 

–  คำชมคือความกดดัน บางคำชมทำให้เกิดความรู้สึกกดดัน  ลูกเก่งมากเลย ไม่เคยทำให้ผิดหวัง = ต้องสมบูรณ์แบบ ทำให้ผิดหวังไม่ได้ งานครั้งนี้ยอดเยี่ยมมาก = ครั้งหน้าต้องดีกว่านี้

 

–  ประสบการณ์ได้รับคำชมที่ไม่ได้ชมจากใจ แต่แอบแฝงไว้ด้วยบางอย่างเช่น  “เขียนสรุปน่าอ่านจังเลย ส่งให้บ้างสิ” หรือ “เก่งนะ แต่… ”

 

 

เหตุผลทางจิตวิทยา ที่ทำให้หลาย ๆ คนรู้สึก ไม่กล้ารับคำชม ? 

1. ความไม่อยากเป็นจุดเด่น

เพราะสำหรับบางคน เขาไม่ชอบเป็นจุดเด่น การได้รับคำชมอาจจะเหมือนกับการได้รับแสงสปอร์ตไลท์ส่องมาที่ตัว ทำให้เขารู้สึกว่าไม่รู้จะรับมือหรือตอบรับยังไง 

 

2. ความไม่พอใจที่มีต่ออีกฝ่าย

ในกรณีที่ คนนั้นอาจจะเคยทำให้รู้สึกหรือ เคยมีปัญหากันในอดีตที่ยากจะลืม ทำให้รู้สึกไม่ดีจากการได้รับอะไรจากอีกฝ่าย เพราะเราคงจะมองคน ๆ นั้นในแง่ร้ายไปแล้ว 

 

3. ความรู้สึกกดดันจากความคาดหวัง

คำชมมาพร้อมกับความคาดหวังบางอย่างได้ จากข้อมูล ยกตัวอย่างว่า ถ้าเจ้านายบอกว่ามอบงานนี้ให้ดูแลเลยเพราะคุณทำงานเสร็จตรงเวลาเสมอ 

 

4. Cognitive Dissonance 

การไม่ลงรอยกันของการรับรู้ ความคิด ความเชื่อ หรือการให้คุณค่าต่อบางสิ่งบางอย่างขัดแย้งกันเอง ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ มีส่วนของการมีความมั่นใจในตัวเองต่ำด้วย สมมติคนอื่นบอกว่าเราฉลาด

 

แต่เราไม่รู้สึกว่าตัวเองฉลาด เลยจะเกิดความขัดแย้งกันขึ้นในตัวเองที่เรียกว่า Cognitive Dissonance การไม่ลงรอยกันของความรับรู้ต่อตนเอง

 

5. ความไม่เคบชินที่ได้รับคำชม

เป็นเพราะคำชมทำให้รู้สึก Surprise  ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะคิดไปก่อนแล้วว่า เราทำสิ่งนี้ได้ไม่ดี มีข้อผิดพลาดเยอะไปหมด พอมีใครชื่นชม เลยอาจจะรู้สึกว่า ไม่รู้ควรตอบรับยังไง

 

 

เราจะรับมือยังไง เวลาได้รับคำชมแล้วรู้สึกไม่สบายใจ ? 

1. คำชมเป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่ของเรา 

จาก Harvard Business Review  ผู้เขียนบอกว่าเวลาคนอื่นชื่นชม นั่นเป็นประสบการณ์ของเขา ว่าเขาได้รับผลยังไง เขาอาจจะแค่มองว่า สิ่งที่เราทำ เป็นเรื่องที่ดีก็เลยบอกออกไปว่าดี ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น

 

2. ลดการคิดล่วงหน้า

สำรวจตัวเอง ว่าเราคิดในสิ่งที่ยึดกับความเป็นจริงหรือเปล่า เพราะเวลาเราชมคนอื่น เราก็คงไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะต้องตอบแบบไหนขนาดนั้น เขาก็คงไม่ได้คาดหวังเหมือนกันว่า เราจะต้องตอบรับให้ถูกใจเขา 

3.  ลดอคติ

ข้อนี้คิดว่าใช้กับคนที่ไว้ใจคนอื่นยากได้ดี เวลาไว้ใจคนอื่นยาก เรามักจะตั้งคำถาม เรามักจะตั้งคำถามกับการกระทำของคนอื่น การลดอคติลง เปิดใจรับสิ่งที่เขาแสดงออก อาจไม่ใช่เรื่องแย่ 

 

4. ลดการตีความ

บางทีเบื้องลึก เบื้องหลัง คำพูดของเขาอาจจะไม่มีอะไรไปมากกว่าการอยากชื่นชมเรา แต่เพราะคำพูดของเขาไม่ถูกใจหรือไม่ตรงใจเราเท่านั้นเองเราจึงตีความจากความคดของตัวเอง

 

แต่อีกมุมหนึ่งไม่มีใครที่จะรู้ว่าเราต้องการอะไร เขาชมว่าเราเก่ง เขาอาจจะรู้สึกแบบนั้น จริง ๆ ไม่ได้ต้องการจะกดดันเรา หรือไม่ได้คาดหวังให้เราสมบูรณ์ไปซะทุกอย่าง

 

 

ตอบรับคำชมอย่างไรดี 

หนังสือ Happy Together: Using the Science of Positive Psychology to Build Love That Lasts ของ Pawelski มี 3 ขั้นตอน ในการรับมือกับคำชมแบบเฉพาะหน้าคือ 

 

–  Accept น้อมรับคำชมนั้นด้วยคำว่า “ขอบคุณ”

–  Amplify รับมันเข้ามาในตัวเรา รู้สึกถึงคำชมนั้น ดีใจไปกับมัน

–  Advance ต่อยอดด้วยการถามคำถาม ที่นำบทสนทนาไปสู่สิ่งอื่น สิ่งที่จะทำให้งานหรือตัวเราดีขึ้น

 

วิธีชื่นชมอย่างไรให้รู้สึกดี

1. จริงใจ

เริ่มต้นจากความจริงใจ เราอยากชมเขาจริง ๆ หรือเปล่า เพราะถ้าเราชมเขาด้วยความไม่จริงใจแล้วอีกฝ่ายจะรับรู้ได้

 

2. ชื่นชมที่ความตั้งใจและความพยายาม

การที่ชมเขาว่าเก่งมาก ฉลาดมาก อาจทำให้เขารู้สึกว่าเขาต้องเพอร์เฟค พลาดไม่ได้ ลองลงรายละเอียดสักหน่อย ให้รู้ว่าไม่ได้ชม ส่ง ๆ แต่เราสนใจและสังเกตเขาจริง ๆ ถ้าชื่นชมที่ความตั้งใจ และ ความพยายาม

 

เขาจะรับรู้ได้ว่า ตัวเองทำสุดความสามารถแล้ว และคู่ควรกับคำชมนั้น

 

 

ที่มา:

Why Do Some People Hate Receiving Compliments?

Do Compliments Make You Cringe? Here’s Why.

cognitive dissonance

‘ฉันทำดี ก็ต้องชมฉันสิ!’

การชื่นชมเด็ก