พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ผ่านมุมมองจิตแพทย์

เรื่องAdminAlljitblog

พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือ  Single mom และ Single dad ต้องเผชิญกับปัญหาหลากหลายรูปแบบ จะรับมืออย่างไร

 

จะสื่อสารกับลูกอย่างไรเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงภายในครอบครัว มาหาคำตอบกันในรายการ พูดคุย X พ.ต.อ พญ. อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล จิตแพทย์ 🙂

 

 

การตัดสินใจก่อนเป็น พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

 

ก่อนที่จะเป็น Single Mom หรือ Single Dad การตัดสินใจแยกทางหรือหย่าร้างมักมาพร้อมกับ ความเจ็บปวดและคำถามในใจมากมาย เช่น “จะอยู่เพื่อลูกดีไหม?” หรือ “การแยกทางจะส่งผลต่อชีวิตลูกอย่างไร?”

 

หลายคนที่เลือกแยกทางมักเผชิญปัญหาความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น ความสัมพันธ์แบบ Toxic Relationship ซึ่งอาจประกอบด้วยการทะเลาะเบาะแว้ง ความรุนแรงทางวาจาหรือ ร่างกาย

 

ไปจนถึงความเงียบ สงครามเย็นที่ทำลายความสุขในครอบครัว การศึกษาวิจัยพบว่าเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่พ่อแม่อยู่ด้วยกันแต่มีความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ มีแนวโน้มจะมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่า

 

เด็กที่พ่อแม่แยกทางกันแต่ยังคงเลี้ยงดูอย่างใส่ใจ  ดังนั้น การแยกทางอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า หากมันช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเต็มไปด้วยความรักให้แก่เด็ก

 

 

การสื่อสารกับลูก

 

เมื่อตัดสินใจแยกทางแล้ว สิ่งสำคัญคือการสื่อสารกับลูกอย่างตรงไปตรงมาและเหมาะสมกับวัย ควรบอกความจริงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น

 

อธิบายว่า “พ่อกับแม่จะแยกกันอยู่ แต่ยังคงรักและดูแลลูกเหมือนเดิม” การพูดคุยแบบเปิดใจจะช่วยให้เด็กเข้าใจสถานการณ์และปรับตัวได้ง่ายขึ้น และหมั่นพูดคุยสื่อสารกับลูก 

 

ที่สำคัญคือ อย่าด่า ต่อว่า พ่อแม่ของเขาให้ลูกฟัง อย่าปลูกฝังให้ลูกเกลียดพ่อ เกลียดแม่ เท่ากับเรากำลังสอนให้เขาเกลียดตัวเอง

 

 

การสังเกตพฤติกรรมของลูก หลังจากพ่อแม่แยกทาง

 

สังเกตพฤติกรรมว่าลูก เหงา ซึม หรือเศร้ามากเกินปกติจากที่เป็นไหม  เก็บเนื้อเก็บตัว มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป การเรียนแย่ลง โกหก ขโมยของ บางคนอาจแสดงออกด้วยพฤติกรรมก้าวร้าว

 

หากพบความผิดปกต่าง ๆ ก็สามารถเข้าไปพบผู้เชี่ยวชาญได้

 

 

ผลกระทบต่อเด็ก และการปรับตัว

 

หนึ่งในคำถามที่พบได้บ่อยคือ เด็กที่เติบโตในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวจะมีปัญหาหรือไม่? คำตอบคือ ไม่จำเป็นเสมอไป ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการดูแลและการสนับสนุนจากพ่อแม่

 

เด็กสามารถเติบโตอย่างแข็งแรงทางอารมณ์ได้ หากพ่อแม่ที่แยกทางยังคงทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ เช่น การแสดงความรัก ความเข้าใจ และการให้เวลาอย่างเพียงพอ

 

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งคือ การใช้ลูกเป็นเครื่องมือในการแก้แค้นอดีตคู่สมรส เช่น การไม่ให้ลูกเจอพ่อหรือแม่อีกฝ่าย การพูดให้ร้ายต่อหน้าลูก หรือการแสดงความโกรธแค้นจนส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก

 

การบอกความจริงกับลูกในแบบที่เหมาะสมกับวัย เช่น การอธิบายว่าพ่อแม่ยังรักลูกเหมือนเดิม แต่จะไม่อยู่ด้วยกันอีกต่อไป การสื่อสารด้วยความจริงใจจะช่วยลดความสับสนและสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ให้กับเด็ก

 

 

พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องเตรียมตัวอย่างไร ?

1. เตรียมใจให้เข้มแข็ง

การเลิกกับคู่สมรสและเปลี่ยนบทบาทมาเป็น Single Mom หรือ Single Dad มักนำมาซึ่งความรู้สึกหลากหลาย ทั้งความเศร้า ความผิดหวัง และความกลัว สิ่งสำคัญคือการเยียวยาจิตใจตัวเองให้เข้มแข็ง มั่นคง 

 

เพราะหากพ่อแม่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ การดูแลลูกก็จะยิ่งยากขึ้น 

 

2. วางแผนการเงินอย่างรอบคอบ

 

เมื่อจากเดิมที่มีสองคนช่วยกันหารายได้ กลายเป็นคุณคนเดียวที่ต้องดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด การบริหารการเงินอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ อาจต้องมองหาแหล่งรายได้เสริม หรือตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

 

3. วางแผนการเลี้ยงลูก 

 

การเลี้ยงลูกคนเดียวไม่ใช่เรื่องง่าย หากคุณมีญาติสนิทหรือเพื่อนที่พร้อมช่วยเหลือ อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือในยามจำเป็น หรืออาจพิจารณาจ้างพี่เลี้ยงเด็กเพื่อแบ่งเบาภาระในบางเวลา

 

4. ลดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูก

 

เมื่อเด็กต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่บ้าน การพยายามรักษาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ให้คงที่ เช่น โรงเรียนหรือกิจกรรมประจำวัน จะช่วยลดความเครียดและสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ให้กับเด็ก

 

 

การเริ่มต้นใหม่ในความสัมพันธ์ของ พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

 

หลังจากใช้เวลาเยียวยาใจตัวเอง หลายคนอาจต้องการเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการมีแฟนใหม่ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ตัวเอง แต่ยังรวมถึงลูกด้วย

 

หากมีคนใหม่เข้ามาในชีวิต สิ่งสำคัญคือการให้เวลาในการปรับตัวระหว่างเขาและ ลูกของเรา ควรใช้เวลาดูใจและมั่นใจว่าเขาสามารถยอมรับลูกได้อย่างแท้จริง ก่อนจะแนะนำให้ลูกได้รู้จัก

 

การจัดสรรเวลาอย่างสมดุลระหว่างลูกและแฟนใหม่ก็สำคัญ เพราะเด็กอาจรู้สึกว่าความรักถูกแย่งไป หากบริหารจัดการไม่ดี

 

 

ALLJIT BLOCK