เคยไหม ? ” ยอมโดนกด ” เพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม.. ผลกระทบที่ตามมาจากการโดนกดร้ายแรงแค่ไหน ? เบื้องหลังของการโดนกดในทางจิตวิทยาคืออะไร ?
ยอมโดนกดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
การกดในสังคมมีลักษณะไหนบ้าง
1. ออกคำสั่ง บังคับ
2. พูดไม่ดี ดูถูก
3. เอาเปรียบ
4. กลั่นแกล้ง
5. การตั้งมาตรฐานทางสังคม
การกดรูปแบบต่าง ๆ นี้ อาจจะส่งผลดีได้บ้าง เช่น ทำให้เราเกิดการพัฒนาตัวเอง ทำให้เราพอใจในชีวิตตัวเองที่เป็นไปตามสังคม แต่อาจจะมีผลเสียเหมือนกันว่า ถ้าสิ่งที่เราพยายามเป็นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ อาจจะเกิดความรู้สึกว่างเปล่าได้ ประมาณว่า นี่เรากำลังทำอะไรอยู่? เพื่อใคร?
ทำไมคนคนนึงยอมโดนกด
1. กลัวแปลกแยก ไม่มีตัวตน
2. กลัวรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่ง
3. อยากเข้าสังคม ที่ไม่เหมาะกับตัวเรา
เบื้องหลังของการ ยอมโดนกด ทางจิตวิทยา
1.การคล้อยตาม
ในทางจิตวิทยามีทฤษฎีที่เรียกว่า Conformity จากเว็บไซต์ explore psychology นิยามไว้ว่า การคล้อยตาม คือ แนวโน้มที่คน ๆ หนึ่งจะเปลี่ยนพฤติกรรม ความเชื่อ หรือทัศนคติ เพื่อให้เข้ากับสังคมได้ มี 3 รูปแบบ
1.1 Compliance คือ เปลี่ยนพตกตัวเองเพื่อให้ได้รางวัลหรือหลีกเลี่ยงการลงโทษ
1.2 Identification คือ เปลี่ยนพตกตัวเอง เพื่อให้ตัวตนเป็นไปในทางเดียวกับกลุ่ม
1.3 Internalization คือ เปลี่ยนความเชื่อหรือทัศนคติ เพราะอยากที่จะเป็นเหมือนคนอื่น
จากการทดลองของโซโลมอน แอช พบว่า การจะคล้อยตามคนอื่นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คือ ลักษณะของกลุ่ม สถานการณ์ที่บุคคลต้องตอบสนอง ประเภทของงาน และความเป็นเอกฉันท์ของกลุ่ม
2. เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเข้าสังคม
ในการเข้าสังคม มาตรฐานสังคมจะถูกปลูกฝังจนเกิดเป็นบุคลิกภาพ เพราะงั้นถ้าเกิดความขัดแย้งกับมาตรฐานสังคมนั้น หมายความว่าเรากำลังเบี่ยงเบน ทำให้ยอมโดนกด
3. เพื่อเติมเต็มความต้องการพื้นฐาน
1 ในความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ คือ Love and belonging มนุษย์ต้องการความสัมพันธ์ การยอมโดนกดบ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ อาจจะช่วยเติมเต็มความรู้สึกของหลาย ๆ คนได้
4. เพื่อให้ได้รับการยอมรับ
จากเว็บไซต์ Psychcentral บอกไว้ว่า การที่เราต้องการการยอมรับเกี่ยวข้องกับการวางเงื่อนไขมาตั้งแต่เด็ก พอเป็นเด็กดีเราจะได้ในสิ่งที่ต้องการ พอเติบโตการพยายามควานหาการยอมรับจากคนอื่นเลยเกิดขึ้นตามมา
เมื่อการ ยอมโดนกด เป็นการปรับตัว?
จะแยกความแตกต่าง จะต้องสังเกตตัวเองดูว่า ข้างในเรามีจุดยืนไหม มีชุดความคิดเป็นของตัวเองไหม การปรับตัวคือการที่เรายอมละบางส่วนที่เรายึดถือ เพื่อให้ไม่เกิดความขัดแย้ง
เพื่อให้ความสัมพันธ์ราบรื่นหรือพัฒนาขึ้นหรือเพื่อให้เราอยู่ในสังคมได้ แต่ถ้าอะไรที่มากไป เช่น มีพฤติกรรมแย่ ๆ ที่เจตนาทำร้ายความรู้สึกเรา เรายังสามารถที่จะไม่ยอมรับและปฏิเสธได้
แต่การยอมโดนกด คือ ยอมทุกอย่าง อาจจะทำให้อยู่ในสังคมนั้นได้จริง ๆ แต่ต้องทุกข์ใจจากการละเลยตัวเองและทุกข์ใจจากการกระทำที่ไม่ให้เกียรติของคนอื่น อาจจะไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลย
การพยายามเข้าสังคมให้ได้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เรายังเป็นตัวของตัวเองได้ถึงแม้จะต้องปรับอะไรบางอย่าง ถ้าเรารู้ว่าเรามีจุดยืนยังไง ด้วยความที่ความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่เราต้องการ
ถ้าเรายอมบ้าง ปรับตัวให้เป็นไปตามนั้นบ้าง แล้วสิ่งนั้นช่วยลดความขัดแย้งระหว่างเรากับเขาได้ คงเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ
อยู่ในสังคมที่ต้อง ยอมโดนกด กระทบใจยังไงได้บ้าง?
1.Low self-esteem
2.เครียด กังวล ซึมเศร้า
3.หลงลืมตัวตน
4.ขัดขวางการพัฒนา
สังคมแบบไหนที่เหมาะกับเรา?
จะต้องค้นหา ลองผิดลองถูก แต่เราจะไปลองผิดลองถูกไม่ได้ถ้ายังไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นยังไง เพราะงั้นลองค้นหาตัวเองก่อนที่จะค้นหาสังคมที่น่าจะเข้ากับเราได้
เราไม่สามารถตัดสินได้ว่าคนนี้เข้ากับเรา กลุ่มนี้โอเคได้ภายในวันเดียว อาทิตย์เดียว เดือนเดียว เราต้องใช้เวลาในการศึกษาและจูนเข้าหากัน ลองรีเช็คตัวเองว่า เราเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ไหมเวลาอยู่กับเขา
เช่น เราสามารถอยู่เฉยๆแบบเงียบๆ กับเขาได้ สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้แบบไม่กดดันหรืออึดอัดว่าต้องคุยนะ ต้องชวนทำนู่นทำนี่นะ เพราะทุกคนมีช่วงเวลาที่ต้องการชาร์จแบต
ถ้าเราสามารถใช้เวลาร่วมกันได้ในช่วงเวลาชาร์จพลังงานนั้นได้ เเสดงว่าเราอาจจะเจอเพื่อนที่เหมาะกับเราและคลิกกับเราแล้วก็ได้
ไม่อยาก ยอมโดนกด ทำอย่างไรดี?
1. ยึดมั่นในตัวตนของตัวเอง
สิ่งที่สำคัญคือตัวตนของเรา บางครั้งเราไปโฟกัสที่ว่าเราต้องมีเพื่อน มีสังคม จนเปลี่ยนตัวตนของตัวเอง เเน่นอนว่าเราจะไม่มีความสุข เช่น เราเป็นคนที่ชอบเที่ยว ชอบปาร์ตี้แต่เรายอมไปเข้าห้องสมุด
อ่านหนังสือ ทุกวัน มันก็มีข้อดีแหละแต่นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เเล้วไปทุกวัน แน่นอนว่าเราคงอึดอัดใจแน่ๆ หรือกลับกันเราไม่ชอบปาร์ตี้เลย แต่ยอมไปกับเพื่อนที่ชอบ ตัวตนที่แท้จริงของเราก็จะค่อยๆจางลง
เราอาจจะทึกทักไปเองว่าสิ่งนี้คือตัวตนของเรา แต่ลึกๆ เเล้วเราไม่ชอบเลย ไม่มีความสุขเลย
2. เช็คก่อนว่าเรา Toxic ไหม หรือกลุ่มนี้ไม่เหมาะกับเรา
บ่อยครั้งเราพุ่งโฟกัสไปที่คนอื่นจนลืมโฟกัสตัวเอง บางทีในจุดบางจุดของเราเพื่อนอาจจะไม่ชอบ มันอาจจะ Toxic ก็ได้ ซึ่งมันเกิดขึ้นได้นะ ไม่ผิดเลย ถ้าเรารับรู้ได้มันก็จะดีต่อตัวเราและความสัมพันธ์ระยะยาว
แต่เราเช็คแล้วมันไม่ใช่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าสังคมนี้ไม่คลิกกับเรา
3. ให้คิดว่าในวันนึงเราจะเจอเพื่อนที่ดีของเราเอง
เราเจอคนที่หลากหลายมากๆในชีวิต มีเข้ามาเเล้วก็ออกไป ถ้าเราเจอคนที่ไม่ใช่ หรือคนนี้เคยสนิทมากๆ วันนี้ไม่ใช่แล้ว ให้คิดว่า ไม่เป็นไร ในชีวิตเราจะเจอคนอีกเยอะมากเลย
ถือว่าเป็นการเรียนรู้คนว่าคนนี้เป็นยังไง เพื่อนเป็นเเบบไหน เมื่อยังไม่เจอคนที่ใช่ก็อย่าพึ่งปิดตัวเอง เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำความรู้จักคนใหม่ๆ เวลาที่เราทำความรู้จักกับใครสักคน
อย่าเพิ่งรีบเร่งว่าจะต้องเป็นเพื่อนสนิท ค่อยๆศึกษาเรียนรู้ ไม่แน่ว่า ในวันหนึ่งเราอาจจะเจอกับเพื่อนซี้ที่เราแปลกใจว่าเราสนิทใจกับเขาได้ขนาดนี้เลยเหรอก็ได้นะ
4. สังคมเป็นแค่ส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต
ถึงแม้มนุษย์จะเป็นสัตว์สังคม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกนี้ ยังมีอะไรอีกเยอะให้ได้เรียนรู้ เรื่องสังคมก็เช่นกัน ค่อย ๆ เรียนรู้และปรับตัวไปเรื่อย ๆ ตามสถานการณ์
5. กล้าที่จะสื่อสารขอความช่วยเหลือ
เพราะหลาย ๆ ครั้งการโดนกด เป็นการถูกกระทำแย่ ๆ ไม่ให้เกียรติ ถ้าเรารู้ว่าเรากำลังเผชิญอยู่กับสิ่งนี้และไม่สามารถจัดการได้ การสื่อสารขอความช่วยเหลือจากคนอื่นไม่ใช่เรื่องผิด
รับมืออย่างไร? กับความรู้สึกแปลกแยก ถ้าเราไม่ ยอมโดนกด
1. ทบทวนตัวเอง
ถามตัวเองว่าว่าสังคมที่อยู่ตอนนี้ใช่สำหรับเราไหม? ถ้าเราแน่ใจแล้วว่าการเป็นตัวของตัวเองของเราไม่ได้มีพฤติกรรมอะไรที่เดือดร้อนคนอื่น การโทษตัวเองอย่างเดียวว่าเราไม่ใช่กับสังคมนี้เพราะเราผิดปกติ อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีเสมอไป
2. เพิ่มทางเลือกในการหาข้อสรุปให้ตัวเอง
บางครั้งเราอาจจะเชื่อไปว่า เราแปลกแยกแบบนี้อยู่คนเดียว ทั้งที่ความรู้สึกนี้อาจไม่ใช่เรื่องจริง อาจจะมีคนที่เป็นแบบเราอีกมากมายแต่เขาแค่ไม่พูดออกมาหรือเราไม่ได้มีโอกาสไปทำความรู้จักเขา เราเลยไม่รู้ เพราะงั้น การเพิ่มทางเลือกในการหาข้อสรุปให้ตัวเองอาจจะทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นได้เยอะเลย
ที่มา :
Conformity: Why Do People Conform?
Causes of Conformity
Maslow’s Hierarchy of Needs
Approval-Seeking Behavior: Signs, Causes, and How to Heal
Post Views: 2,182