เวลาที่เรามีเรื่องให้คิด จนความคิดกลายเป็นความเครียด หยุดคิดไม่ได้ และความคิดเป็นสาเหตุหนึ่งถ้าเรามีมาก ๆ จะนำไปสู่การกระทบลักษณะทางกายที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่อยากทำอะไรเลย หมดแรงที่จะทำไปหมดทุกสิ่งอย่าง
บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยในทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ
เป็นเรื่องธรรมดาของคนเราที่จะมีกระบวนการความคิด แต่การหยุดคิดไม่ได้อาจแตกต่างกัน การเป็นคนคิดมาก คิดอยู่กับเรื่องเดิม ๆ มีความคิดมากเกินความจำเป็นที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะคิดเกี่ยวกับเรื่อง เรียน การทำงาน แฟน หรือครอบครัว
การคิดมากมักเกิดจากความคิดด้านไม่ดี เอาเข้ามาคิดวนซ้ำกับเหตุการณ์ที่ไม่ดี หรือเอาความคิดอนาคตที่ยังไม่เกิดนำมาคิดวนอยู่แบบนั้น
สำรวจตัวเองว่าความคิดที่ก่อให้เกิดความเครียดนั้นเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน หยุดคิดไม่ได้ ส่งผลอะไรกับเราหรือเปล่า?
1. ความคิดมากนั้นเริ่มกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน คิดมากจนไม่กล้าตัดสินใจอะไรเลย สาเหตุหลัก ๆ เกิดจากการกลัวว่าคนอื่นจะพูดถึงเรายังไง ตัดสินใจเราแบบไหน เกิดจากการคิดทบทวนกับสิ่งที่จะทำให้ออกมาสมบูรณ์แบบ
พอออกมาไม่ถูกใจก็ผิดหวังกับตัวเอง มักเลือกคิดสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ บ่อยครั้ง จนกลายเป็นนิสัยของตัวเอง
2. ย้ำคิดย้ำอยู่กับความคิดของตัว เช่น ถ้าทำแบบนั้นแล้วจะเป็นแบบนี้หรือเปล่า คิดถึงแต่ความผิดพลาดของตัวเองอยู่ตลอดเวลา คิดว่าคนอื่นจะคิดกับเราแบบนั้น วางแผนล่วงหน้าเกินจำเป็น ทำให้เกิดความเครียด ความกลัว ความกังวล
3. ความคิดที่เกิดจากการคิดถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น หรือคาดว่าอะไรจะเกิดขึ้น ความกังวล คิดเรื่องนั้นวนไปวนมา มากเกินไป จนกังวลไปกับทุกอย่างและจับต้องไม่ได้ว่ากังวลกับเรื่องอะไร ต้องหาวิธีพยายามดูแลตัวเองให้มากขึ้น
4. คิดมากจนกลายเป็นความเครียด ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ร่างกายของเราก็จะตอบสนอง เกิดกับคนคิดมากที่ไม่สามารถหยุดคิดหรือควบคุมความคิดตัวเองได้ รู้สึกเหนื่อย นอนไม่พอ สมาธิลดลง วางแผนอะไรก็ทำไม่ได้อย่างที่เป็น
“ลักษณะของคนคิดมากแบบนี้ต้องรีบกลับมาดูแลตัวเอง ใส่ใจตัวเองให้มากยิ่งขึ้น”
การคิดมากส่งผลต่ออาการทางกาย
สัญญาณเตือนที่ชัดเจน คือ อาการทางกายของเรา เช่น เราจดจ่อกับบางสิ่งบางอย่างไม่ได้ นอนไม่ค่อยหลับ เหนื่อยง่าย ทำอะไรได้แค่นิดเดียวก็ไม่อยากทำอะไรแล้ว
สัญญาณนี้อาจเป็นการบ่งบอกว่านี่คือภาวะของการคิดมาก ผ่านระบบทั้งห้าของเรา ว่าเรากำลังมองอะไรอยู่ ได้ยินเสียงอะไร อะไรที่เกิดขึ้นกับเรา ณ ตอนนี้ เพื่อดึงความคิดของตัวเองให้ช้าลง
ความคิดของเราจะชัดเจนมากขึ้นเมื่ออยู่กับปัจจุบัน
พยายามดึงตัวเองมา ณ ขณะนั้นให้มากที่สุด หรือการฝึกหายใจ ค่อย ๆ ปล่อยออก เพื่อให้ร่างกายของเราสงบลง กลับมาอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น ความคิดของเราจะชัดเจนมากขึ้น ดูว่าอะไรเกิดขึ้นและเราสามารถควบคุมได้หรือไม่สามารถควบคุมได้
เลือกเอาที่เราสามารถควบคุมได้มาจัดการก่อน ค่อย ๆ ปล่อยไปทีละเรื่อง เลือกทำสิ่งที่เราสามารถจัดการได้ก่อนอะไรที่จัดการไม่ได้วางลงไว้ค่อยจัดการทีหลัง
ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากการฝึกฝน ว่าเราพร้อมที่จะรู้ทันความคิดของเราแล้วหรือยัง ไม่ว่าจะคิดถึงอดีตหรืออนาคต ลองหากิจกรรมที่ทำให้เราผ่อนคลายกับสิ่งนั้น เพื่อดึงตัวเองออกมาจากความคิดวกวนตรงนั้น แล้วค่อย ๆ มาฝึกกับตัวเอง
แต่ถ้าไม่มีวี่เววว่ามันจะดีขึ้นได้เลย อาจจะต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เพื่อควบคุมความคิดของเราให้ออกมาดีที่สุดค่ะ
Post Views: 3,746