ความเหนื่อยที่ไม่ใช่แค่ความเหนื่อย ไม่ทำอะไรก็รู้สึกเหนื่อย อยู่เฉยๆ ก็เหนื่อย (TATT)
ความรู้สึกเหนื่อยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติในทุก ๆ วัน แต่มันก็จะหายไปเมื่อเราพักผ่อนให้เพียงพอหรือจะหายไปเมื่อเราได้อยู่กับอะไรที่สบายใจ แต่รู้ไหมว่ามีความเหนื่อยที่พักเท่าไหร่ก็ยังเหนื่อยอยู่ดี
เหมือนความเหนื่อยนี้เป็นซูชิสายพานทีไหลมาเรื่อย ๆ แล้วบางทีก็ตอบไม่ได้ด้วย ว่าเหนื่อยกับเรื่องอะไรอยู่ แค่อยู่เฉย ๆ ก็เหนื่อย อยากจะพาทุกคนมารู้จักกับ TATT หรือ Tired All the Time Syndrome
TATT ( Tired All the Time Syndrome )
TATT เป็นคำที่ย่อมาจาก Tired All the Time หรือถ้าเเปลเป็นไทยคืออาการ “เหนื่อยตลอดเวลา”
เป็นโรคที่ได้รับการรับรองทางการแพทย์แล้วว่าพบได้กับทุกเพศ ทุกวัย (แต่จากงานวิจัยพบว่ามักพบ TATT ในเพศหญิง เนื่องจากต้องทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน)
เช่น ออกไปทำงานนอกบ้าน กลับบ้านมาเลี้ยงลูกและดูแลสามี เป็นความเหนื่อยที่วนลูปทุก ๆ วัน
TATT มักถูกมองว่าเป็น “น้องชาย” ของกลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome) กลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรังจะมีอาการเหนื่อยล้าต่อเนื่องหลายปี
แต่ TATT จะเป็นเวอร์ชั่นที่ซอฟต์กว่า โดยอาการหลักของ TATT คือ เหนื่อยตลอดเวลา พักเท่าไหร่ก็ยังเหนื่อย ไม่มีสมาธิ รู้สึกอ่อนเพลียอย่างต่อเนื่อง ตัดสินได้ใจช้าลง และกระทบกับชีวิตประจำวัน
อาการอ่อนล้าเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome)
อาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง Chronic Fatigue Syndrome (CFS) เป็นโรคที่ค่อนข้างจะซับซ้อน มีอาการเหนื่อยล้าอย่างรุนแรงซึ่งกินเวลานานอย่างน้อย 6 เดือน
และไม่สามารถอธิบายได้อย่างเต็มที่จากภาวะทางการแพทย์ โดยสาเหตุก็ไม่ทราบแน่ชัดเหมือนกัน ทางการแพทย์ได้กล่าวไว้ว่าอาจจะมาจากความเครียด
ความเหนื่อยล้าหลาย ๆ ปัจจัยรวมกัน อาจจะมาจากอาการเจ็บป่วย หรือฮอร์โมนต่าง ๆ ทางร่างกายซึ่งจะรุนแรงมากกว่า TATT ความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นเมื่อพักผ่อนแล้วก็ไม่รู้สึกดีขึ้นเลย
เหนื่อยตลอดเวลา (TATT) เกิดจากอะไร
1. การทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง
- การกินน้ำน้อยเกินไป
- การทานโปรตีนน้อยเกินไป
- การทานคาร์โบไฮเดรตน้อยหรือมากเกินไป
- การพึ่งคาเฟอีน
- การรับประทานอาหารที่ไม่สมดุล
2. ชีวิตประจำวัน
- การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวันและแทบจะไม่มีเวลานอนเลย
- หรือการทำงานเป็นกะ กระทบทั้งการกิน การนอน การใ้ช้ชีวิต
- การไม่ออกกำลังกาย
- นอนไม่หลับ
- อดนอนทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียได้
- นอนน้อย
3. ความเครียด
การที่เรามีความเครียดมากเกินไปทำให้อะดรีนาลีนสูบฉีด ซึ่งจะทำให้ตื่นตัว เสียพลังงานและทำลายความสงบในจิตใจ นำไปสู่ เหนื่อยตลอดเวลา (TATT) ในท้ายที่สุด
อาการ เหนื่อยตลอดเวลา (TATT)
- ขาดพลังงาน เหนื่อยเเละเพลียตลอดเวลา บางครั้งก็เหนื่อยแบบไม่มีสาเหตุ
- รู้สึกง่วงนอนตลอดทั้งวัน นอนเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม
- สูญเสียแรงจูงใจ หมด Passion
- ทุกข์ใจจากการขาดสมาธิ
- มีปัญหาในการตัดสินใจ
- ประสบปัญหาการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน
- รู้สึกเศร้าหรือหดหู่แบบไร้สาเหตุ
เหนื่อย VS เหนื่อยตลอดเวลา (TATT)
ด้วยชีวิตที่วุ่นวายของผู้คนในทุกวันนี้ เป็นเรื่องปกติที่บางครั้งต้องพบเจอกับความเหนื่อยล้า หมดพลังงานในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต
อาจจะเกิดจากการทำงานหนักเกินไปหรือเกิดจากความเครียดทั่วไป แต่สิ่งนี้จะหายไปหลังจากนอนหลับและพักผ่อน
แต่สำหรับบางคน ความเหนื่อยล้านี้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพชีวิตและเป็นสาเหตุของความกังวล นี่คือสิ่งที่ เหนื่อยตลอดเวลา (TATT) แตกต่างจากความเหนื่อยโดยทั่วไป
เหนื่อย VS ขี้เกียจ
-
แยกตามช่วงเวลา
ความเหนื่อยเกิดขึ้นหลังจากการทำอะไรสักอย่างที่ยาวนาน ความขี้เกียจเกิดขึ้นก่อนที่จะทำอะไรสักอย่าง ที่เราประเมินไปแล้วว่าต้องเหนื่อยแน่ ๆ ต้องน่าเบื่อแน่ ๆ
-
แยกตามการทำกิจกรรม
เมื่อยังคงเต็มใจทำงานเมื่อและได้ทำสิ่งต่าง ๆ มากมายและรู้สึกอยากหยุดเพราะหมดแรงทั้งหมดแล้ว แสดงว่า เหนื่อย แต่เมื่อไม่เต็มใจที่จะทำอะไรแม้ว่าจะไม่เหนื่อยและไม่เป็นไร
เพราะไม่อยากทำนั่นอาจจะเป็นความขี้เกียจ หลัก ๆ เป็นเรื่องของอารมณ์
-
ขี้เกียจมักจะมาพร้อมกับกิจกรรมอะไรที่เราไม่อยากทำตั้งแต่แรก
เป็นความรู้สึกที่เกิดการความเหนื่อย เช่น ขี้เกียจอ่านหนังสือสอบ แต่พออ่านเสร็จเราเหนื่อย ขี้เกียจออกไปซื้อของข้างนอกจัง แต่พอซื้อเสร็จเราเหนื่อย
ผลกระทบเวลาที่เหนื่อยสุดๆ
ฟังก์ชันการใช้ชีวิตเปลี่ยน ความรู้สึกเปลี่ยน พลังงานเปลี่ยน เเรงกายเเรงใจสำคัญมากในการทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งความเหนื่อยก็ทำให้เราหมดทั้งแรงกายเเรงใจเลย เราทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม
เรามีแรงไปทำงานได้น้อยลง สมาธิจดจ่อน้อยลง รู้สึกเหมือนสับสวิตซ์ไปเลย จากที่เป็นคนพอจะร่าเริงบ้างแต่พอเหนื่อยมันเหมือนมีมวลพลังงานบางอย่างที่คนอื่นสัมผัสได้เลยว่าเรากำลังเหนื่อยอยู่แล้วควรต้องพักจริง ๆ
หมดแรงทั้งร่างกาย และจิตใจ ส่งผลกระทบต่อปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วยว่าเราไม่ได้เอนจอยกับพวกเขาได้
วิธีดูแลตัวเองในแบบของตัวเอง
“ลงไปจัดการ ไปรื้อความรู้สึก ไปดูสาเหตุว่าทำไมเราเหนื่อย” เหมือนเวลารถเสียหนัก ๆ ถ้าช่างมองเเค่ภายนอก มันอาจจะเเก้ได้แค่ผิวเผิน แต่สุดท้ายแล้ว มันจะกลับไปพังอีกถ้าไม่ได้ลงไปรื้อเครื่อง
หรือดูให้ละเอียด เหมือนเความรู้สึกของคนเราเลย ถ้าเราปล่อยผ่าน ไม่ดูหรือรื้อว่าสาเหตุคืออะไร เราเป็นอะไร ก็เหมือนกับการที่เราซุกขยะไว้ใต้พรม มันก็จะยังอยู่ตรงนั้นแหละ ไม่หายไปไหน เปิดมาก็ยังเจอเหมือนเดิม
“ดูแลเเค่จิตใจอย่างเดียวไม่พอ” ดูแลจิตใจแล้ว เราก็ต้องไม่ละเลยร่างกาย การที่ไม่ดูแลร่างกาย เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เราเหนื่อย ร่างกายก็สำคัญเช่นกัน
สังเกตตัวเองจากคนอื่นบอก แล้วมาทบทวนตัวเองแล้วหาสาเหตุถ้าเรารู้ว่าเราเหนื่อยในตอนนี้แต่เราไม่รู้ว่าสาเหตุมันมาจากไหน เราก็จะไม่สามารถจัดการมันได้
ไม่อยากเหนื่อยตลอดเวลาทำอย่างไรดี
จากที่เราพูดคุยกันไปว่า ความเหนื่อย คือความรู้สึกหรืออาการที่ทุกคนต้องพบเจอ แต่ความรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลาเป็นความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่
จากบทความของเว็บไซต์ Soliant ชื่อบทความว่า “6 Ways To Fight Feeling Tired All the Time” บอกว่า การเเก้ไขและป้องกันอาจจะเริ่มต้นได้ง่าย ๆ จากการปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันเล็ก ๆ น้อย ๆ
1. แยกโรคประจำตัวที่รักษา
ทางการวิจัยยังไม่สามารถระบุสาเหตุของ เหนื่อยตลอดเวลา (TATT) ได้แน่ชัด จึงจำเป็นต้องพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อแยกโรคประจำตัวที่สามารรักษาได้ออกก่อน
ความเครียด โรคหรือสภาวะต่าง ๆ เช่น โรคไฟโบรมัยอัลเจีย โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์ โรคเบาหวาน หรือความผิดปกติของต่อมหมวกไต ล้วนมีส่วนทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง
โรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea) ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของ เหนื่อยตลอดเวลา (TATT) ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อด้านหลังลำคอเสียหาย ขัดขวางทางเดินหายใจ
ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับอาจทำให้หายใจยากขณะที่หลับ ทำให้ผู้ป่วยต้องตื่นบ่อยในตอนกลางคืน เนื่องจากร่างกายตอบสนองต่อการขาดออกซิเจน
หรือกับโรคโลหิตจาง (Anemia) ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกเฉื่อยชา และความเหนื่อยล้าเป็นผลข้างเคียงของโรคโลหิตจางอีกด้วย
2. ให้การนอนหลับเป็นสิ่งสำคัญลำดับที่หนึ่ง
เราพูดกันบ่อยมาก ๆ ว่าการนอนที่ไม่มีคุณภาพส่งผลต่อพลังงานมากและแน่นอนว่าการนอนที่มีคุณภาพย่อมส่งผลโดยตรงต่อความรู้สึกมีชีวิตชีวาในการใช้ชีวิตและพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
รวมถึงส่งผลโดยตรงกับความรู้สึก “เหนื่อย” ลองสังเกตเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ดูก่อน ถ้าเรานอนหลับไม่เพียงพอ เราจะรู้สึกเหนื่อยง่ายมาก บางครั้งก็ไม่มีแรงที่จะไปทำสิ่งต่าง ๆ เท่าที่ควร
แล้วถ้าเรานอนไม่พอหรือมีการนอนที่ไม่ได้คุณภาพติดต่อกันเป็นเวลนาน อาจจะส่งผลให้เรา “เหนื่อยตลอดเวลา” และพักผ่อนเท่าไหร่ก็ไม่พอได้
ทำสิ่งนี้ให้เป็นรูทีน :
- นอน 7-9 ชั่วโมง
- สร้างสภาพแวดล้อมการนอน เช่น เตียงที่นุ่มสบาย ปราศจากแสงไฟรบกวน
- หลักเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่างๆในตอนกลางคืน เช่น คาเฟอีน แอลกอฮอล์ การดูโทรทัศน์หรือการทานอาหารหนักๆ
- หลีกเลี่ยงแสงสีฟ้า
จากการศึกษาพบว่า 71% ของคนนอนหลับโดยใช้สมาร์ทโฟน หรือวางบนตู้ข้างเตียงเป็นประจำ การใช้สมาร์ทโฟนหรือแล็ปท็อปก่อนเข้านอนจะขัดขวางกระบวนการนอนหลับตามธรรมชาติ
เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้ผลิตสิ่งที่เรียกว่า “แสงสีน้ำเงิน” ซึ่งเลียนแบบแสงแดด ทำให้กระตุ้นการตื่นตัวของมนุษย์ แสงสีฟ้า จะไปกระตุ้นสมองและยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน
ทำให้นอนหลับได้ยากขึ้น การจำกัดการใช้อุปกรณ์ที่สร้างสีฟ้าในช่วงเวลาก่อนนอนช่วยให้คุณภาพการนอนดีขึ้น
3. เติมพลังให้ตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ
อันนี้เป็นเรื่องของโภชนาการที่เหมาะสมสามารถช่วยเพิ่มพลังงานของเราได้ อาหารขควรมีความสมดุลของผลไม้ ผัก ธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ
และเนื้อไม่ติดมัน มื้อเล็ก ๆ อาจเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนที่ต้องเดินทางและมีความเร่งรีบ แต่ควรคำนึงถึงขนาดของอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มของน้ำหนัก
หากต้องการทานอาหารว่าง ให้เลือกไฟเบอร์และโปรตีนผสมกันเพื่อเพิ่มพลังงานที่คงอยู่ตลอดไป
ถ้าต้องทำงานเป็นกะ แนะนำให้ทำอาหารกลางวันเพื่อสุขภาพที่ประกอบด้วยผลไม้และธัญพืช หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารขยะ
4. อย่าปล่อยให้การที่ร่างกายขาดน้ำ
ความเหนื่อยล้าเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดว่าร่างกายอาจจะกำลังขาดน้ำ ที่สามารถส่งผลต่ออารมณ์ สมาธิและเป็นสาเหตุของการปวดหัว
การขาดของเหลวอาจทำให้ปริมาณเลือดลดลง ซึ่งหัวใจจะทำงานหนักขึ้นเมื่อต้องสูบฉีดออกซิเจนและสารอาหารไปยังสมอง ผิวหนัง และกล้ามเนื้อของคุณ
Small trick:
- ถ้าไม่สามารถดื่มน้ำ 1 แก้ว ในทุก ๆ ชั่วโมงหรือสองชั่วโมง ให้ถือขวดน้ำไว้ในมือเพื่อดื่มตลอดทั้งวัน เพื่อให้คงความชุ่มชื้นไว้ได้
- การที่จะรู้ได้ว่าดื่มน้ำเพียงพอ ลองสังเกตุสีปัสสาวะ ควรเป็นสีใสหรือสีเหลืองซีด
- “ออกกำลังกายระดับปานกลางเป็นประจำ” เช่น การยืดกล้ามเนื้อเบาๆ หรือการเดินจะทำให้ร่างกายและจิตใจกระปรี้กระเปร่า สามารถช่วยรักษาสมดุล ความแข็งแรง และความยืดหยุ่นได้
แต่อย่าออกกำลังกายก่อนนอน เพราะอาจกระตุ้นและรบกวนการนอนหลับได้ การศึกษาเรื่องการนอนหลับแสดงให้เห็นว่าผู้ที่เลือกออกกำลังกายแบบแอโรบิกระดับปานกลาง
เช่น เดินหรือวิ่งเหยาะๆ ช่วยลดเวลาที่ใช้ในการพยายามนอนหลับ ส่วนการออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นสูง เช่น การวิ่งหรือยกน้ำหนักมีผลน้อย
5. คลายเครียด (De-stress)
ความเครียดส่งผลกระทบต่อร่างกายในหลาย ๆ ด้าน และอาจจะรวมถึงอารมณ์หงุดหงิด อาการนอนหลับยาก ปวดหัว และภูมิคุ้มกันต่ำ
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและโภชนาการ Carolyn Dean อธิบายเหตุผลทางการแพทย์ที่อยู่เบื้องหลัง เหนื่อยตลอดเวลา (TATT)
ไว้ว่า “ความเครียดทางร่างกายหรือจิตใจที่เรื้อรัง จะไม่อนุญาตให้ร่างกายฟื้นตัวความเครียดจะไปกระตุ้นต่อมหมวกไตให้ผลิตฮอร์โมนความเครียด ‘คอร์ติซอล’
เพื่อให้เรามีพลังงานในการตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อเหตุการณ์ เพื่อการเผชิญหรือหลีกหนี” นั่นหมายความว่า หากปล่อยให้เราเผชิญกับความเครียดสะสม เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง ต่อมหมวกไตก็จะเกิดอาการล้าได้
6.พบผู้เชี่ยวชาญ
สุดท้ายนี้ หลังจากทำทั้งหมดแล้วยังไม่ดีขึ้น ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของอาการเหนื่อยล้าที่แท้จริงเพื่อหาทางออกอย่างเหมาะสม
ความเหนื่อย เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุปัจจัย ทางที่ดีที่สุดคือการที่เราดูแลตัวเองให้ดีทั้งร่างกายและจิตใจ การที่เราเข้าใจและรู้ลิมิตของตัวเองเป็นเรื่องที่ดี
เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้ว่าตอนนี้คือตอนที่เราเหนื่อยเกินไป ตอนนี้คือหนักเกินไป เราก็จะหันกลับมาดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม
อ้างอิง :
6 Ways To Fight Feeling Tired All The Time
Causes of Tired All The Time (TATT)
Post Views: 3,764