“ถ้าไม่ใช่ความจริง ไม่เห็นต้องไปแคร์เลย” หรือ “เขาก็พูดถูกแล้ว จะไปโกรธทำไม”
ความอยากรู้อยากเห็น คือ พลังขับเคลื่อนข่าวลือ
ในช่วงชีวิตของเรา ข่าวลือเปรียบเสมือนสายลมที่พัดผ่าน อาจเย็นสบาย หรือบางครั้งก็หนาวเยือกจนหัวใจสะท้าน
อาจจะเป็นเรื่องจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง หรืออยู่ในขอบเขตของความจริงเพียงครึ่งเดียวก็ตาม แต่บางครั้งก็ส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ตามมาได้
ไม่ว่าจะเป็นข่าวลือในแง่ใดก็ตาม เมื่อขึ้นชื่อว่าข่าวลือ เราอาจพิจารณาได้ว่า ข่าวลือนั้นเป็นสิ่งที่ทั้งมีมูลหรืออาจไม่มีก็ได้
รู้เพียงแต่ผู้เป็นเจ้าของเรื่อง คงไม่ทันได้อนุญาตให้ถูกพูดถึงในทางใดทางหนึ่ง ทำให้การพูดถึงอย่างลับหลังหรือต่อหน้าก็ดีนั้น
คล้ายกับการถูกล้ำเส้นในความรู้สึก ถึงแม้จะพูดความจริงหรือความเท็จในเชิงชื่นชมก็ตาม ก็อาจล้วนสร้างความรู้สึกแปลกใจเล็กน้อยว่ามีเหตุผลอะไรถึงได้พูดถึงเรา
แท้จริงแล้ว ข่าวลือก็ถือเป็นหนึ่งในผลผลิตของความอยากรู้อยากเห็นนั่นเอง
มันเกิดจากมุมมองที่ไม่สมบูรณ์ของผู้คน หรือการตีความที่ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริงทั้งหมด ซึ่งบางครั้งมันก็อาจสะท้อนอะไรบางอย่างในตัวเรา
แต่หลายครั้งมันก็แค่เป็นเรื่องเติมแต่งที่ขาดความหมาย แต่ถึงอย่างนั้น ความโกรธหรือความไม่สบายใจมันก็ยังคงอยู่
และจะมีวินาทีหนึ่งที่เราดันเกิดคำถามกับตัวเองว่า “แล้วจะไปโกรธทำไม?”
และวินาทีนี้นี่เอง ที่สมองกับหัวใจเริ่มแข่งขันกันทำงาน
ในมุมแรก
“ถ้าข่าวลือนั้นเป็นความจริง เราไม่ควรโกรธสิ เพราะเขาก็พูดถูกแล้ว จะไปโกรธเขาทำไม”
จากนั้นมุมที่สองก็ส่งเสียงขึ้นมาเบา ๆ ว่า “เพราะเรารับความจริงไม่ได้ไง เราถึงได้โกรธ”
ทันใดนั้น มุมที่สามก็ลุกขึ้นมาตบบ่าทั้งสองมุมแรกพร้อมพูดว่า
“พวกเธอจะโกรธคนที่พูดถึงข่าวลือที่เป็นจริงก็ได้นะ แต่สิ่งที่สมควรโกรธที่สุด คือ ข่าวลือที่ไม่เป็นความจริงต่างหาก เพราะมันทำให้เราเกิดความเสียหายได้ทั้งด้านชื่อเสียงและความรู้สึกไง”
“ไม่นะ” เสียงแว่วจากมุมที่สี่ที่นั่งฟังเพื่อน ๆ โต้เถียงกันอย่างเงียบ ๆ ได้แทรกขึ้นมาทันทีหลังมุมที่สามพูดจบ มุมที่สี่หลับตาลงและพูดด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ ต่อว่า “ก็ถ้ามันไม่ใช่ความจริง ก็ไม่เห็นต้องโกรธเลย”
สุดท้ายแล้ว จะเป็นความจริงหรือไม่ เราก็มักถูกห้ามไม่ให้รู้สึกโกรธหรือไม่ควรไม่พอใจอยู่ดี…
เราควรโกรธความจริงหรือความไม่จริง
การที่เราจะโกรธหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเจตนาของผู้พูด ไปจนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเรา หรือสภาพอารมณ์และอคติเราที่มี ณ ตอนนั้น
ถ้าเรื่องที่เขาพูดเป็นความจริง เราอาจต้องพิจารณาว่าเรื่องนั้นเป็นประเด็นที่ควรปรับปรุงตัวเองไหม
หากเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราพัฒนาตัวเอง การโกรธก็อาจไม่จำเป็น แต่ถ้าเขาพูดความจริงในลักษณะที่ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือทำร้ายจิตใจเรา การโกรธก็อาจเกิดขึ้นได้ และเป็นเรื่องธรรมชาติ
ถ้าเรื่องที่เขาพูดไม่เป็นความจริง และพูดโดยไม่มีเจตนาร้าย เช่น เข้าใจผิดหรือไม่รู้จริง การโกรธอาจไม่ช่วยอะไร
หากเราสะดวกก็ควรชี้แจงให้เขาเข้าใจ แต่ถ้าเขาตั้งใจพูดโกหกเพื่อทำลายชื่อเสียงหรือทำร้ายเรา การโกรธหรือแสดงออกเพื่อปกป้องตัวเองก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผล
หรือไม่งั้น ง่าย ๆ เลย ก่อนที่เราจะให้อารมณ์ความรู้สึกโกรธมาครอบงำจิตใจ
ลองถามตัวเองก่อนว่า การโกรธจะช่วยแก้ปัญหาไหม และเราจะสื่อสารหรือจัดการเรื่องนี้ให้เกิดผลที่ดีขึ้นได้ยังไง
เพราะสุดท้ายแล้ว การควบคุมอารมณ์และใช้เหตุผล จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นในสถานการณ์ที่ยากลำบากซึ่งจะเป็นผลดีต่อตัวเราเอง
ไม่ใช่ว่าห้ามโกรธ เราสามารถเกิดความรู้สึกไม่ดีต่าง ๆ ได้ เพียงแค่เมื่อเกิดความรู้สึกขึ้นแล้ว เราต้องยอมรับอย่างซื่อสัตย์และจัดการความรู้สึกนั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม
รับมืออย่างผู้ชนะ
เหนือสิ่งอื่นใด เราต่างรู้ดีว่าการรับรู้สิ่งต่าง ๆ อาจจะเป็นเรื่องที่ทั้งหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ได้ก็ตาม หัวใจสำคัญของการรับมือ คือ ความคิดความเข้าใจ
เราจะปล่อยวางเพื่อรักษาความสุขได้โดยการแยกแยะสิ่งที่ควรใส่ใจ เชื่อมั่นในความจริงของเรา ถ้าข่าวลือไม่ใช่ตัวตนของเรา
หรือไม่ได้ทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น ก็ปล่อยให้มันผ่านไป อย่าเอาพลังงานของเราไปเสียกับสิ่งที่ไม่สำคัญ
เพราะการที่เราเลือกให้ค่ากับข่าวลือมากเกินไป นั่นคือ เรากำลังปล่อยให้เสียงของคนอื่นมามีอำนาจเหนือความคิดความรู้สึกเรา
ดังนั้นการเลือกปล่อยวางไม่ใช่การยอมแพ้ แต่เป็นการให้คุณค่าแก่ตัวเอง และเราจะพบว่า โลกภายนอกไม่สามารถทำลายความสุขในใจเราได้
เมื่อเราไม่ปล่อยให้ข่าวลือมากำหนดอารมณ์ของเรา ถึงแม้เราจะควบคุมความคิดคนอื่นไม่ได้เป็นเรื่องปกติ
ขอแค่อย่างน้อยเราควบคุมตัวเองได้และสามารถโอบกอดความสงบ ความเป็นตัวเราได้อย่างแข็งแรงก็พอ
พร้อมกับทำความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ว่า ทุกคนล้วนมีความคิดเห็น ซึ่งความคิดเห็นเหล่านั้นก็ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงเสมอไป
ข่าวลือคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติของสังคม ถ้าเรารู้ว่าตัวเองเป็นใครและยืนอยู่บนพื้นฐานของความจริง
เราจะไม่รู้สึกสะท้านต่อคำพูดของคนอื่น การโกรธหรือพยายามแก้ไขข่าวลือจะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเสมอไป เพราะสุดท้าย เวลาจะเป็นตัวช่วยปรากฏความจริงได้เสมอ
Post Views: 19