เมื่อ เรียนใกล้จบแล้ว แน่นอนว่าหลาย ๆ คนมักจะมีคำถามเกี่ยวกับเส้นทางต่อไปเกิดขึ้นทั้งที่มาจากคนรอบข้างและตัวของเราเองว่าจะไปทำอะไรต่อ จะเรียนต่อหรือจะทำงานอะไรดี
ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะยิ่งหาคำตอบได้ยากขึ้นเมื่อเรายังไม่สามารถค้นหาได้ว่าตัวเองชอบอะไร จนกลายเป็นความเครียดและกังวล
Alljit ร่วมกับคุณกวินทิพย์ จันทนิยม นักจิตวิทยาการปรึกษา ที่จะพาคุณมาทำความเข้าใจกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่วัยรุ่นต้องพบเจอ และเรียนรู้วิธีรับมือในมุมมองของนักจิตวิทยา
เรียนใกล้จบแล้ว ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่รู้จะทำอาชีพอะไรดี
Post-Graduation Depression หรือ Post-Graduate Blues เรียนใกล้จบแล้ว เครียด
คือ ความรู้สึกว่างเปล่าหลังเรียนจบ เครียด เศร้าและกดดัน มีหลากหลายความรู้สึกประดังประเดเข้ามา ไม่รู้จะเดินไปต่อทางไหนดี ทำอะไรต่อไปดี
เป็นความรู้สึกที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงหลังจากเรียนจบ เมื่อต้องก้าวเข้าสู่วัยที่จะต้องทำงานอย่างเต็มตัว
แก้ไขความรู้สึกนี้ได้อย่างไร?
1. ทำความเข้าใจกับตัวเอง
ถึงแม้ว่าเราจะอยู่กับตัวเองตลอดเวลา แต่ในบางครั้งเรากลับไม่เข้าใจตัวเอง สิ่งที่อาจจะช่วยให้เราหาคำตอบของชีวิตได้ คือการทำความเข้าใจและสำรวจตัวเอง
เราจะได้รู้ตัวตนของตัวเราเองและเส้นทางต่อไปของเราได้ชัดเจนมากขึ้น
ให้เราลองสังเกตและสำรวจลงไปลึกๆว่าเราชอบทำอะไร มีความสุขตอนทำอะไร แล้วอะไรที่รู้สึกแย่ ไม่อยากทำ ทำแล้วทุกข์ใจบ้าง ลองลิสต์ออกมาเป็นข้อ ๆ
อาจจะรวมไปถึงจุดเเข็งและจุดอ่อนของตัวเอง ตัวตนของเราเป็นอย่างไร ตั้งแต่เรียนมามีวิชาไหนที่ชื่นชอบบ้าง วิชาไหนที่เราถนัดบ้าง
2. พิจารณาจากกิจกรรมยามว่าง
ทุกคนจะต้องมีกิจกรรมที่ชื่นชอบที่อยากทำในช่วงเวลาว่าง ๆ หรือในช่วงพักผ่อน ลองสังเกตดูว่ากิจกรรมยามว่างหรืองานอดิเรกใดที่เราชื่นชอบมากที่สุดคืออะไร
อาจจะพัฒนาจนกลายเป็นมาเส้นทางอาชีพของเราในอนาคตและมอบความสุขในการทำงานให้เราก็ได้
เช่น ชื่นชอบการอ่านหนังสือ อาจจะมาลองขายหนังสือผ่านทางออนไลน์หรือทำงานเกี่ยวกับด้านหนังสือ หรือชื่นชอบการวาดรูป ก็สามารถที่จะเปลี่ยนมาเป็นอาชีพหลักได้เช่นเดียวกัน
3. ลองเพิ่มเป้าหมายให้ตัวเอง
เพื่อที่จะทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ ทำให้เรามีแรงกระตุ้นในการพัฒนาตัวเอง ให้สามารถทำงานได้อย่างมั่นใจและประสบความสำเร็จ
อาจจะเป็นการเริ่มต้นจากเป้าหมายเล็ก ๆ เช่น ทดลองทำงานให้ผ่านโปร, จะต้องทำงานให้ครบ 1 ปีให้ได้ หรือ ตั้งเป้าหมายสำหรับ 3 ปีแรกของชีวิตการทำงาน
4. ระบายหรือทำแบบสอบถาม MBTI (แบบทดสอบบุคลิกภาพ)
การปรึกษาและระบายความรู้สึก ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับตนเอง แต่การได้มองเห็นตัวเรามีมุมมองของคนอื่น ๆ ก็จะช่วยให้เรามีไอเดียและผ่อนคลายความรู้สึกที่หนักอึ้งไปได้บ้าง
การได้ระบายความรู้สึกที่กำลังท้อแท้และหาทางออกไม่ได้ ก็จะช่วยให้เราสามารถเบาใจและลดภาระในจิตใจให้น้อยลง หรือในอีกทางหนึ่งคืออยากให้ลองทำแบบทดสอบความถนัดเกี่ยวกับสายอาชีพดูก็ได้
ซึ่งปัจจุบันนี้สามารถหาแบบทดสอบทำได้ง่าย ๆ บนอินเทอร์เน็ต แบบทดสอบเหล่านี้จะช่วยให้แต่ละบุคคลได้ทราบถึงบุคลิกภาพ
ความถนัดที่แท้จริงของตัวเองว่าแต่ละบุคคลนั้นมีความถนัดด้านไหนเป็นพิเศษและเหมาะที่จะประกอบอาชีพอะไร
5. พยายามไม่เปรียบเทียบตัวเองกับใคร
ในหลาย ๆ ครั้งที่เกิดความเครียดเพิ่มมากขึ้น เมื่อเรานำสิ่งเหล่านี้ไปเทียบกับคนอื่น เช่น ทำไมเพื่อนถึงมีอาชีพที่จะทำแล้ว, ทำไมรุ่นพี่เรียนจบแล้วถึงประสบความสำเร็จเร็วจัง
ไม่ว่าการเปรียบเทียบที่เกิดขึ้นจะเกิดจากความคิดของตัวเราเองหรือคนรอบข้างที่มาเริ่มต้น ให้บอกกับตัวเองเสมอว่า
ทุกคนล้วนมีช่วงเวลาที่ผลิบานแตกต่างกัน เส้นทางชีวิตของเรายังอีกยาวไกล ถึงแม้จะไม่สามารถหาคำตอบได้ตอนนี้ แต่ในช่วงเวลาหนึ่งที่ถึงเวลาของเราแล้ว
จะต้องสามารถเลือกเส้นทางที่ใช่และเจอหนทางที่เป็นตัวเองได้แน่นอน การที่เราไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใครก็อาจจะเพิ่มพลังบวกให้กับตัวเราได้เหมือนกัน
6. เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ตัวเองบ้าง
เพื่อให้เราสามารถค้นหาสิ่งที่ชอบและเส้นทางที่ใช่ได้มากขึ้น บางทีการทำอะไรแบบนี้อาจจะทำให้เราได้เห็นถึงความสามารถและประสิทธิภาพของตนเองด้วย
เราอาจจะเจอความชอบ ความถนัด หรืออาชีพที่เหมาะกับตนเอง อาจจะเป็นการออกไปทำงาน การไปงานเวิร์คช็อปและสัมมนาต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เราสามารถมองเห็นภาพในอนาคตได้ชัดเจนยิ่งกว่าเดิม
การได้ลองทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างจะช่วยให้เราได้ค้นพบว่าสิ่งไหนที่เราทำได้ดีหรือทำแล้วรู้สึกว่าถนัดและมีความสุข
ถ้าเราไม่ลองทำก็ไม่รู้เลยว่าจะเป็นอย่างไร จะทำสิ่งนั้นได้ดีหรือไม่ ลองทำกิจกรรมหลายอย่างแล้วเราจะค้นพบด้วยตัวเราเองว่าสุดท้ายแล้วเราชอบหรือถนัดสิ่งไหน เราจะเป็นคนที่ตอบตัวเราเองได้ดีที่สุด
Post Views: 4,513