เศร้า อกหัก ผิดหวัง

เศร้า อกหัก ผิดหวัง ในมุมของจิตแพทย์

เรื่องAdminAlljitblog

“เศร้า อกหัก ผิดหวัง” เป็นเรื่องปกติ แต่หากว่าความรู้สึกเหล่านี้มาเยี่ยมเยียนบ่อย ๆ คงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก

 

พบผู้เชี่ยวชาญได้หรือไม่  รับมือเบื้องต้นอย่างไร มาหาคำตอบกับรายการพูดคุย Alljit X น.พ.ณัฏฐชัย รำเพย จิตแพทย์ 

 

 

เศร้า อกหัก ผิดหวัง อารมณ์ปกติที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ

ความเศร้า ผิดหวัง หรืออกหักเป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์ที่มนุษย์ทุกคนสามารถสัมผัสได้ ไม่ว่าจะเป็นการเสียคนรัก การล้มเหลว หรือการสูญเสียสิ่งสำคัญในชีวิต แต่ละเหตุการณ์มีผลกระทบทางอารมณ์

 

และระยะเวลาความเศร้า ที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับคุณค่าที่เราให้กับสิ่งเหล่านั้น  แม้ความเศร้าจะไม่มีระยะเวลาที่ชัดเจน แต่สิ่งที่สำคัญคือการสังเกตผลกระทบที่มีต่อ “ฟังก์ชันชีวิต”

 

เช่น การทำงาน การเข้าสังคม หรือการดูแลตัวเอง หากสิ่งเหล่านี้ลดลงอย่างมาก อาจเป็นสัญญาณที่ควรหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

 

 

 การปรึกษาจิตแพทย์  

การปรึกษาจิตแพทย์ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องมีโรคทางจิตเวชเสมอไป หลายคนที่มาปรึกษาเกี่ยวกับความเสียใจหรื ออกหักอาจไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค 

 

แต่เลือกที่จะพูดคุยเพื่อหาทางออกที่สมดุลและช่วยเยียวยาจิตใจ  การคุยกับจิตแพทย์แตกต่างจากการปรึกษาเพื่อนหรือครอบครัว เพราะแพทย์มีความเป็นกลาง ไม่มีอคติ

 

และสามารถช่วยวางแผนแก้ปัญหาในเชิงลึก รวมถึงการเข้าใจต้นเหตุของความรู้สึก ข้าใจความเข้าใจปัญหา เพื่อการเยียวยาที่แท้จริง

 

 

ขั้นตอนการดูแลจิตใจเมื่อเจอความเศร้า

 

1. ยอมรับความรู้สึกของตัวเอง 


การปฏิเสธหรือกดดันตัวเองให้หายเศร้าเร็วเกินไปอาจนำไปสู่ “ความทุกข์ซ้ำซ้อน” เช่น โกรธตัวเองที่ยังเศร้า

 

หรือกดดันตัวเองจนรู้สึกแย่กว่าเดิม ยอมรับว่าความเศร้าเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติและเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์

 

2. สำรวจเสียงของหัวใจ


ถามตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการจากเหตุการณ์นี้ เช่น ถ้าอกหัก อาจรู้สึกอยากได้คนรักกลับมา แต่ต้องถามตัวเองให้ลึกลงไปว่า “ทำไมถึงอยากได้เขากลับมา?”

 

บางคนอาจตอบว่าเพราะรู้สึกไม่มีค่าเมื่อไม่มีเขา หรือบางคนรู้สึกเหงา ความเข้าใจนี้จะนำไปสู่ทางออกที่เหมาะสม เช่น การเสริมสร้างคุณค่าของตัวเอง หรือหาเพื่อนฝูงมาช่วยลดความเหงา

 

3. ดูแลตัวเองในขั้นที่ทำได้ 


ไม่จำเป็นต้องบรรลุทุกอย่างในทันที หากยังไม่พร้อมที่จะยอมรับความรู้สึกลึกๆ เช่น รู้สึกไร้ค่า ก็สามารถดูแลตัวเองในระดับพื้นฐานก่อน เช่น ดูแลความเศร้าในขณะนั้น หรือปลอบใจตัวเอง

 

4. อดทนและให้เวลา


แม้การยอมรับความรู้สึกจะยาก แต่การฟังหัวใจตัวเองอย่างแท้จริง และค่อยๆ ดูแลจิตใจจะช่วยให้เราเดินผ่านความเศร้าไปได้ โดยไม่ต้องเร่งรัดตัวเองเกินไป

 

 

กายกับใจความเชื่อมโยงที่แยกกันไม่ออก

ความเจ็บปวดทางใจ เช่น อกหักหรือความเสียใจ สามารถรู้สึกได้เหมือนเจ็บปวดทางกาย มีการวิจัยพบว่า สมองของคนที่เจ็บปวดทางจิตใจมีการทำงานในส่วนเดียวกับคนที่เจ็บปวดทางกาย

 

นี่คือเหตุผลว่าทำไมความเศร้าถึงมีผลกระทบต่อร่างกาย เช่น ปวดท้อง เครียดจนคลื่นไส้ หรือเจ็บหัวใจ ดังนั้น การดูแลจิตใจจึงสำคัญเทียบเท่าการดูแลร่างกาย

 

 

บทความอื่น ๆ ของ ALLJIT BLOG