คนเฮฮา

คนที่เห็น ร่าเริง เฮฮา เขาจะเป็นโรคซึมเศร้าได้จริงหรอ?

เรื่องAdminAlljitblog

คนที่แสดงออกว่า เฮฮา ร่าเริง ดูมีความสุข เขาจะเป็นโรคซึมเศร้าได้จริงๆหรือเปล่า? บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยในทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ ไขข้อสงสัย คนที่เฮฮาเป็นซึมเศร้าได้จริงๆหรือ?

โรคซึมเศร้าไม่ได้แปลว่าเขาจะต้องนั่งร้องไห้ เศร้า เสียใจ อยู่ตลอดเวลา…

 

เวลาที่เราพูดถึงโรคซึมเศร้าใครหลาย ๆ คนมักจินตนาการว่าคงมีแต่ภาวะอารมณ์เศร้า หดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่อยากทำอะไรเลย ไม่อยากไปไหนหรือเจอใคร เบื่ออาหาร

 

แต่ในความเป็นจริงแล้วอาการของโรคซึมเศร้าในแต่ละคนจะมีอาการแสดงที่ปรากฏขึ้นค่อนข้างแตกต่างกัน ไม่ได้แปลว่าเขาจะต้องนั่งร้องไห้ เศร้า เสียใจ อยู่ตลอดเวลาหรือตลอดทั้งวัน

 

เพียงแค่อาจจะมีช่วงเวลาที่เขามีความรู้สึกและมีอารมณ์แบบนั้น ขณะเดียวกันเขาก็ยังใช้ชีวิตของเขาต่อไปได้บางคนยังคงไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ แม้กระทั่งยังคงทำหน้าที่ในครอบครัวได้ดี 

 

พูดถึงโรคซึมเศร้าอาจจะเกิดจากอาการหลัก ๆ ที่เรียกว่าภาวะอารมณ์เศร้าที่เด่นชัดอย่างมาก ทำให้เข้าไปกระทบบางอย่างในเรื่องของการดำเนินชีวิตบ้าง การทำงานบ้างจนทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา

คนที่ เฮฮา สนุกสนานจะเป็นภาวะซึมเศร้าได้หรือเปล่า?

การที่เขายังยิ้มและหัวเราะเฮฮาอยู่ในโลกที่เจอคนเยอะ ๆ นั้นไม่ได้แปลว่าเขาจะไม่มีช่วงเวลาของการเกิดภาวะอารมณ์เศร้า แต่มันอาจจะเกิดจากการที่เขาพยายามสร้างกลไกการป้องกันตัวเอง

 

เพื่อให้ตัวเขาเองไม่ต้องเปิดเผยความรู้สึกเจ็บปวดหรือความทุกข์ใจออกมา กับบางคนการยิ้ม การหัวเราะ หรือการพูดคุยที่ดูสนุกสนาน เขาอาจจะพยายามสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาเพื่อให้คนอื่นไม่มองว่าเขาคือคนอ่อนแอ 

 

ในชีวิตประจำวัน ณ ปัจจุบันของเราตอนนี้ ความเครียดความกดดันหลาย ๆ อย่างทวีคูณขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการที่เราอยู่ในสถานการณ์ Covid 19 แบบนี้

 

การถูกจำกัดพื้นที่หรือการถูกจำกัดการทำกิจกรรมที่ทำให้เราได้ผ่อนคลาย ก็ส่งผลให้ความสุขในแต่ละวันลดน้อยลงเกิดเป็นความเครียดเพิ่มขึ้น

 

และเวลาที่เราเครียดมาก ๆ ต้องทำการสังเกตุตัวเองว่าจริง ๆ แล้วบางทีเราดูไม่มีความสุขเลยไม่สนุกสนานเลยแต่ไม่ได้แปลว่าตัวเราเองป่วยซึมเศร้า

 

ขณะเดียวกันคนที่เขามีภาวะซึมเศร้าหรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็ไม่จำเป็นที่ตัวเขาเองจะต้องอยู่ในภาวะอารมณ์เศร้าตลอดเวลา

 

จะมีช่วงเวลาที่เรียกว่าเศร้ามาก ๆ หรือบางช่วงเวลาเขาก็สามารถจัดการตัวเองได้ดีมาก ๆ เช่นกัน เมื่อเกิดเป็นภาวะอารมณ์เศร้าบางคนก็เลือกที่จะร้องไห้ บางคนอาจจะเลือกคุยกับใครสักคนหนึ่ง

 

บางคนใช้วิธีการเขียนระบายความรู้สึกของตัวเองออกมา

 

แต่กับบางคนก็เลือกที่จะ “ยิ้มเพื่อกลบเกลื่อนความรู้สึกจมดิ่งในจิตใจของตัวเอง”

ซึมเศร้าแต่ไม่แสดงออก

ความเศร้าทั่วไปอาจจะมีความหมองหม่นมีความหดหู่ มีลักษณะอารมณ์บางอย่างที่ปราศจากรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ แม้กระทั่งน้ำตาที่ไม่ไหลออกมาอย่างที่ใครหลายคนจินตนาการไว้

 

ความเศร้าอาจจะไม่ได้ถูกแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาซะทีเดียว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจิตใจของเขาไม่มีความรู้สึกเศร้าเพียงแต่เป็นการปกปิกความรู้สึกบางอย่าง

 

คนที่เฮฮาและสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนอื่น บางทีที่เขาอยู่คนเดียวไม่ได้มีสิ่งแวดล้อมอะไรที่จะต้องปกปิดแล้ว เขาก็จะกลับมาเป็นตัวของตัวเอง อารมณ์เศร้าเหล่านั้นก็อาจจะกลับมาครอบงำเขาได้อีก

 

อารมณ์จมดิ่ง ความเจ็บปวดภายในจิตใจ ก็จะฉายภาพขึ้นมาอย่างชัดเจนเวลาที่เขาจะต้องอยู่คนเดียว ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วภายในจิตใจของคนนั้น เราไม่สามารถมองเห็นได้เลยในวันที่เขายิ้ม หัวเราะ หรือกำลังร่าเริงว่าลึก ๆ เขาคิดอะไรรู้สึกอะไรอยู่

 

ความคิดในใจไม่ได้มีแค่เรื่องที่เราจะต้องแสดงออกอย่างไร แต่การที่เรารู้สึกหรือคิดอะไรนั้น หลายคนก็เลือกที่จะเก็บไว้ภายในเหมือนกัน

 

เวลาที่เราพูดถึงคนที่ยิ้มแย้มมากที่สุดในกลุ่มก็มักจะคิดว่าเขาไม่น่าจะมีอารมณ์เศร้าเลย เขาน่าจะมีความสุขตลอดเวลา สนุกสนานได้ตลอดเวลา

 

แต่อย่าลืมไปว่าจิตใจคนเรานั้นอยากแท้หยั่งถึงและซับซ้อนอย่างมาก การที่เขายิ้ม หัวเราะ สร้างเสียงหัวเราะให้กับเรา ไม่ได้แปลว่าเวลาที่เขาอยู่คนเดียวเขาจะเป็นแบบนั้นด้วย

คนที่ยิ้ม เฮฮา ภายใต้ความรู้สึกเศร้าอาจจะไม่แสดงความเศร้าออกมาอย่างชัดเจน

แต่ตัวเขาเองอาจจะรู้สึกว่าการกลบเกลื่อนความรู้สึกเหล่านี้ เป็นวิธีเยียวยาจิตใจที่ดีที่สุด ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ผิดหรือถูกต้อง 100% แต่ช่วยให้สามารถก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นไปได้

 

คนที่มีอาการของการยิ้มเพื่อกลบเกลื่อนความเศร้าหรือความเสียใจของตัวเอง การที่เขาพยายามที่จะแอบแฝงตัวเองแบบนั้น เพราะตัวเขาเองพยายามกดทับความรู้สึกบางอย่างที่้อัดแน่นหรือรุนแรงมาก ๆ ในจิตใจ

 

และไม่อยากให้ใครเห็นตรงนั้นเลย บางคนทำแบบนี้เพื่อที่คนอื่นจะไม่มองว่าเขาเป็นภาระหรือทำให้เขารู้สึกไม่มีคุณค่า

 

บางคนทำเพื่อไม่ให้คนอื่นรู้สึกแย่ บางคนกลัวมากที่จะถูกตัดสินจากคนอื่นกลัวจะถูกมองว่าเรียกร้องความสนใจ บางคนก็เลือกที่จะยิ้มเพราะมองว่าการแสดงออกว่าเศร้าคือความอ่อนแอ

 

การสร้างกลไกการป้องกันตัวเองแบบนี้จะทำให้เขารู้สึกดีกว่าการแสดงความรู้สึกที่แท้จริง

 

ไม่เพียงแต่คนที่เป็นโรคซึมเศร้าเท่านั้น ในขณะเดียวกันหากเราลองสังเกตุตัวเองบางทีเราก็สร้างรอยยิ้มเพื่อกลบเกลื่อนบางอย่างในจิตใจ

หากเราสับสนตัวเองว่า เราเป็นโรคซึมเศร้าหรือกลบเกลื่อนความรู้สึกอยู่หรือเปล่า

การพบผู้เชี่ยวชาญก็จะสามารถทำให้เราเข้าใจได้ว่า ในวันที่เราเศร้ามาก ๆ เพราะอะไรเราถึงเลือกที่จะยิ้มยังหัวเราะไปกับมันได้ สิ่งสำคัญนั้นคือการรักษาจิตใจของตัวเราเอง

 

ลองพยายามหาสิ่งที่เราชอบทำหรือรู้สึกว่าเราอยู่กับอะไรแล้วรู้สึกสบายใจ ก็เลือกกิจกรรมนั้นมาช่วยให้เรารู้สึกสบายใจมากขึ้น

 

อารมณ์เศร้าเป็นเพียงความรู้สึกนึงของมนุษย์ ซึ่งไม่ได้แปลว่าทุกคนที่มีอารมณ์เศร้าแล้วจะแสดงออกในลักษณะเดียวกัน แต่ละคนจะมีวิธีจัดการอารมณ์ของตัวเองที่ค่อนข้างแตกต่าง การยิ้ม การหัวเราะ และการสร้างความเฮฮาให้กับใครหลายคน

 

ก็อาจจะเป็นวิธีการที่เขาเยียวยาจิตใจตัวเองด้วยเช่นเดียวกัน…

Related Posts