โตก่อนวัย

โตเกินความรับผิดชอบที่แบกไว้ PARENTIFIED CHILD

เรื่องAdminAlljitblog

เด็กโตเกินวัย อาจจะเข้าใจว่า เด็กที่เป็นหนุ่มสาวก่อนวัยรึป่าว จริง ๆ แล้ว เด็กลักษณะนี้คืออะไรกันแน่

 

 

Parentified Child คืออะไร

 

เด็กคนนึงที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกินวัย เช่น ตัวละครของ วันเฉลิม ทองเนื้อเก้า ที่อายุไม่กี่ขวบแต่ต้องมาเลี้ยงน้อง ๆ  แทนพ่อแม่

 

ซึ่งอาจส่งผลให้วันเฉลิม แทบจะไม่มีช่วงเวลาเล่นสนุกสนานอย่างที่ควรจะเป็นเหมือนเพื่อนวัยเดียวกัน

 

ต่างจากภาวะโตเกินวัยอีกแบบ โดยภาวะโตเกินวัยในด้านการแพทย์ จะเกิดจากการที่ร่างกายเด็กมีฮอร์โมนเพศสูงกว่าปกติ

 

ทำให้โตกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน อันนั้นเราก็จะเห็นผ่านร่างกายชัดเลย แล้วก็มีโตเกินวัยในอีกรูปแบบที่ โตเกินวัยในด้านภาวะอารมณ์ พฤติกรรม และการแสดงออก 

 

 

Parentified Child เป็นการโตเกินวัยในด้านความรับผิดชอบ 

 

เราอาจสับสนการที่พ่อแม่เลี้ยงดูให้เราสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง อย่างการฝึกให้ลูกล้างจาน เก็บที่นอนด้วยตนเองตั้งแต่ 7-8 ขวบ

 

มันคือ การสร้างนิสัยที่เหมาะสมกับอายุลูกอย่างถูกต้องแล้ว แต่ถ้าเป็นการเลี้ยงแบบ Parentification อย่างที่เราน่าจะเห็นในละครหรือหนังบ่อย ๆ

 

ที่ลูกต้องหาเลี้ยงครอบครัว ดูแลพ่อแม่หรือพี่น้องที่ป่วยบ้าง พูดง่าย ๆ การที่ต้องขึ้นมาเป็นพ่อเป็นแม่แทนพ่อแม่ตัวจริง 

 

เช่น น้องที่ต้องดูแลพี่ที่มีภาวะออทิสติกอย่างพี่ยิม น้องโด่ง ในซีรี่ส์เรื่อง Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ จะเห็นว่าน้องโด่งที่รับบท โดย สกาย วงศ์รวี

 

แทบจะเป็นเหมือนพ่อหรือพี่ชายอีกคนของพี่ยิม ซึ่งรับบท โดย ต่อ ธนภพ ก็จะเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายของเด็กคนนึงที่ต้องรับหน้าที่ให้เป็นผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควร

 

แต่ก็มีการศึกษาจาก healthline ในปี 2016 บอกไว้ว่า ความสัมพันธ์พี่น้อง อาจจะมีประโยชน์ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันได้มากกว่าพ่อแม่

 

 

Parentification ส่งผลต่อบุคลิกเด็กคนนึงได้อย่างไร

 

พอเด็กมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบเกินวัยขนาดนั้น เด็กอาจจะมีนิสัยเก็บความรู้สึกตัวเอง เราต้องเป็นผู้นำห้ามอ่อนแอ เพราะไม่อยากดูเป็นเด็กในสายตาคนอื่น

 

ละเลยความรู้สึกตัวเองจนความสุขตัวเองอาจจะหายไป #EldestDaughterSyndrome กลุ่มลูกสาวคนโตออกมาระบายเรื่องความรับผิดชอบที่ได้รับในฐานะพี่สาวคนโต

 

บางทีก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนพ่อแม่อีกคนของน้อง รวมถึงต้องแบกรับความหวังของครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่เลือกที่จะทำหน้าที่เป็นเสาหลักของครอบครัว

 

ก่อนโดยทิ้งความฝันตัวเองไว้ข้างหลัง ก็เลยอาจจะทำให้บุคลิกภายนอกดูเข้มแข็ง แต่ภายในอ่อนไหว ไม่ได้มีความสุขที่แท้จริงก็ได้

 

 

สัญญาณที่บ่งบอกว่าเรากำลังเป็น Parentified Child

 

  • เติบโตด้วยความรู้สึกที่มีหน้าที่ ‘ที่ต้อง’ รับผิดชอบมากมาย
  • ต้องคิดเสมอว่าจะเล่นสนุกหรือปล่อยมันไป
  • ชอบอะไรที่ควบคุมได้
  • ถูกดึงเข้าไปเป็นประเด็นปัญหาระหว่างผู้ดูแล
  • รู้สึกว่าได้รับความรับผิดชอบที่ไม่เหมาะกับวัยตนเอง
  • มักได้รับคำชมว่า “ดีมาก” และ “มีความรับผิดชอบดีมาก” 
  • อาจจะรู้สึกว่าพึ่งพาตนเองดีกว่าการพยายามไว้วางใจผู้อื่น
  • จำไม่ได้ว่า ‘ความเป็นเด็ก’ เป็นอย่างไร
  • พ่อแม่มีปัญหาในการดูแลตัวเองหรือผู้อื่น และมอบความรับผิดชอบให้เราแทน
  • มักพบว่า ตัวเองกลายเป็นผู้ดูแลอยู่บ่อยครั้ง
  • แต่ก็รู้สึกดีที่ได้ดูแล แม้ว่าจะต้องเสียสละบางส่วนของตัวเองก็ตาม
  • มีความเห็นอกเห็นใจและสามารถทำความเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น
  • รู้สึกว่าเราต้องเป็นคนประนีประนอมเสมอ (Peacemaker)
  • รู้สึกว่าความพยายามของเราไม่ได้รับการชื่นชม

 

 

ถ้ามองในแง่ดี การเป็นคนที่ชอบดูแลคนอื่น ก็ทำให้รู้สึกดีกับตัวเอง อาจจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันดีขึ้นด้วย

 

แต่ถ้าต้องกลายเป็นคนที่พ่อแม่คาดหวังก็คงรู้สึกกดดัน ซึ่งอาจจะมาจากตัวพ่อแม่เองที่ก็ไม่ได้รับการเติมเต็มในวัยเด็กเหมือนกัน

 

 

การเป็น Parentified Child ส่งผลอย่างไรได้บ้างในความสัมพันธ์

 

ดีตรงที่เราพึ่งพาตัวเองได้ไม่ว่าจะอยู่ในความสัมพันธ์ไหนเพราะต้องเป็นผู้นำตั้งแต่เด็ก การเป็น Parentified Child 

 

ถ้าไม่ชอบควบคุมคนอื่นเพราะไม่ไว้ใจใครง่าย ๆ ไปเลย ก็อาจจะเป็นแนว People Pleaser  เพราะคนสองประเภทนี้จะชอบเห็นคนอื่นมีความสุข

 

คอยเอาใจคนอื่นเสมอ ทำให้มองว่าการทำให้คนอื่นรู้สึกดีเป็นหน้าที่ของตนเอง ถ้าทำไม่ได้ก็จะรู้สึกว่าตนไม่มีคุณค่า

 

ก็อาจจะทำให้เกิดการถูกเอาเปรียบในความสัมพันธ์ได้ รวมถึงอาจจะเผลอเข้าไปอยู่ใน Toxic Relationship ด้วย

 

เพราะคนลักษณะนี้จะค่อนข้างลำบากใจในการปฏิเสธคน เลยยอมทำตามคนอื่นเพื่อได้รับการยอมรับ

 

เราทุกคนสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งแม้ว่าจะไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อม 

 

ไม่ต้องรู้สึกผิดที่จะสนุกกับชีวิต ตามหาตัวเองในเวอร์ชั่นที่ชอบและอยากเป็นได้อย่างมีความสุข 🙂