เคยสงสัยกันไหมคะว่า “โรคซึมเศร้า” แตกต่างจาก ” เรียกร้องความสนใจ ” อย่างไร?
บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยในทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ ที่จะมาพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นโรคซึมเศร้าหรือเรียกร้องความสนใจ
หลาย ๆ คนเวลามีช่วงเวลาที่เศร้าไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไร บางทีเราก็มักจะระบายลงโซเชียล โพสต์ข้อความที่เศร้า หรือแชร์ข้อความที่ตรงกับความรู้สึกออกมา เพื่อสื่อสารความรู้สึกของเราออกไป
การกระทำที่เราทำลงไป หลายคนชอบคิดว่าเรากำลังเรียกร้องความสนใจหรือเปล่า หรือเราอาจจะกำลังสงสัยในตัวเอง ว่าเรากำลังเป็นคนที่เรียกร้องความสนใจหรือเปล่า อยากชวนให้ลองมาสังเกตและหาคำตอบกับ
พฤติกรรมที่ทำแบบนั้นลงไป
บางคนเป็นแบบนั้นจริง ๆ หรือ เรียกร้องความสนใจ ?
ในพฤติกรรมแบบนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองส่วนตัวของแต่ละบุคคลที่มองมา แต่อย่าลืมว่าเราไม่ควรตัดสินการกระทำของคนอื่นว่าสิ่งที่เขาทำเรียกว่าการเรียกร้องความสนใจ
หรือเขาเป็นซึมเศร้าจริง ๆ ในขณะที่เขาเลือกที่จะทำวิธีการแบบนั้นอาจจะเรียกว่า วิธีการแก้ปัญหาของเขาก็ได้หรือถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง การที่เขาทำแบบนั้นอาจจะเป็นการสื่อสารของเขาในอีกรูปแบบหนึ่ง ในวันที่เขาไม่รู้
ว่าเขาจะสื่อสารให้คนอื่นรับรู้ความรู้สึกของเขาอย่าไร
อะไรที่ทำให้สังคมมองว่าคนที่จะฆ่าตัวตาย คือคนที่ เรียกร้องความสนใจ ?
สังคมมักจะตั้งคำถามกับพฤติกรรมของคนที่พยายามฆ่าตัวตายว่า เรียกความสนใจหรือเปล่า แต่จริง ๆ แล้วที่เขาทำพฤติกรรมแบบนั้น เพราะต้องการบางสิ่งบางอย่างกลับมา หรือการที่เขาทำแบบนั้นที่จริงแล้ว เขาคิดมา
ดีแล้ว คิดมานานแล้ว จึงเลือกที่จะตัดสินใจทำแบบนั้นลงไป
เราจะแยกยังไงระหว่างคนเป็นโรคซึมเศร้าจริง ๆ หรือเรียกร้องความสนใจ?
ดูที่จุดประสงค์ของการที่เขาทำลงไป เราต้องคุยกับเขาว่าสิ่งที่เขาทำลงไปเขาคิดอะไรอยู่ เช่น พอเราเห็นข้อความของเขา เราเข้าไปคุยกับเขา เขาเล่าปัญหาของเขาให้เราฟังนั้น
อาจจะเป็นวิธีการที่เขาเรียกร้องให้ใครสักคนเข้าไปคุยกับเขาก็ได้
จริง ๆ แล้ววิธีการเรียกร้องความสนใจกับวิธีการขอความช่วยเหลือมีความคล้ายกัน แต่ในสายตาของคนนอกจะมองว่าข้อความอันไหนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมเลย ทำให้ถูกมองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ
แต่อยากให้เชื่อว่าในสิ่งที่เขาทำลงไปเขามีเหตุผลในการกระทำของเขา
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนโพสต์แบบนี้
สาเหตุที่เขาเลือกที่จะโพสต์แบบนั้นอาจจะเพราะว่า เขารู้สึกว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวกลางที่จะสื่อสาร เนื่องจากในปัจจุบันเป็นเรื่องยากในการพูดคุยกันเวลาที่มีปัญหา
ทำให้เลือกที่จะโพสต์ลงไปในโซเชียล เพื่อระบายความรู้สึกลงไปให้คนอื่นรับรู้แล้วตอบสนองกลับมา
เมื่อเราเห็นคนอื่นโพสต์หรือไฟล์ผิดปกติ เราควรทำอย่างไรดี?
เริ่มจับสังเกตเขาก่อน ลองถามเขาว่าตอนนี้เขารู้สึกอย่างไร เข้าไปคุยถามความรู้สึกของเขา จริง ๆ แล้วแค่เราเข้าไปถามเขาอาจจะช่วยต่อลมหายใจ ทำให้เขารู้สึกอุ่นใจว่าอย่างน้อยก็ยังมีคนสนใจเขาและเห็นเขาอยู่ในชีวิต
แต่ถ้าเราเห็นเขาโพสต์บ่อยขึ้น เราต้องส่งสัญญาณเตือนให้คนที่อยู่ใกล้ชิด คนที่อยู่อาศัยกับเขาให้สังเกตอาการถามเขาบ่อย ๆ และเข้าไปดูว่าเขามีสิ่งที่สามารถทำร้ายตัวเองได้ไหม
เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการป้องกันการทำร้ายตัวเอง
ถ้าเป็นคนใกล้ชิดเราควรระวังอย่างไรดี?
ให้ระวังสิ่งที่เป็นอันตรายรอบตัวเขาไม่ว่าจะเป็นสิ่งของชิ้นเล็กที่เราคิดว่า ไม่สามารถทำอันตรายได้ เช่น กระดาษ ไม้บรรทัด เข็ม หวี ลักษณะของแข็ง ๆ แหลมคม ที่สามารถทำอันตรายได้
และน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างห้องน้ำ สบู่ คนส่วนใหญ่เวลาที่อยากทำร้ายตัวเอง พวกเขามักจะไม่คิดถึงสิ่งที่อันตรายที่เคยพบเจอแต่อะไรที่เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถทำอันตรายได้
ถ้ามีคนถ่ายรูปทานยาเยอะ ๆ มาให้จะทำอย่างไรดี?
อาจจะเป็นสัญญาณเตือนที่บอกว่ากำลังจะทำร้ายตัวเอง หรือเขากำลังป่วย มีหลายสัญญาณเตือนหลายอย่าง เราควรทักไปถามเขาว่ารูปนี้มันคืออะไร มีอะไรอยากเล่าไหม แค่เราเข้าไปถามความรู้สึกของเขา
ก็เหมือนช่วยให้เขาได้ระบายสิ่งที่เขารู้สึกได้มากขึ้น
คนอกหักที่ชอบโพสต์เศร้า เขาต้องการที่จะเรียกร้องให้ใครมารับผิดชอบหรือเปล่า
อาจจะมีส่วนที่อยากให้ใครมารับผิดชอบ เพราะเวลาที่คนอกหักโพสต์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสามารถเรียกร้อง หรือระบายสิ่งที่รู้สึกในใจของเขาออกไปให้ผู้อื่นที่ผ่านมาเห็นถามไถ่เขา หรือให้กำลังใจเขาได้ก้าวต่อไป
พยายามฆ่าตัวตายมาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่สำเร็จเขาพยายามจะสื่ออะไรกับเราอยู่
ในมุมมองของนักจิตวิทยาเรียกว่า การขาดทักษะในการควบคุมจัดการปัญหาของตนเอง การที่หลาย ๆ คนเกิดปัญหากับตนเองโดยปกติจะมีวิธีรับมือแก้ไขกับปัญหาที่เกิดขึ้น
แต่คนที่เลือกทำร้ายตัวเองปัญหาหลาย ๆ ครั้งที่เกิดขึ้นเขาไม่รู้ว่าจะเลือกวิธีไหนมาแก้ปัญหาแล้ว จึงเลือกที่จะทำร้ายตัวเอง
พฤติกรรมแบบไหนที่ต้องเข้าพบผู้เชี่ยวชาญ
ถ้าเรารู้สึกว่าเราเริ่มจัดการอารมณ์กับตัวเองไม่ได้ หรือเริ่มรู้สึกว่าเราอยากทำร้ายตัวเอง หรือรู้สึกว่าจัดการกับปัญหาตรงหน้าไปแล้วแต่ยังมีความรู้สึกที่หนักอึ้งในใจอยู่ แนะนำว่าให้ไปเข้าพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำ
คนที่เคยทำร้ายตัวเองจนได้สติ มีโอกาสไหมที่เขาไม่กลับไปทำแบบนี้อีก
มีโอกาส บางคนที่ได้ทำร้ายตัวเองลงไปจะรู้สึกมีสติจากการกระทำของตัวเอง หรืออาจจะได้สติจากคนรอบข้างที่คอยให้กำลังใจอยู่ข้าง ๆ และคอยเตือนสติคนที่ทำร้ายตัวเอง
ทำไมคนชอบทำร้ายร่างกายตัวเองซ้ำ ๆ
การทำร้ายตัวเองเป็นวิธีการเดียวที่เขาสามารถจัดการตัวเองได้ หรือบางครั้งเขาอาจจะรู้สึกว่าเขาไม่สามารถจัดการคนอื่นได้ เลยเลือกที่จะจัดการตัวเองด้วยวิธีการทำร้ายตัวเองซ้ำ ๆ
นักจิตวิทยามักจะพบคนไข้ที่ทำร้ายตัวเองลงโซเชียลเป็นส่วนมาก
คนไข้ที่มาพบส่วนใหญ่มักเล่าว่า ได้ลองสื่อสารสิ่งที่รู้สึกให้คนรอบข้างรับฟังแล้ว แต่คนรอบข้างจะไม่ให้ความสนใจ คนไข้จึงเลือกที่จะจัดการตัวเองด้วยการทำร้ายตัวเอง
เวลาที่คนไข้มารักษาจะได้ไปที่ไปพักที่หอผู้ป่วยก่อน และได้เจอนักจิตแพทย์เพื่อประเมินสุขภาพจิต หลังจากนั้นก็จะได้พบนักจิตวิทยาคลินิกเพื่อที่จะได้พูดคุยถึงสาเหตุ และหาวิธีรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น
เวลาที่เจอคนโพสต์ถึงอะไรเศร้า ๆ อกหัก หรือระบายความรู้สึกเศร้าของเขาในโซเชียล อย่าด่วนตัดสินเขาว่าเขาเรียกร้องความสนใจจากใครหรือเปล่า แต่ให้เข้าไปคุยกับเขา ให้กำลังใจ ถามว่าเขาเป็นอย่างไรบ้าง
เพราะจริง ๆ สาเหตุที่เขาทำแบบนั้นอาจจะเป็นวิธีการที่เขาอยากสื่อสารความรู้สึกของเขา ให้คนอื่นรู้ว่าเขารู้สึกอย่างไร อาจจะเป็นวิธีขอความช่วยเหลือจากใครสักคนในรูปแบบของเขา
การที่เราได้ทักไปคุยกับเขาอาจจะเป็นการต่อลมหายใจ และช่วยดึงให้ตัวเขากลับมามีสติ ทำให้เขาหาวิธีรับมือกับสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่ก็เป็นได้
Post Views: 10,584