คนใกล้ตัวเป็นซึมเศร้า

เมื่อคนใกล้ตัวเป็น โรคซึมเศร้า เราจะทำยังไงดี? ทำตัวปกติก็กลัวจะเผลอทำร้ายจิตใจเขา

เรื่องAdminAlljitblog

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา โรคซึมเศร้า เพิ่งเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากขึ้น แต่วิธีการดูแลรับมือกับ โรคซึมเศร้าอย่างถูกวิธียังมีไม่มากนัก เรายังไม่รู้ว่าอะไรที่ควรทำ ไม่ควรทำ และไม่ควรพูด

 

บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยในทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ เมื่อคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้าเราจะทำยังไงดี?

คนรอบข้างอยู่ในสภาวะ โรคซึมเศร้า เรารับอย่างไรดี?

บางทีเราไม่ต้องรู้ทุกมิติของคนรอบข้างที่โรคซึมเศร้า แต่เราเพียงเข้าใจเขาในแต่ละมุมของเขา ถ้าผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าที่มีคนดูแลที่ดี ที่เข้าใจเขา จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้หายได้ง่ายมากขึ้น

 

เพราะคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะรู้สึกว่าตัวคนเดียว การที่มีใครอยู่ข้าง ๆ ที่เป็นเหมือนตะเกียงที่เข้าไปยื่นแสงสว่างให้แก่ผู้ป่วยที่อยู่ในมุมมืด จะทำให้เขารู้ว่าชีวิตนี้ของเขาควรไปต่อ 

ภาวะ โรคซึมเศร้า เกิดจาก?

ทางวิทยาศาสตร์ได้ออกมายอมรับว่าเกิดจากสารสื่อประสาทที่หลั่งออกมาผิดปกติ ทำให้ภาวะจิตใจขาดสมดุล ผู้ดูแลควรเข้าใจว่าการที่ผู้เป็นโรคซึมเศร้าคิดอะไรในด้านลบ นั่นเป็นเพราะความอ่อนแอทางจิตใจ

 

ด้วยสารสื่อประสาทจึงทำให้คิดหรือรู้สึกแบบนั้นเพราะนิสัยของโรค ไม่ใช่นิสัยเขาที่เปลี่ยนไปจากเดิม แต่เป็นโรคที่เข้าไปเปลี่ยนเขา คนดูแลจึงสำคัญมากที่สามารถช่วยให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นได้

 

พยายามช่วยเหลืออยู่เคียงข้างอย่างสม่ำเสมอและสิ่งสำคัญเราในฐานะคนใกล้ชิดควรดูแลและรู้ว่าอะไรควรพูด/ไม่ควรพูด เพื่อไม่ให้กระทบจิตใจพวกเขา

สิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำกับคนที่ป่วยอยู่ในภาวะซึมเศร้า

สิ่งที่ควรทำ 

1. พูดคุยกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าให้เห็นถึงข้อดีของตัวเองเสมอ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาเลยก็ว่าได้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้หันมามองเห็นคุณค่าของตัวเอง ที่จะทำให้มีกำลังใจสู้ต่อและอยากใช้ชีวิตต่อไป

2. พูดคุยในสิ่งที่เขารู้สึก ไม่กดดัน ไม่ตัดสิน และรับฟังอย่างตั้งใจเองก็สำคัญมากสำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า

3. ชวนหากิจกรรมที่เขาเคยทำ เอาตัวเองเราเข้าไปอยู่ในโลกของเขา ชวนออกกำลังกาย หรือกิจกรรมที่ทำให้ขยับร่างกาย สารสื่อประสาทแห่งความสุขอย่างเอ็นโดรฟินออกมาแล้ว ยังช่วยลดความเครียดและการคิดฟุ้งซ่านได้อีกด้วย

สิ่งที่ไม่ควรทำ

1. อย่ามองข้ามคำพูดและความรู้สึกบางอย่างที่เกิดขึ้น อย่าตีตัวออกห่าง เพราะจะทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารู้สึกว่าไม่มีที่พึ่ง รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ อาจทำให้เกิดความคิดที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อได้

2. เมื่อพูดถึงเรื่อง “ความตาย” ห้ามเพิกเฉย เมื่อคนเป็นโรคซึมเศร้าบอกว่าอยากตาย เป็นสัญญาณที่เราควรตระหนักว่ามีบางอย่างกระตุ้นให้เขารู้สึกแบบนั้น ควรพูดคุยว่าเกิดอะไรขึ้น ห้ามมีท่าทีต่อต้าน เพราะอาจทำให้สภาวะจิตใจของผู้ป่วยรู้สึกแย่ลงได้

3. ห้ามกดดัน เร่งรัด หรือ ยัดเยียดวิธีการใด ๆ ให้เขา เช่น “ทำไมยังไม่หายอีก” เพราะจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกดดันและผิดหวังในตัวเอง ส่งผลทำให้อาการยิ่งแย่ลงและเยียวยาได้ค่อนข้างยากกว่าเดิม

เมื่อคนที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าบอกว่าอยากตาย

ผู้ดูแลต้องตระหนักว่าถ้าเขาเริ่มพูดว่าอยากตาย หรือเขียนจดหมายลา หรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้เราคิดว่าเขาเริ่มอยากที่จะจากไป เราต้องเริ่มตระหนักถึงสัญญาณเหล่านี้ และเลิกใช้คำถามที่ค่อนข้างกดดัน ทำให้เขาเกิดความรู้สึกแย่ ๆ

 

เช่น เมื่อไหร่จะหายสักที/เหนื่อยแล้วนะที่ต้องดูแล/ทำไมถึงทำไม่ได้/ทำไมยังไม่หายอีก/สู้ ๆ นะ(เปรียบเหมือนการปล่อยให้ผู้ป่วยต่อสู้เพียงลำพัง) คำพูดเหล่านั้นจะเหมือนเป็นการไปกดดันผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า

 

ถ้าเมื่อไหร่ที่ผู้ดูแลรู้สึกว่าไม่ไหวเหนื่อยที่ต้องดูแล อยากให้ออกมาตั้งหลักก่อนไม่ต้องฝืนความรู้สึกของตัวเองเพราะไม่งั้นเราจะคุมการพูดของตัวเองไม่ได้

ผู้สูงอายุไม่ยอมไปหาหมอทำยังไงดี?

1. สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเขา สังเกตว่าเขาพูดน้อยลง กินข้าวน้อยลง ไม่สดใสร่าเริง พูดโน้มน้าวให้เขาเริ่มเห็นว่าเขาแปลกไป เช่น ให้เราช่วยอะไรไหม?

อยากไปหาหมอเพื่อดูอาการที่เปลี่ยนไปไหม? ถามถึงว่าช่วงนี้เขาคิดว่าเขาเป็นอย่างไรบ้าง? 

2. หากคนใกล้ตัวไม่ยอมไปพบ เราสามารถเข้าพบจิตแพทย์แทนได้ เพื่อบอกอาการคนใกล้ตัว

3. หากมีอาการรุนแรง ทำร้ายร่างกายตัวเอง ทำร้ายคนรอบข้าง สามารถแจ้งโรงพยาบาลให้มารับตัวได้ 

ห้าม หลอกพาเขาไปรักษา หรือโกหกว่าจะไปเที่ยวแต่พาไปโรงพยาบาลแทน เพราะ จะเป็นเหมือนการทำลายความเชื่อใจของผู้ดูแล ทำให้เขาเริ่มระวังระแวงเราจนไม่อยากบอกอะไรกับเรา

แฟนเป็นภาวะซึมเศร้าแล้วเราอยากเลิกผิดไหม?

ไม่อยากมองว่ามันผิดหรือมันถูก แต่อยากให้มองว่าเราไหวหรือไม่ไหวกับตัวเอง ในความสัมพันธ์อยากให้ลองถามตัวเองว่า เราอยากเลิกกับเขาเพราะเหนื่อยจากการที่เขาเป็นโรคซึมเศร้า

 

หรือมีเหตุการณ์ก่อนหน้าที่ทำให้เรารู้สึกอยากเลิกอยู่แล้ว เมื่อเรารู้สึกว่ามันไม่ไหวการถอยออกมาไม่ใช่เรื่องที่ผิด

เมื่อดูแลคนเป็นโรคซึมเศร้า เรามีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าด้วยไหม?

สำรวจตัวเองว่าสุขภาพจิตใจเราเป็นอย่างไรบ้าง หากเรารู้สึกเหนื่อยให้ถอนตัวเองออกมาก่อน อย่าเพิ่งพูดหรือแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกไปในตอนที่เหนื่อย

 

เพราะเราอาจจะไม่สามารถแยกแยะได้เท่าที่ควรว่าอะไรควรหรือไม่ควรพูดสามารถส่งผลให้คนเป็นโรคซึมเศร้ารู้สึกแย่และอาการแย่กว่าเดิม  และเราอาจมีแนวโน้มเข้าสู่โรคซึมเศร้าได้เช่นกัน 

 

การดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ต้องอาศัยความเข้าใจและความใส่ใจ เราจะเห็นมิติอื่น ๆ ในตัวเขามากขึ้น เมื่อเราเข้าใจการปฎิบัติต่อเขา เราจะไม่เหนื่อย และเราอาจไม่จำเป็นต้องรู้จักเขาทุกด้าน เพียงแค่ต้องเข้าใจในแต่ละมุมของเขาเท่านั้นเอง

Related Posts