เราแค่ขี้กังวลหรือเราเป็น โรคย้ำคิดย้ำทำ

เรื่องAdminAlljitblog

เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ทุกคนจะมีความกังวล แต่ถ้ามีความคิดและพฤติกรรมแบบซ้ำไปซ้ำมาอยู่บ่อย ๆ จนรบกวนการใช้ชีวิตและนำไปสู่ความทุกข์ เป็นไปได้ว่าที่คน ๆ นั้นอาจจะกำลังเป็น “ โรคย้ำคิดย้ำทำ

 

ความกังวลและ โรคย้ำคิดย้ำทำ

มนุษย์ทุกคนมีความกังวล ซึ่งความกังวลทำให้ต้องคอยปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อการอยู่รอด ดังนั้นเป็นเรื่องปกติและเข้าใจได้ถ้าหากเรามีความรู้สึกกังวลใจ

 

แต่ถ้ามีความคิดและพฤติกรรมแบบซ้ำไปซ้ำมา จนรบกวนการทำงาน การเข้าสังคม การใช้ชีวิตประจำวัน จนนำไปสู่ความทุกข์ มีความเป็นไปได้ที่จะเป็น “โรคย้ำคิดย้ำทำ”

 

รู้จัก โรคย้ำคิดย้ำทำ 

ในภาษาอังกฤษชื่อว่า Obsessive-compulsive disorder (OCD) มาจาก 2 คำ คือ Obsession แปลว่า ความหมกมุ่น กับ Compulsion แปลว่า การบีบบังคับ

 

เป็นโรคที่บุคคคลจะมีความคิดและความหมกมุ่นซ้ำ ๆ  ซึ่งจะกระตุ้นให้บุคคลทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำ ๆ เหมือนโดนสั่งให้ทำ ซึ่งแต่ละคนจะแตกต่างกันไป

 

เช่น หมกมุ่นเรื่องความสะอาด  มีความกลัวว่าเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ล้างมือซ้ำไปซ้ำมา , หมกมุ่นเรื่องข้าวของเครื่องใช้ จะคอยเช็คว่ายังอยู่ดีไหม

 

อาการ โรคย้ำคิดย้ำทำ

แบ่งออกเป็น 2 อย่าง ได้แก่ อาการย้ำคิด และอาการย้ำทำ  โดยลักษณะของอาการย้ำคิด จะคิดเรื่องบางเรื่องที่ทำให้เกิดความกังวลใจขึ้นมาอย่างไม่มีสาเหตุ 

 

ส่วนอาการย้ำทำ จะมีพฤติกรรมซ้ำ ๆ เพื่อคลายความกังวลของอาการย้ำคิดที่เกิดขึ้น เช่น คิดขึ้นมาว่าล็อครถหรือยัง ทำให้กลับไปเช็ครถอยู่อย่างนั้นซ้ำไปซ้ำมา

 

สาเหตุ โรคย้ำคิดย้ำทำ

1. พันธุกรรม 

2. ชีวภาพ เป็นความเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในร่างกายหรือการทำงานของสมอง

3. การเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้พฤติกรรมมาจากสมาชิกในครอบครัว เช่น เห็นพ่อแม่ทำ ทำตาม

4. ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ประวัติเจ็บป่วยในครอบครัว , เหตุการณ์ร้ายแรง , ความผิดปกติทางจิต 

 

ผลกระทบ โรคย้ำคิดย้ำทำ

1. เสียเวลาไปกับการทำสิ่งที่หมกมุ่นซ้ำ ๆ 

2. พฤติกรรมบางอย่างอาจทำให้มีปัญหาสุขภาพ เช่น ล้างมือบ่อย อาจทำให้เป็นโรคผื่นระคายสัมผัสได้ เพราะผิวชั้นนอกถูกทำลาย 

3. กระทบชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์ คนอื่นอาจจะมองว่าแปลกแยก จากการเห็นพฤติกรรมที่หมกมุ่นของคนเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ 

 

วิธีสำรวจตัวเองง่าย ๆ  

1. คนที่เป็นโรคนี้จะทำบางสิ่งบางอย่างซ้ำ ๆ จนรบกวนชีวิตประจำวัน อย่างที่ยกตัวอย่างไปว่า หมกมุ่นเรื่องความสะอาด มัวแต่ล้างมือ ไม่ไปทำงาน 

2. ความคิดจะเกิดขึ้นตลอด ต่อเนื่อง ทำให้หมกมุ่นกับการทำบางสิ่งบางอย่างมาก ๆ ไม่สามารถหยุดได้ ถ้าตามเกณฑ์วินิจฉัย คือ 1 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน 

 

การดูแลตัวเองเมื่อเป็น โรคย้ำคิดย้ำทำ

1. ดูแลตัวเองเบื้องต้น พักผ่อนให้เพียงพอ

2. พยายามเพิกเฉยต่อความคิดที่เป็นการย้ำคิดและลดพฤติกรรมที่เป็นการย้ำทำ

3. ลองหากิจกรรมที่ทำให้ตัวเองรู้สึกผ่อนคลาย  เช่น ดูหนัง ฟังเพลง  ปลูกต้นไม้ 

 

การรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ

ถ้าอาการหนัก กระทบกับชีวิตประจำวันมาก ๆ จนถึงจุดที่ต้องเข้ารับการรักษา จะมีให้รับประทานยา ส่วนการทำจิตบำบัดจะใช้วิธี Cognitive-Behavioral Therapy (CBT)

 

เป็นการให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกกังวลเกินกว่าเหตุ เช่น ให้จับสิ่งของต่าง ๆ บางคนอาจจะกลัว จินตนาการว่าเชื้อโรคที่อยู่กับสิ่งของนั้นจะทำให้มีผื่นขึ้น 

 

พออยากไปล้างมือ นักจิตบำบัดจะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ซ้ำไปซ้ำมานั้น เพื่อให้ผู้ป่วยเรียนรู้ว่าความกลัวนั้นเป็นเพียงความคิดของตัวเอง ผื่นไม่ได้จะขึ้นทันทีตามที่กังวลอยู่

 

การป้องกัน โรคย้ำคิดย้ำทำ

1. ฝึกฝน mindfulness เพื่อจัดการความเครียด 

การมีสติอยู่กับปัจจุบัน ยอมรับความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้น โดยไม่ไปตัดสินหรือพยายามหนีจากมัน 

2. ดูแลตัวเอง

ด้วยการออกกำลังกาย นอนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสุราและบุหรี่

3. การขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

เพราะการแยกตัวจะยิ่งทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม

 

อ้างอิง