มาคุยในหัวข้อ “บ้านไม่ใช่ Safe Zone“คุยกับนักจิตวิทยาคลินิก
Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยในทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ
บ้านไม่ใช่ Safe Zone “บ้านอาจจะไม่ใช่เซฟโซนสำหรับทุกคน บ้านที่ไม่รู้สึกถึงความเป็นบ้าน บ้านที่ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่สบายใจ ไม่อบอุ่น
ส่งผลให้รู้สึกว่าไม่ได้รับความรักและการดูแลเอาใจใส่ จนรู้สึกว่าอยากอยู่คนเดียวหรืออยากออกจากบ้าน” ถ้าเรากำลังเจอกับสถานการณ์ครอบครัวแบบนี้อยู่ เราจะรู้สึกอย่างไรและมีทางออกอย่างไรกันบ้างคะ?
หากลองเช็ค #ครอบครัวไม่ใช่เซฟโซน เราจะรู้ได้เลยว่ามีคนมากมายที่เข้ามาระบายความรู้สึกเกี่ยวกับครอบครัวไม่ใช่เซฟโซน เช่น บ้านหลังนี้ไม่อบอุ่นอย่างที่คิด ถ้าอยู่บ้านที่เจอแต่ปัญหาของคนในครอบครัวฉันก็ไม่
อยากอยู่ ถ้าอยู่บ้านเเล้วมีความสุขฉันก็คงไม่อยากออกไปอยู่คนเดียว คำพูดจากคนในครอบครัวทำร้ายความรู้สึกของเรา
ในบทความนี้ทาง Alljit ร่วมกับคุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก ที่จะมาพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นครอบครัวไม่ใช่เซฟโซนในมุมมองของนักจิตวิทยา
รวมถึงแนะนำวิธีการรับมือเมื่อเจอกับสถานการณ์ที่บ้านไม่ใช่เซฟโซน
บ้านคืออะไร? ทำไม บ้านไม่ใช่ Safe Zone
เวลาที่เราพูดถึงบ้าน เรามักจะคิดถึงอะไร? โดยส่วนมากแล้วเวลาที่พูดถึง “บ้าน” เราอาจจะไปนึกถึงสมาชิกในบ้านหรือที่อยู่อาศัย
แต่จริง ๆ แล้วบ้านมีองค์ประกอบมากกว่านั้น บ้านประกอบไปด้วยคน สถานที่ ความทรงจำ สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นหรือบางคนก็อาจจะนึกถึงแค่ห้องเล็ก ๆ ซึ่งก็สามารถเรียกว่าบ้านได้ บ้านจึงไม่ได้มีเพียงแค่องค์ประกอบเดียว
ถ้าขนาดของบ้านเล็กจะทำให้เราไม่มี Safe Zone จริงหรือเปล่า ?
พื้นที่หรือขนาดของบ้านอาจจะไม่ใช่ตัวบ่งบอกว่าบ้านคือเซฟโซนหรือเปล่า แต่การให้พื้นที่ ให้ช่องว่าง ให้เวลา อาจจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าบ้านเป็นเซฟโซนได้มากกว่า เพราะปกติแล้วเวลาที่เราพูดถึงครอบครัวที่ดี
เราจะนึกไปถึงการที่พ่อแม่ต้องดีและดูแลเอาใจใส่เพราะนั่นคือครอบครัวในอุดมคติของหลาย ๆ คน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วถึงแม้ว่าเราที่จะได้ครอบครัวแบบนั้นจริง ๆ
แต่สุดท้ายแล้วเราไม่สามารถเลือกได้ เราต้องอยู่กับตรงนั้น
การที่เราเจอกับคำพูดที่บั่นทอนจิตใจ การด่าทอ การเสียงดัง การใช้ความรุนแรง สิ่งนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าบ้านไม่สามารถเป็นพื้นที่ที่เราสบายใจได้เลย
ทั้งที่จริง ๆ แล้วบ้านอาจจะไม่ต้องดีที่สุด ดูแลเอาใจใส่ได้มากที่สุด
แต่อาจจะเป็นพื้นที่หนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าถ้าเราเปิดประตูเข้าไป เราจะมีพื้นที่ มีช่องว่างและมีเวลาของเราเหมือนได้พักจากมรสุมชีวิตที่เราเจอมาจากโลกภายนอกรวมถึงได้เยียวยาตัวเองจากเรื่องราวต่าง ๆ
บ้านเล็กก็คงไม่ใช่ปัญหา ถ้าเราได้มีพื้นที่ของตัวเองบ้าง
บ้านแบบไหน เราถึงเรียกได้ว่า “บ้านคือ Safe Zone”?
“บ้านที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย” ไม่ได้หมายถึงแค่ปลอดภัยจากอันตรายรอบนอก แต่รวมไปถึงความปลอดภัยทางความรู้สึก,ด้านจิตใจและด้านร่างกาย
บางบ้านมีการทำร้ายร่างกายกันหรือมีการใช้แอลกอฮอล์ กลับบ้านมาก็ด่าทอลูกในเวลาที่เมา เอาอารมณ์ไปลงที่ลูก ก็อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย
กลับบ้านมาก็ต้องระแวดระวัง ต้องคิดที่จะปกป้องตัวเองตลอดเวลา หรือบางบ้านไม่ได้มีพื้นที่ให้เราได้เป็นตัวของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ก็อาจจะทำให้เราเกิดความไม่ปลอดภัยทางจิตใจได้
เราต้องมีความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะท้ายที่สุดแล้วเราควรจะคุยกับคนในบ้านมากกว่าคนข้างนอก แต่บางทีการที่คุยกับคนในครอบครัวแล้วเราไม่ได้รับในสิ่งที่ควรจะได้รับกลับมา
ก็เลยเลือกที่จะไปคุยกับคนอื่น อาจจะเป็นเพราะว่าเขารู้สึกว่าคนในครอบครัวไม่ได้เป็น safe zone สำหรับเขาและไม่พร้อมที่จะเปิดใจที่จะรับฟังเขาจริง ๆ
ทำอย่างไร เมื่อ บ้านไม่ใช่ Safe Zone ?
แต่ละครอบครัวก็จะเจอกับเหตุการณ์ที่ค่อนข้างแตกต่างกันมาก ๆ เมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย เข้าบ้านไปแล้วจะต้องระแวงตลอดเวลาว่าวันนี้จะเจอกับอะไร จนเกิดความรู้สึกไม่อยากกลับบ้าน
ถ้าเราเกิดความรู้สึกนี้เราอาจจะค่อย ๆ สำรวจ,ทบทวนและตกตะกอนกับตัวเองก่อน
1. ทำความเข้าใจ
“เขาก็คือเขา” ลองค่อย ๆ ทำความเข้าใจว่าแม่ก็คือแม่ พ่อก็คือพ่อ ลึกลงไปกว่านั้นอยากจะให้ทำความเข้าใจว่านั่นคือบุคลิกของเขา
เช่น แม่เป็นคนปากร้าย พ่อเป็นคนเงียบขรึม พี่สาวเป็นคนเสียงดัง น้องสาวเป็นคนเอาแต่ใจ
ถ้าเราค่อย ๆ ทำความเข้าใจว่านั่นคือเขา เป็นบุคลิกของเขาที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก เราก็จะยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นได้มากขึ้น ลดเสียงของตัวเองลง พูดคุยและรับฟังกันและกันได้มากขึ้น
เมื่อเราเข้าใจตรงนี้แล้ว เราก็จะไม่โกรธหรือเกิดความรู้สึกด้านลบเกิดขึ้นกับเรา
“ช่วงวัย” เพราะเราเกิดคนละยุคสมัยกับเขา มุมมอง การคิด การตัดสินใจ หรือว่าทัศนคติหลาย ๆ อย่างอาจจะแตกต่างกัน ลองค่อย ๆ ยอมรับว่าเราและเขาไม่มีทางเหมือนกัน ไม่มีทางคิดตรงกัน
ลองเข้าไปนั่งในมุมของแต่ละคน เปิดใจรับฟังกัน เพื่อที่จะเข้าใจกันและกันได้จริง ๆ
2. การยอมรับ
ถ้าเราเริ่มที่จะเข้าใจความเป็นเขาและความแตกต่างระหว่างวัยได้มากขึ้น เราจะเกิดการยอมรับ ยอมรับว่าเราเปลี่ยนเขาไม่ได้ เราเปลี่ยนบ้านไม่ได้
สุดท้ายเราก็ต้องอยู่กับครอบครัวนี้ การที่เรายอมรับตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าเรากำลังบั่นทอนหรือยอมรับกับชะตากรรมของตัวเอง แต่เป็นการเปลี่ยนโฟกัสของตัวเรา ให้หันกลับมาโฟกัสตัวเราได้มากขึ้น
3. หาพื้นที่ให้ตัวเอง
ในช่วงเวลาที่มีโอกาสอยากให้ลองหาพื้นที่ให้กับตัวเองได้อยู่กับตัวเองบ้าง เพราะการที่เราได้พักจากมรสุม ก็ทำให้เราได้กลับอยู่กับตัวเองมากขึ้น กลับมามั่นคงและปลอดภัยกับความรู้สึกตัวเองมากขึ้น
ในช่วงเวลาแบบนั้นอาจจะหากิจกรรมที่ชอบหรือผ่อนคลายทำ เพื่อจะทำให้เรากลับมาสนุกกับชีวิตต่อได้ ลองพักจากการที่มองดูครอบครัว เพื่อกลับมาอยู่กับตัวเองและลดการตั้งคำถามแนวลบอยู่ตลอดเวลา
ครอบครัวไม่รับฟังเรา แบบนี้เรียกว่าบ้านไม่ใช่ Safe Zone ได้ไหม ?
“การไม่ฟังก็อาจจะนำไปสู่ความรู้สึกว่าเขาไม่ได้เข้าใจเรา” บางทีบางบ้านพยายามแล้ว การฟังด้วยการพูดคุยกันมันง่ายก็จริงแต่การฟังเพื่อให้เข้าใจกันไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ปกครองหลายคนมองว่า
“ฉันบอกอะไรคือถูกต้องที่สุด ฉันคือพ่อแม่ เธอต้องเชื่อฟังฉัน” พอเจอกับอะไรแบบนี้มากจะทำให้เขาเกิดคำถามมากมายเกิดขึ้น
โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่นที่เป็นช่วงที่ก้าวสู่การเป็นตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่อยากให้พ่อแม่ลองเริ่มต้นจากยอมรับ ว่าเขาจะมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลาและเขาเริ่มอยากมีสังคมของตัวเองแล้ว
ครอบครัวชอบทะเลาะกัน เราควรทำยังไงดี ?
การที่ครอบครัวชอบทะเลาะกันนำไปสู่มากกว่าคำว่าบ้านไม่ใช่ Safe Zone หรือไม่ใช่ Comfort Zone การที่เราเปิดประตูเข้ามาแล้วถูกทำร้ายทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
จนเกิดความระแวงว่าจะโดนทำร้ายผ่านคำพูด ผ่านการตั้งคำถามหรือเปล่า เหมือนว่าพอเปิดประตูกับมาบ้านก็เจอกับคำถามเลย นั่นคือการถูกทำร้ายด้านจิตใจได้เช่นกัน
ให้เราทุกคนลองนั่งลงก่อน ค่อย ๆ เปลี่ยนจากการตั้งคำถามที่บั่นทอนจิตใจไปเป็นคำถามแสดงความห่วงใย เช่น วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง? ถ้าลูกไม่อยากเล่า พักก่อนนะ ไว้พร้อมเเล้วเราค่อยมาคุยกัน
เพราะบางครั้งการตั้งคำถามว่า ทำไมวันนี้เป็นแบบนี้? ทำสิ่งนั้นหรือยัง? ทำไมไม่ทำ? อาจจะทำให้เขาไม่รู้สึกว่าสบายใจที่จะเล่าให้ฟัง พอเขาไม่เล่าให้เกิดก็จะนำไปสู่การทะเลาะกันที่รุนแรง
“ครอบครัวต้องมาก่อน” คิดอย่างไรกับคำ ๆ นี้
เพราะว่าไม่ใช่ทุกบ้านที่จะรู้สึกว่าบ้านคือเซฟโซน บ้านแต่ละหลัง ครอบครัวแต่ละครอบครัว ก็ถูกเลี้ยงดูกันมาคนละรูปแบบ บางคนคิดว่าครอบครัวต้องมาก่อน
พอเขาเจอกับคนที่ไม่ได้คิดแบบนี้ก็อาจจะมองว่าคนนั้นเป็นคนไม่ดีหรือเป็นคนที่ผิด
อยากให้ลองทำความเข้าใจก่อนว่า ที่เขาคิดแบบนั้นเป็นเพราะเขาอาจจะเจอเรื่องร้าย ๆ มาก็ได้ เพราะฉะนั้นพยายามไม่ไปตัดสินคนอื่นที่ไม่ได้คิดว่าครอบครัวต้องมาก่อนเป็นคนไม่ดี
การที่เขาเจอกับสถานการณ์ครอบครัวแบบนั้นมา ก็เป็นสิทธิ์ของตัวเขาที่จะเกิดความคิดหรือความรู้สึกนี้ขึ้นได้
สุดท้ายแล้วความรักและความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการอยู่ร่วมกันในครอบครัว เพราะหากครอบครัวเข้าใจและพร้อมที่จะเปิดใจรับฟังกันและกัน
ก็จะส่งผลให้ทุก ๆ คนอยากที่จะพูดคุย แบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตให้ฟังและไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็จะนึกถึงบ้านเป็นสถานที่แรกเสมอ
Post Views: 16,058