แฟนเป็นโรคซึมเศร้า

แฟนป่วยโรคซึมเศร้า ส่วนเราเอาไงดี? รับมืออย่างไร

เรื่องAdminAlljitblog

เมื่อเราพบกับสถานการณ์ที่ แฟนป่วยโรคซึมเศร้า เราจะมีวิธีการรับมืออย่างไร?

 

ในบทความนี้ Alljit ร่วมกับคุณวันเฉลิม คงคาหลวง (นักจิตวิทยาการปรึกษา) เจ้าของแฟนเพจ Trust.นักจิตวิทยาการปรึกษา

 

จะมาบอกเล่าและแนะนำเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและวิธีการรับมือกับแฟนที่ป่วยโรคซึมเศร้า

ทราบหรือไม่? โลกของเรามีประชากรที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 300,000,000  คนเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรไทยทั้งประเทศมีประมาณ 69,000,000 คน

 

นั่นหมายถึง ประเทศไทยรวมกัน 4 ประเทศยังน้อยกว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 

 

ยกตัวอย่างมาแบบนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าซึมเศร้า อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิดและหลายคนมีแฟนป่วยซึมเศร้า เราอาจจะไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ ไม่ทราบว่าควรรับมืออย่างไร

 

บางครั้งกลัวว่าพฤติกรรมปกติของคุณนั้นอาจจะกระทบจิตใจแฟนมากกว่าปกติ

 

หรือสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้มันไม่ถูกต้องก็อาจจะเกิดความลำบากใจ หรือบางคนไปเอาใจเขามากเกินไปก็เหนื่อย แล้วจะทำอย่างไรดี…

ผู้ป่วยซึมเศร้า แบ่งออกเป็น 3 ระดับ

1.ระดับเรื้อรัง 

ซึมเศร้าต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน ในภาษาของนักวิชาชีพอาจจะพูดได้ว่าอาการทางจิตเวชหรือโรคซึมเศร้าได้กัดกินตัวตนเขาไป

 

นั่นหมายถึงการที่เขาไม่เป็นตัวของตัวเองมีความเศร้าปะปนอยู่ในตัวเขาจนทำให้เขาคิดลบตลอดเวลา

 

รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าไม่สามารถมีความสุขได้ นอนทั้งวันไม่อยากพาตัวเองออกไปไหน ไม่หลงเหลือความเป็นตัวเองหากเหลือแต่ก็ไม่มากหากพูดกันโดยรวมแล้วในผู้ซึมเศร้าเรื้อรังมักมีพฤติกรรมที่คล้ายกันมาก ๆ

2.ระดับกลาง 

ผู้ป่วยที่ซึมเศร้ามานานมากกว่า 2 ปีขึ้นไป ผู้ซึมเศร้ายังมีความเป็นตัวของตัวเองหลงเหลืออยู่

 

หรือความเป็นตัวของตัวเองนั้นอาจจะเปลี่ยนแปลงไปจึงทำให้เขารับมือกับปัญหาหรือแก้ปัญหาที่เข้ามาได้ยากขึ้น

3.ระดับเริ่มต้น

ผู้ป่วยอาจจะมีอาการซึมเศร้าตั้งแต่ 2 อาทิตย์ถึง 2 ปี ผู้ป่วยจะยังคงมีความเป็นตัวของตัวเองอยู่

 

แต่ในช่วงเวลาที่รู้สึกแย่ ดิ่ง เศร้า จะควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจจะไม่ได้เป็นไปทั้งหมดที่พูดมาแต่ส่วนมากจะมีลักษณะอาการเหล่านี้ 

 

ซึ่งหากเรารู้เบื้องต้นจะได้ประมาณการได้ว่าคนใกล้ชิดซึมเศร้ายู่ในระดับไหน

แนวทางการแก้ไขเมื่อ แฟนป่วยโรคซึมเศร้า ?

พาไปพบจิตแพทย์

นักจิตวิทยามักได้รับคำถามมากมาย เช่น ซึมเศร้ามีเพื่อนได้ไหม? ซึมเศร้าเรียนหนังสือได้ไหม? เป็นซึมเศร้าต้องทำอย่างไร?

 

ซึ่งถ้าให้ตอบแบบรวดเร็วก็คือทำได้ แต่ว่าต้องไปพบจิตแพทย์ควบคู่ไปด้วย เพราะการหาหมอคือความรับผิดชอบ เมื่อเราป่วยเราต้องไปพบหาหมอนั่นเป็นเรื่องปกติ 

 

แต่ถ้าหากผู้ป่วยเลือกที่จะไม่ไปหาหมอ คงต้องย้อนกลับมาถามตัวเองแล้วว่าทำไมเราถึงคิดแบบนั้น

 

ทั้ง ๆ ที่อาการสามารถดีขึ้นได้และมีหนทางที่จะกลับมาปกติอีกทั้ง การไปพบแพทย์ยังทำให้ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องอีกด้วย

แท้จริง แฟนป่วยโรคซึมเศร้า ไหม หรืออาการซึมเศร้าของแฟนนั้นมีอาการจิตเวชอื่นร่วมอยู่ด้วย? 

ในอีกกรณีหนึ่งที่เป็นไปได้คือ เป็นโรคจิตเวชอื่น ยกตัวอย่างเช่น Adjustment Disorder โรคที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์อื่นได้

 

มักมีอาการของโรคซึมเศร้าออกมา เพราะฉะนั้นจะมีการดูแลที่แตกต่างออกไป

 

การพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยจึงสำคัญมาก การทานยาก็สำคัญมากเช่นกัน โดยทั่วไปในตัวผู้ป่วยซึมเศร้า มักมีอารมณ์ดิ่ง วิตกกังวล ควบคุมตัวเองไม่ได้ หลัง ๆ มาก็เริ่มนอนไม่หลับถ้าเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นจะไม่มีทางจบสิ้น

 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายที่สุดเช่น หากเรานอนไม่หลับ เราจะพักผ่อนไม่เพียงพอ

 

ต่อมาเราจะอ่อนเพลียทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่และเมื่อทำงานได้ไม่เต็มที่ก็มีปัญหาตามมาคือความเครียดและสุดท้ายก็กลับไปนอนไม่หลับเหมือนเดิม

 

นักจิตวิทยาจึงบอกไว้ว่า การทานยาจะช่วยตัดรอบวงจรความคิดเหล่านี้ได้

หากแฟนไม่ยอมไปพบจิตแพทย์ 

เราเองสามารถที่จะพบจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาก่อนได้ว่า ถ้าหากเราอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้จะจัดการอย่างไรดี?

 

หรือในกรณีถ้าแฟนหยุดการรักษาไปไม่รักษาอย่างต่อเนื่องก็ควรที่จะต้องรีบพากลับไปรักษาเพราะอาการของโรคซึมเศร้ายังคงดำเนินต่อไป

 

ซึ่งการพบจิตแพทย์เป็นทางออกที่ดี เราจะได้รับคำปรึกษาและคำแนะนำว่าเราควรดูแลแฟนอย่างไรจึงจะทำให้เราและคนรักเข้าใจกันมากขึ้น

ในกรณีที่มาทราบทีหลังว่าแฟนของคุณเป็นซึมเศร้าและกำลังอยู่ในการรักษา 

ซึ่งการรักษานั้นอาจจะยังไม่ราบรื่นแล้วส่งผลกระทบต่อตัวคุณ ฉะนั้นควรจะต้องเรียนรู้ในสิ่งที่เขาเป็นต้องใช้ความพยายามมากขึ้น

 

ควรทราบถึงธรรมชาติของอาการซึมเศร้า รวมถึงทราบด้วยว่าเแฟนป่วยแบบไหน หาข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ตหรือสอบถามโดยตรงจากจิตแพทย์ประจำตัวแฟน

 

หรือแม้แต่กระทั่งถามตัวแฟนคุณเอง แต่อาจจะต้องระวังอย่าเชื่อเขาทั้งหมด ในบางครั้งตัวผู้ป่วยเองอาจจะไม่ได้รับรู้ถึงอาการของตัวเองทุก ๆ ด้านทั้งนี้ทั้งนั้นเราศึกษาได้ แต่ไม่ได้สามารถตัดสินได้ทั้งหมดว่าสิ่งที่เราค้นคว้ามาตรงกับสิ่งที่เขาเป็น

 

ควรศึกษาการดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าต้องเตรียมตัวอย่างไร และรับมืออย่างไรบ้างหรือสุดท้ายเราอาจจะลองเข้าอบรมเข้าคอร์สเกี่ยวกับการอยู่กับผู้ป่วยซึมเศร้าโดยผู้เชี่ยวชาญก็ได้

แบบทดสอบภาวะซึมเศร้าในอินเตอร์เน็ตบ่งบอกว่าเราซึมเศร้าได้หรือไม่?

แบบทดสอบ PSQ9 คือแบบประเมินภาวะซึมเศร้าเท่านั้น ประมาณการได้ แต่ไม่แม่นยำไม่ใช่เครื่องมือตรวจว่าป่วยหรือไม่ป่วย

 

เพื่อความถูกต้องนักจิตวิทยาอยากให้พบจิตแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและทราบผลที่แน่ชัดว่าเราป่วยซึมเศร้าหรือไม่

 

แพทย์จะสามารถแนะนำได้อีกด้วยหากเราไม่ได้ป่วยซึมเศร้า แล้วภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นนี้คืออะไร แล้วเราจัดการแก้ไขได้อย่างไร

 

ท้ายที่สุดแฟนเราก็คือแฟนเราอย่าไปมองว่าเขาป่วยอยากให้มองว่าเขาคือคน ๆ หนึ่งที่มีปัญหาเข้ามาในชีวิต

 

นี่คือชีวิตของเขา อยู่กับเขาในแบบที่เขาเป็น และลองถามใจตัวเองว่าคุณยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นได้ไหม