ทำความรู้จัก โรคไบโพลาร์ (bipolar) หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว แม้ว่าตอนนี้ประเทศไทยจะมีคนป่วยเป็นโรคไบโพลาร์น้อยกว่าซึมเศร้า แต่ถ้าเราสามารถรู้ว่าต้องรับมือ
และเตรียมตัวอย่างไรก็จะสามารถช่วยลดการเผชิญกับโรคนี้ได้
บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ
โรคไบโพลาร์ โรคอารมณ์สองขั้ว คืออะไร
โรคไบโพลาร์ ประกอบไปด้วย 2 ขั้ว คือ
ขั้วที่ 1 Manic Episode ความคิด การตัดสินใจ ในช่วงนี้จะเกิดขึ้นอย่าง รวดเร็ว ตื่นตัวมากกว่าปกติ จนตัวเขาไม่สามารถควบคุมได้
ขั้วที่ 2 Depressive Episode คือการเศร้าลงผิดปกติ รู้สึกเบื่อ ทำอะไรก็ไม่มีความสุข
ทั้งนี้ต้องดูที่มาที่ไปของอารมณ์ตัวเองว่าเกิดจากอะไร เราควบคุมจัดการได้ไหม? ถ้าเรายังจัดการอารมณ์ได้อยู่นั่นไม่ใช่อาการของโรค เป็นแค่การควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่เหมาะสมเท่านั้น ถ้าหากไม่แน่ใจในภาวะอารมณ์ของตัวเองก็สามารถเข้าไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยได้
สาเหตุ โรคไบโพลาร์
1. พันธุกรรม บุคคลในครอบครัวมีอาการทางจิตเวชมาก่อน
2. พื้นฐานอารมณ์ และการจัดการอารมณ์ ในบางคนที่กดทับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองเอาไว้ อาจมีวันหนึ่งที่อารมณ์ระเบิดออกมาและ active จนเกิดเป็นไบโพล่าร์ได้
3. มิติของสังคม การที่เราอยู่ในสังคมแวดล้อมที่ไม่ดี ก็ส่งผลต่อสภาวะอารมณ์ของเรา
สังเกตอย่างไร ว่าอาการแบบนี้ต้องเข้าไปพบแพทย์แล้ว
1. เขารู้สภาวะอารมณ์ของตัวเองไหม เช่น เขาพูดเสียงดัง จนคนรอบข้างสังเกตและรู้สึกผิดปกติ แต่ตัวเขาเองบอกไม่รู้ตัว
2. สุขอนามัย ผู้ป่วยจะไม่ตระหนักถึงการดูแลตัวเอง
3. ความสัมพันธ์ ทำให้เขาแยกตัวออกจากสังคม ไม่ออกมาเจอเพื่อนหรือครอบครัว
ทั้งนี้ต้องใช้ระยะเวลาสังเกตมากกว่า 1-2 สัปดาห์ ติดต่อกัน หากมีพฤติกรรมข้างต้นติดต่อกันควรเข้าไปพบจิตแพทย์
ทำอย่างไรดี หากคนใกล้ชิดมีอารมณ์ 2 ขั้ว
1. สะท้อนอารมณ์ให้เขาเห็นตัวเอง เช่น ช่วงนี้อารมณ์เสียบ่อยนะ ลองไปหาหมอหน่อยไหม เพื่อให้เขาเข้าไปหาหมอก่อน เพื่อวินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคจริงหรือไม่
2. หากเขาเป็นโรคอารมณ์สองขั้วจริง เราต้องความเข้าใจตัวโรคก่อนว่าเป็นยังไง ผู้ป่วยจะแสดงอาการอะไรออกมาได้บ้าง อาการไหนที่ผิดปกติ เมื่อเราเข้าไปพบแพทย์เราจะสามารถแจ้งอาการของเขาได้
3. ไม่ขัดขวางการรักษาของผู้ป่วย เช่น ห้ามไม่ให้ทานยา,ดุด่า ว่าเป็นที่นิสัยไม่ได้ป่วย,ต่อว่าผู้ป่วยทำไมทำอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นต้น
ต้องตามใจผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ไหม?
ถ้าหากเราเข้าใจตัวผู้ป่วย และอาการของโรค เราจะรู้วิธีรับมือ ในบางกรณีที่ผู้ป่วยเขาแสดงอาการไม่ดีออกมา เราควรสะท้อนให้เขาได้เห็นตัวเอง หรือหากเรารับไม่ไหวก็สามารถพาตัวเองออกมาก่อนและ คอยมองเขาอยู่
ห่าง ๆ ได้ ให้ตัวเราได้พักผ่อนซักนิกเพื่อกลับไปดูแลเขาได้อย่างเต็มที่
โรคไบโพลาร์ หายขาดได้ไหม?
ในทางการแพทย์ จะใช้คำว่า คนไข้จะดีขึ้นและดูแลตัวเองได้ การหยุดกินยาไม่ได้หมายความว่าจะไม่กลับมาเป็นอีก แต่ผู้ป่วยต้องดูแลตัวเองให้ดี ไม่พาตัวเองไปเจอสิ่งกระตุ้น
Post Views: 3,152