เคยไหมเวลาที่เราเจอกับสถานการณ์ที่กดดันหรือเจอกับเรื่องเครียด เรามักจะชอบ วิตกกังวล เกินไปทุกที จนบางครั้งความกังวลนั้นส่งผลให้เรากินไม่ได้นอนไม่หลับ ใจสั่น มือชา
มาร่วมหาคำตอบว่าความวิตกกังวลคืออะไร และเราจะสังเกตได้อย่างไรว่าเรากำลังวิตกกังวลมากเกินไป Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ
ความ วิตกกังวล คืออะไร?
“ความวิตกกังวล” เป็นภาวะอารมณ์ปกติที่คนทั่ว ๆ ไปเกิดขึ้น เวลาที่เจอความเครียดหรือปัญหาอะไรที่เข้ามาแล้วจัดการไม่ได้ ความวิตกกังวลก็จะเข้ามาแทนที่ตรงนั้น เพราะอาจจะเกิดจากความกลัว ความไม่มั่นคงในจิตใจ กลัวในสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้
“ความกังวลคือแรงกระตุ้น”
>ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ความกังวลก็จะเป็นแรงกระตุ้นที่ดีมาก ๆ ที่ทำให้เรามีการคิดและการวางแผนในการจัดการกับปัญหาหรือรับมือกับปัญหาไว้ล่วงหน้าก่อน
“ความกังวลก่อให้เกิดความเสียหายทางสุขภาพจิต”
>>ในทางกลับกัน ความวิตกกังวลก็ก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านสุขภาพจิตกับใครหลาย ๆ คน เวลาที่เรามีความวิตกกังวลมากเกินไป มันจะส่งผลต่อสุขภาพจิตของเราให้แย่ลง
สุขภาพจิตแย่ดูได้จากอะไร?
1. กังวลจนอธิบายไม่ได้ว่ามันคืออะไรหรือเปล่า?
ลองสังเกตว่าความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นมันมากกว่าที่จะอธิบายว่าคือความเครียดอะไรไหม เพราะความวิตกกังวลจะต่างจากความเครียด ถ้าเราพูดถึงความเครียดจะรู้ได้ว่าปัญหาตรงนั้นคืออะไร
เราจะรู้ว่าที่มาที่ไปของความเครียดคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกเครียด
แต่ถ้าเริ่มรู้สึกว่าความเครียดเหล่านั้นเริ่มไม่มีที่มาที่ไป เริ่มเป็นความวิตกกังวลมาแทนที่และมากเกินกว่าที่เราจะอธิบายได้ อาจจะเป็นสัญญาณว่าเราอาจจะวิตกกังวลมากเกินไป
2. ระดับความกังวลรุนแรงมาก-น้อยแค่ไหน?
ลองสังเกตว่าความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน จนร่างกายเราเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอัตโนมัติ มือชา เหงื่อออกเยอะกว่าปกติ เริ่มพูดไม่รู้เรื่องเวลาที่เราต้องไปพรีเซ้นหน้าห้องเรียนหรือมีการนำเสนองานในห้องประชุม
ถ้ามีลักษณะแบบนี้แล้ว อาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าเรากำลังกังวลมาก ๆ จนมีท่าทางหรือบุคลิกภาพบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลอยู่ในนั้น
3. กังวลอย่างต่อเนื่องไหม?
ถ้าเราเป็นคนที่มีความวิตกกังวลแบบต่อเนื่อง แม้สิ่งเหล่านั้นจะจบลงไปแล้วก็ตาม ความกังวลก็ยังไม่หายไป เรายังคงเก็บเอาเรื่องนั้นมาคิดอยู่ เราจมวนเวียนกับมัน จนเริ่มรบกวนเรามาก ๆ แล้ว เราไม่สามารถที่จะหยุดคิดได้เลย
4. ความกังวลกำลังเข้ามารบกวนตัวเราเกินไปหรือเปล่า?
ความวิตกกังวลเหล่านั้นที่เกิดขึ้นกำลังเข้าไปรบกวนการใช้ชีวิตของเราหรือเข้าไปรบกวนกิจวัตรประจำวันของตัวเราหรือเปล่า
ถ้าความวิตกกังวัลเริ่มเข้าไปกระทบการเรียนหรือการทำงาน เช่น เริ่มนำเสนองานไม่ได้เลย เริ่มแบบพูดไม่รู้เรื่อง กลัว ที่จะเข้าไปเจอกับคนใหม่ ๆ หรือพอมีการเปลี่ยนแปลงอะไรก็จะกังวลมาก จนทำให้เราไม่สามารถทำอะไรได้
ถ้าเรามีความ วิตกกังวล มากเกินไปจะทำอย่างไรดี?
1. อย่าตื่นตระหนกและมีสติ
อย่าตื่นตระหนกหรือว่าตื่นตัวกับมันมากเกินไป คือ ตื่นตัวได้แต่ต้องไม่ตื่นตระหนก ก่อนอื่นเราจะต้องรู้ตัวก่อนว่าตัวเราเองกำลังกังวลอยู่นะ เราจะต้องมีสติรับรู้อารมณ์ของตัวเองก่อน เพราะมันกำลังจะเป็นประตูไปสู่อารมณ์อย่างอื่น
สังเกตตัวเองง่ายที่สุดเลยก็คือ ต้องมีสติในการรับรู้อาการทางกาย พอเราไปอยู่ในสถานการณ์อะไรบางอย่าง แล้วเราเริ่มใจสั่น มือสั่น มีเหงื่อออก มีอาการปวดหัว บางคนมีอาการท้องเสียอยากจะเข้าห้องน้ำอยู่ตลอดเวลา รู้สึกมวนท้อง
เป็นสัญญาณที่ทำให้เราตระหนักกับตัวเองแล้วว่า เราเริ่มวิตกกังวลกับอะไรหรือเปล่า เพราะการที่เรามีสติและกลับมาดูอาการทางกายของเราว่ามันอาจจะเชื่อมโยงได้กับภาวะความกังวล จะทำให้เราสามารถเข้าใจตัวเองและรู้ว่าเรากำลังอยู่ในความกังวล
เพื่อที่ตัวเราเองจะได้ค่อย ๆ เรียบเรียงว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น เราจะหาวิธีการ ผ่อนคลายความกังวลตรงนี้ได้ยังไงบ้าง
2. เรียนรู้การเตรียมความพร้อมเวลาเจอกับความเครียด
เราควรจะเรียนรู้การเตรียมพร้อมทั้งกายและจิตใจในภาวะที่เราจะต้องเผชิญกับความเครียด การที่เราจะทำให้จิตใจเราพร้อมก็คล้าย ๆ กับการที่เราฝึกออกกำลังกาย
คือต้องหมั่นฝึกทำให้เรารู้เท่าทันจิตใจของตัวเราเอง ให้ร่างกายตัวเองได้มี โอกาสผ่อนคลาย ได้มีช่วงเวลาที่ได้กินอาหารอร่อย ๆ ได้ออกไปในที่ที่เราอยากไป ได้ทำกิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันแฮปปี้กับตัวเองมาก ๆ
ถ้าเรามีกิจกรรมผ่อนคลายและทำให้ร่างกายเราไม่ได้อยู่ในภาวะตึงเครียด เราก็จะมีช่วงเวลาที่พักผ่อนได้บ้าง เวลาที่ความกังวลเกิดขึ้นเราก็จะควบคุมมันได้และรู้ว่าเราต้องทำอะไรให้ตัวเองผ่อนคลายได้…
Post Views: 2,047