ประสบเหตุการณ์ถูกคนที่ไว้ใจหักหลัง หรือเหตุการณ์ที่เคยพบเจออาจทำให้ใครหลายคนต้องปิดกั้นตัวเอง กลัวการไว้ใจคนอื่น ไม่อยากใกล้ชิดสนิทกับใครไปมากกว่านี้ จนสุดท้ายอาจนำไปสู่โรคกลัวการไว้ใจคนอื่น
ประสบการณ์และผลเสียของการ กลัวการไว้ใจคนอื่น
ประสบการณ์กลัวการใว้ใจคนอื่น เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำความรู้จักกับคนใหม่หรือเข้าสังคมใหม่ สาเหตุที่มีพฤติกรรมแบบนั้นเพราะไม่รู้ว่าที่เขาดีกับเรา เขาต้องการผลประโยชน์อะไรหรือเปล่า
ที่เขาดีกับเรา ลับหลังแล้วเขาอาจจะไม่ชอบเราหรือพูดถึงเราในทางที่ไม่ดีไหม และเมื่อกลัวการไว้ใจคนอื่น แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมา คือ กลัวการสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งอาจทำให้
1. ขาดโอกาสสร้างความทรงจำดี ๆ เพราะกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าจดจำเกิดขึ้นเมื่อมีใครสักคนรับรู้ไปพร้อม ๆ กัน
2. ขาดโอกาสที่จะเรียนรู้ชีวิตและมุมมองของคนอื่น ซึ่งสิ่งนั้นอาจเป็นประโยชน์กับเราทางใดทางหนึ่ง
ประสบการณ์กลัวการไว้ใจคนรัก กลัวการเชื่อใจ สาเหตุเกิดจากการถูกหักหลัง หรือเคยมีประสบการณ์ที่เคยถูกนอกใจจากคนรัก ทำให้ไม่กล้าที่จะไว้ใจคู่รักอีกต่อไป
และสิ่งที่จะตามมา คือ ความสัมพันธ์นั้นอาจเดินหน้าไปต่อด้วยความวาดระแวง เครียดสะสม ไม่กล้าทุ่มเทใจให้กับใคร ไม่กล้าที่จะให้คนรักห่างจากสายตา
กลัวการไว้ใจคนอื่น = ผิดปกติไหม
กลัวการไว้ใจคนอื่นถือว่าไม่ผิดปกติ เพราะประสบการณ์จากความรัก หรือความสัมพันธ์ที่ไม่ดี จะทำให้เรารู้สึกกลัวไปเองตามธรรมชาติ ทำให้เวลาเราคิดที่จะเริ่มต้นใหม่ เราจะคิดให้ดีและรอบคอบมากกว่าเดิม
เป็นกลไกเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ต้องบอบช้ำอีกครั้งจากคนใจร้าย ซึ่งก่อนที่เราจะมีความกลัวการไว้ใจคนอื่น แน่นอนว่าต้องมีสาเหตุมาจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มันมากระทบต่อความรู้สึกของเราเป็นอย่างมาก
เช่น การถูกหักหลังจากคนใกล้ตัว การถูกหักหลังจากคนที่เราไว้ใจ หรือการถูกทำให้ผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่านั่นเอง
ถึงแม้ว่าการที่เราจะไม่ยอมไว้ใจคนอื่นอาจเป็นกลไกธรรมชาติของคนที่เคยโดนกระทำให้รู้สึกเจ็บมาก่อน แต่การกลัวการไว้ใจคนอื่นก็สามารถพัฒนากลายเป็นโรคกลัวการไว้ใจคนอื่น หรือ Pistanthrophobia ได้
ซึ่งในทางจิตวิทยา พฤติกรรม ความคิด ความรู้สึก หรืออารมณ์ ที่จะเรียกว่าเป็น “ความผิดปกติ” ได้
จะต้องได้รับการวินิจฉัยตามเกณฑ์ ซึ่งสิ่งนั้นจะต้อง รุนแรง และยาวนานมากพอในระดับที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน คือ ไม่สามารถไปเรียน ไปทำงาน หรือใช้ชีวิตตามปกติได้
วันนี้เรามีวิธีการเช็คตัวเองที่ทำได้ง่าย ๆ มาให้สำรวจตัวเองกันเบื้องต้น ซึ่งโรคกลัวการไว้ใจคนอื่นต้องมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย
1. ตัดสินผู้อื่นก่อนที่จะได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของเขา
2. ยึดติดอยู่กับตัวเองตลอดเวลา ไม่ยอมเปิดใจให้ใคร
3. ไม่สนใจแม้จะมีใครพยายามให้ความช่วยเหลือ หรือเข้ามาพูดคุยกับเรา ติดอยู่กับความคิดที่ว่าคนอื่นพูดโกหกกับเรา ไม่ว่าเขาจะพูดอะไรก็ดูไม่ใช่เรื่องจริงไปซะหมด
4. ไม่เคยคิดจะร้องขอความช่วยเหลือจากใคร ไม่ว่าจะเจออันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจก็ตาม
รู้จัก โรคกลัวการไว้ใจคนอื่น
ถ้าความกลัวนั้นรุนแรงมากจนทำให้คน ๆ หนึ่ง ปิดตัวเอง ไม่เปิดรับใคร ไม่สร้างความสัมพันธ์กับใคร อยากพาทุกคนไปรู้จักกับคำว่า โรคกลัวการไว้ใจคนอื่น หรือที่เรียกว่า Pistanthrophobia
คำว่า phobia หมายถึง ความกลัวที่รุนแรงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราจะเห็นคำนี้ถูกนำไปใช้ต่อท้ายคำอื่นมากมายซึ่ง phobia ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของโรควิตกกังวล
Point หลัก คือ ความกลัวที่รุนแรงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งนี้ มักจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลรู้ว่าตนเองจะต้องประสบกับเหตุการณ์ที่เป็นอันตราย สำหรับคนที่กลัวการไว้ใจคนอื่น คนรอบข้างนี่แหละถือว่าเป็นสิ่งอันตรายสำหรับเขา
เขากลัวว่าเขาจะถูกทำร้ายได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ Point หลักอีกอย่าง คือ ความกลัวนั้น “มีต่อสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน” เรียกง่าย ๆ ว่า กลัวไปก่อน คือ ยังไม่รู้เลยว่าการเริ่มต้นใหม่ครั้งนี้
คนนั้นจะแย่จริงไหม คนนั้นจะทำร้ายเราหรือเปล่า แต่คิดในแง่ร้ายไปก่อนแล้ว
กลัวการไว้ใจคนอื่นมาได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น
1. ประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ถูกหักหลัง ถูกนอกใจ หรือถูกทำร้ายจิตใจในรูปแบบอื่น ๆ อาจจะเป็นทางตรง คือ โดนเอง หรือไม่ก็ ทางอ้อม
คือ คนที่รักโดน เช่น ความสัมพันธ์ของพ่อแม่จะส่งผลต่อมุมมองความสัมพันธ์ของเรา เราเห็นพ่อนอกใจแม่ อาจจะทำให้เรากลัวการไว้ใจคนอื่นเช่นกัน
2. ประสบการณ์รุนแรง ประสบการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ ที่ทำให้เกิด Trauma เช่น การถูกทำร้ายร่างกาย การถูกข่มขืน เหตุการณ์เหล่านี้จะทำให้เกิดปมและบาดแผลภายในจิตใจ
ทำให้ผู้ถูกกระทำมีปฏิกิริยาต่อสิ่งต่าง ๆ ที่จะเจอในอนาคต ซึ่งหนึ่งในนั้นมีความกลัวด้วย
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ผู้หญิงถูกผู้ชายที่มีลักษณะตัวใหญ่ข่มขืน มีโอกาสที่ผู้หญิงคนนั้นจะกลัวผู้ชายตัวใหญ่ทุกคนที่พบเจอในอนาคตได้
อ้างอิงจากเว็บไซต์ medical news today มีประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ ไม่ใช่ว่าทุกคนเจอเหตุการณ์เดียวกันแล้วจะเกิด trauma ทุกอย่างขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันทางจิตใจและปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ
วิธีจัดการกับตัวเองเมื่อ กลัวการไว้ใจคนอื่น
1. ให้เวลา
เพราะความกลัวการไว้ใจคนอื่น มีส่วนทำให้เราตัดสินคนอื่นเร็วและง่ายมาก การให้เวลาตัวเองได้ทำความรู้จักคนอื่น มีสติรู้ตัวว่าตอนไหนที่มีความคิดในแง่ร้าย จะช่วยให้จัดการอคติที่มีได้ง่ายขึ้น
ใช้วิธีการเตือนตัวเองว่า ใจเย็น ๆ ค่อยเป็นค่อยไป
2. ยกโทษ
“การยกโทษไม่ใช่เพื่อคนอื่นแต่เพื่อตัวเองต่างหาก” การเข้าใจว่าทุกการกระทำมีที่มา เช่น เขาอาจจะทำเพราะเขามีเหตุจำเป็น และบางครั้งการหาคำตอบก็ไม่ใช่เรื่องที่มีประโยชน์เสมอไป
เพราะทุกอย่างเป็นอดีตไปแล้ว การยกโทษจะทำให้เป็นอิสระและเริ่มต้นใหม่ได้อย่างมีความสุข
3. การเปิดใจ
“อย่าให้คนใจร้ายทำให้เราปิดกั้นตัวเอง” คิดว่าเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญมาก ๆ อย่างหนึ่ง เพราะหลายคนเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่ใจใครได้อีก ก็จะปิดกั้นตัวเองจากคนอื่น และไม่กล้าที่จะเปิดใจให้กับใครอีกต่อไป
วิธีจัดการกับตัวเองเมื่อกลัวการไว้ใจคนรัก
ประสบการณ์ในความสัมพันธ์ ถึงแม้เหตุการณ์จะได้เกิดขึ้นจนเป็นอดีตไปแล้ว แต่ความรู้สึกเหล่านั้นยังไม่เจือนจาง ยังคงสร้างบาดแผลที่ทำให้เกิดการกลัวไว้ใจคนรัก ซึ่งมีวิธีจัดการ คือ
1. พยายามจัดการกับความคิดของตัวเองก่อน แยกให้ออกว่าเรื่องนั้นคืออดีตที่เกิดขึ้นไปแล้วและจบไปแล้ว ส่วนตอนนี้คือปัจจุบัน
2. พยายามเชื่อใจ ไว้ใจ และคุยกันให้มาก ๆ เมื่อไหร่ที่เริ่มรู้สึกไม่สบายใจ ให้หันหน้าคุยกันในทันที
3. หากเริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังมีความรู้สึกไม่ไว้ใจเกิดขึ้นจนส่งผลทำให้ตัวเองคิดมาก ฟุ้งซ่าน พยายามหาอะไรให้ตัวเองทำยุ่ง ๆ เข้าไว้ เพื่อเปลี่ยนจุดโฟกัสไปที่อื่นแทน
ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละข้อไม่ใช่วิธีง่าย ๆ ที่คิดแล้วจะสามารถทำได้ในทันที ทุกอย่างต้องใช้เวลา การให้เวลาตัวเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ค่อย ๆ เรียนรู้ ค่อย ๆ ปรับ หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำนี้กันบ่อยครั้งว่า
“เวลาจะช่วยเยียวยาทุกสิ่ง” แต่หากเวลาไม่สามารถช่วยเยียวยาเราได้ การหาเวลาไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
อ้างอิง :
Pistanthrophobia
Post Views: 8,318