ถ้าพูดถึง การเปลี่ยนผ่านของช่วงวัย หรือ Coming of Age ทุกคนนึกถึงอะไรกันบ้าง . . .
บ้างก็นึกถึงการที่เราเติบโตการตกตะกอนของชีวิต บ้างก็นึกถึงหนังสือสักเล่มที่ทำให้เราได้อ่านทีละบท
มาร่วมกันนึกถึง Coming of Age ของแต่ละคนกัน 🙂 Alljit Podcast
Coming of Age คือ . .
เราได้ยินบ่อย ๆ กับคำว่า Coming of Age ภาพยนต์ส่วนใหญ่ก็มักจะเนื้อหาเกี่ยวกับ Coming of Age ของตัวละคร เลยขอยกอ้างอิงความหมายจาก Cambridge dictionary ได้กล่าวถึง Coming of Age ไว้ว่า
someone’s coming of age is the time when that person legally becomes an adult and is old enough to vote.
การบรรลุนิติภาวะที่บุคคลนั้นกลายเป็นผู้ใหญ่ตามกฎหมายและมีอายุมากพอที่มีสิทธเลือกตั้ง
the time when someone matures emotionally, or in some other way.
เวลาที่บุคคลมีวุฒิภาวะ,เติบโตทางอารมณ์หรือในทางอื่น
the time when something starts to become successful.
เวลาที่บางสิ่งประสบความสำเร็จ
แล้วจริง ๆ แล้วการ Coming of Age คืออะไร? ถ้าให้พูดถึงความหมายคงจะแตกต่างกันแล้วแต่ปักเจคบุคคลแต่ที่ชัดเจนคงเป็นเรื่องของคน ๆ นึงเติบโตผ่านวัยเด็ก วัยหนุ่มสาว วัยผู้ใหญ่ วัยชรา
การก้าวกระโดดจากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ Jumping From Adolescence Into Adulthood
การค้นหาตัวเอง
เป็นช่วงวัยที่เราเริ่มมีการตั้งคำถามกับตัวเองว่า จริง ๆ แล้วเราคือใคร,คนที่อยู่ข้าง ๆ เรามีใครบ้าง เป็นการค้นหาตัวเองในเกือบทุกๆอย่างไม่ว่าจะเป็น การงาน ความสุข ความสัมพันธ์
ความไม่แน่นอน
เป็นช่วงเวลาแห่งความไม่มั่นคง อาจเปลี่ยนงานหลายครั้ง ย้ายที่อยู่อาศัย เปลี่ยนแฟน การเป็นเปลี่ยนผ่านที่ต้องใช้การตัดสินใจบางทีก็เหนือเหตุผล
โฟกัสที่ตัวเองมากขึ้น
การเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เป็นครั้งแรกที่แต่ละคนสามารถทำสิ่งที่ต้องการโดยพื้นฐาน การมุ่งความสนใจไปที่ตัวเอง จุดประสงค์ที่จริงจังมากขึ้น มีความรู้สึกว่าต้องพึ่งพาตัวเอง
ความรู้สึกระหว่าง
เป็นความรู้สึกที่เรากำลังเป็นผู้ใหญ่หรือยังนะ มีการตั้งคำถามกับตัวเอง เหมือนเป็นความรู้สึกที่จะยอมรับดีไหมว่าเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว ลองนึกภาพว่าเราไปร้านอาหารแล้วเราเรียกพี่ ๆ ในร้านว่าพี่คะ แต่ตอนนี้เราต้องเปลี่ยนมาเรียกว่าน้องคะ
ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ
เป็นวัยที่เปลี่ยนแปลงชีวิต เป็นโอกาสที่จะได้เปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิต แยกออกจากครอบครัวไปใช้ชีวิตเอง หรืออาจหมายถึงใครที่เคยอยู่ในครอบครัวที่ Toxic นี่ก็เป็นโอกาสที่จะได้แยกตัวออกมา
สัญญาณที่ทำให้เรารู้สึกเราก้าวข้ามผ่านวัยหนึ่งมาแล้วนะ
ในหลาย ๆ วัฒนธรรม ของแต่ละมุมโลกก็มีตัวกำหนดการโตเป็นผู้ใหญ่เช่นกัน การจะเติบโตนั้นต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อรับกับความเจ็บปวด และสร้างความแข็งแกร่งขึ้นมา
ยกตัวอย่างหนึ่ง บนเกาะบัฟฟินแถบขั้วโลกเหนือ หนุ่มสาวชาวเอสกิโม หรืออินูอิต ที่มีอายุครบ 11 ปี ต้องออกไปเผชิญชีวิตกลางป่าอันหนาวเหน็บ เพื่อเรียนรู้วิธีการล่าสัตว์และเอาตัวรอดท่ามกลางภูมิอากาศอันเลวร้าย
นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กที่ยังไม่มีภาระ สู่วัยผู้ใหญ่ที่สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้
แล้ววัฒนธรรมบ้านเรามีอะไรค่อนข้างเป็นสิ่งที่ชัดเจน ว่าเฮ้ย แกเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้วนะ ถึงเวลาที่แกต้องทำแบบนี้ได้แล้วนะ
ที่คิดออกมาอย่างหนึ่ง คือการบวชในทางพระพุทธศาสนา เมื่อ อายุ 20 พอดีนั่นเอง เพื่อเรียนรู้ศึกษาพระธรรม และ หลังจากนั้นก็จะสามารถออกไปครองเรือน มีครอบครัวได้
แต่ถ้าในส่วนที่ไม่ได้เป็นรูปธรรมแต่เป็นสัญญาณหนึ่งที่รู้สึกว่ามันก็เป็นสัญญาณทำให้รู้สึกว่า นี่แหละ เรากำลังก้าวผ่านช่วงวัยหนึ่งแล้ว
เปลี่ยนมาใช้ปากกา
ตอนประถมจำกันได้ไหมว่า เราจะต้องใช้ ยางลบ,ดินสอ แต่พอถึงช่วงวัยหนึ่งจากประถม เราจะต้องเปลี่ยนไปใช้ปากกา จำได้ว่าตื่นเต้นที่จะต้องไปซื้อปากกา จะได้ซื้อลิควิด
เป็นการเปลี่ยนผ่านช่วงวัยจากเด็กที่ใช้ดินสอวาดรูป เขียนหนังสือ เป็นปากกา มันน่าตื่นเต้นมากเลย และรู้สึกเราโตอีกขั้นแล้ว
เปลี่ยนแนวเพลงที่ฟัง
จากเพลงที่ผู้ใหญ่เปิดในวิทยุ เสียงที่ได้ยินตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่เราไม่เคยเข้าใจว่ามันเพราะตรงไหน การใช้ภาษาที่เราไม่ได้มองว่ามันมีคุณค่า ตอนนี้กลับเข้าใจอะไรหลายอย่างและสนใจบทเพลงพวกนั้นแล้ว
ผมหงอก
คนปกติวัย 30 ปีขึ้นไปจะเริ่มมีผมหงอก เส้นผม เซลล์สร้างเนื้อผม เซลล์สร้างเม็ดสี ซึ่งจะคอยทำหน้าที่ป้อนเม็ดสีเข้าไปในเนื้อผม ทำให้เส้นผมไม่เกิดสีขาว เนื่องจากสาเหตุที่ผมมีสีขาวหรือที่เรียกกันว่า ผมหงอก
ในทางการแพทย์ให้คำอธิบายกับเรื่องนี้ว่า เกิดจากเม็ดสีเมลานินของเส้นผม ทำงานลดลง หรือหยุดทำงาน จึงทำให้ผมเป็นสีขาว ซึ่งจริง ๆ นี่ก็เริ่มเป็นสัญญาณที่ทำให้เรารู้สึกว่ากำลังก้าวผ่านอีกช่วงเวลามาแล้วนะ
เริ่มทานของที่เราไม่ชอบทานในตอนเด็กแต่ตอนนี้ดันอร่อยขึ้นมา
จากอาหารที่เคยมีรสขมในวัยเด็ก กลับเป็นอาหารที่เราหยิบทานและโปรดปรานในวันนี้
รับมือกับ ช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต
“ช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต คือเหตุการณ์สำคัญในชีวิตที่เปลี่ยนความรู้สึกที่มีต่อตัวเองจุดประสงค์ของตัวเอง และวิธีที่ดำเนินชีวิตไปในแต่ละวัน การสูญเสียชีวิต ชีวิตใหม่ และทุกสิ่งในระหว่างทาง”
จริง ๆ มันเป็นช่วงเวลาปกติที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกคน แต่มันเปราะบาง ไม่ง่าย และเป็นช่วงที่สำคัญที่เราควรจะจัดการกับมันให้ได้ เพราะไม่อย่างนั้นอาจทำให้เราไม่มั่นคงได้
เราจะพยายามหาวิธีรับมือกับความเปลี่ยนผ่านยังไงดี รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ด้วย
บทความหนึ่งที่น่าสนใจ จากนายแพท ผศ.นพ. อวิรุทธ์ อุ่นอารมย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เขียนไว้แต่ 3 วิธี จึงอยากนำมาฝากทุกคน 🙂
‘โอบรับ’ ความเปลี่ยนแปลง
หากเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น แล้วเราต่อต้านมัน ก็รู้สึกว่ามันจะยากขึ้นกว่าเดิมโดยธรรมชาติแล้วตราบใดที่เวลายังคงเดินต่อไป ความเปลี่ยนแปลงก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้นการ ‘โอบรับความเปลี่ยนแปลง’ จึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
‘รับมือ’ กับความเปลี่ยนแปลง
การรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ขั้นตอนต่อจากนี้จึงเป็นเพียงข้อแนะนำในการข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น
สำรวจใจ เมื่อเตรียมความพร้อมให้ใจโอบรับความเปลี่ยนแปลงว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติได้แล้วนั้น ขั้นถัดมา คือการสำรวจใจว่า รู้สึกอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงนั้นและสาเหตุที่ทำให้รู้สึกแบบนั้น
ส่วนมากแล้วก็จะเกี่ยวข้องกับมุมมองหรือความคาดหวังต่อสถานการณ์นั้น ๆ ซึ่งการจัดการกับอารมณ์ของแต่ละคนจะมีวิธีที่แตกต่างกันไป
ลองสำรวจกิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกผ่อนคลาย หรือหาคนที่สามารถรับฟังความรู้สึกเหล่านั้น ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ความรู้สึกดังกล่าวลดลงได้
การที่อารมณ์ลดลงแม้จะไม่หายสนิท แต่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ความสามารถของสมองส่วนเหตุผลได้ใช้มากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะหาแนวทางการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดส่วนมากจะไม่สามารถควบคุมได้ แต่ผลกระทบที่ตามมานั้นอาจมีทางที่จะป้องกันหรือควบคุมได้บางส่วน เมื่อรู้สึกงานมากเกินกำลัง อาจหยุดพัก หรือพูดคุยปัญหาปริมาณงานกับคนอื่นในทีม หากเป็นไปได้
เมื่อปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว หลายคนอาจมีผลกระทบด้านความรู้สึกตามมา เช่น ความรู้สึกผิด คิดว่าตนเองเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลง หรือรู้สึกโกรธ
คิดว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดจากการที่คนอื่นทำอะไรไม่สมเหตุผล ความรู้สึกเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ต้องระวังว่าอาจเผลอเอาความคิดเหล่านี้มาตัดสินตนเอง หรือคนอื่นในปัจจุบันและอนาคต
คำถามที่ควรตั้งไว้กับตัวเองเมื่อผ่านความรู้สึกเหล่านั้นมาแล้วคือ เราได้เรียนรู้อะไรจากสถานการณ์นี้บ้าง และช่วงที่ผ่านมาเราสามารถจัดการมันได้อย่างไร หลังจากนั้นเก็บวิธีการจัดการไว้เป็น ‘บทเรียน’ ไม่ใช่ ‘บทลงโทษ’
Move on เป็นวงกลม
หลายครั้งการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่ายและสามารถเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ เราอาจจะเคยจัดการความรู้สึกบางอย่างได้ แต่มันก็กลับมาอีกได้เช่นกัน หรือที่หลายคนเรียกว่า move on เป็นวงกลม
ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้วขอให้เตือนตัวเองได้เลยว่า สิ่งนี้เป็นวงจร ปกติและควรอนุญาตให้ตัวเองได้ใช้เวลากับความรู้สึกที่เกิดขึ้นก่อน แล้วจึงกลับไปสำรวจใจ สำรวจวิธีและสำรวจอนาคตอีกครั้ง
ในขณะที่เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบตัวหรือคนรอบตัวนั้น ตัวเราเองก็เปลี่ยนแปลงด้วยในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เปรียบเหมือนเป็นการเรียนรู้ชีวิตไปเรื่อย ๆ
Coming of Age ไม่มีอายุที่ตายตัว
Coming of Age หมายถึงแค่เฉพาะวัยของเด็กไปวัยรุ่น วันรุ่นไปเป็นผู้ใหญ่หรือเฉพาะบางช่วงวัยแล้วจบสิ้น แต่มันจะวนเวียนมาหาเราครั้งแล้วครั้งเล่าไม่รู้จักจบสิ้น เมื่อเราจัดการสิ่งต่า งๆ กับชีวิตของเราไม่ได้
เราคิดว่ามันสงบนิ่งลงแล้ว อีกสักพัก อีกสักห้าปี อีกสักสิบปี ความรู้สึกเปราะบาง อ่อนไหว ไม่แน่ใจกับชีวิต หรือความรู้สึกเหนื่อยล้าก็จะกลับมาอีกหน…และอีกหน วนไปมา เกิดขึ้นแล้วได้อีก
สุดท้ายอยากหยิบยก Quote นึง “ทุก ๆ เรื่องที่เรารู้จริง ๆ เราไม่รู้อะไรเลย” – มารีญา พูดเลิศลาภ รายการ Coming of Age ของรายการ The Cloud การที่เราเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดมันเป็นข้อดีและอันไหนที่เราไม่รู้เรายอมรับกับตัวเองได้นะ
ว่าเราไม่รู้เพราะไม่ใช่ว่าเราเกิดมาแล้วเราจำเป็นต้องเก่ง ต้องรับมือ ต้องเรียนรู้ทุกเรื่อง ถ้าเราไม่ยอมรับก็เหมือนว่าเราจะมีทิฐิ และความทิฐิกับอีโก้คือตัวร้ายในของเราเลยที่ทำให้เราไม่ยอมรับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต 😀
ติดตามบทความอื่น ๆ ได้ที่นี่
ที่มา
The Big Challenge: Jumping From Adolescence Into Adulthood
Releasing Your Emotional Pain Is a Necessity
Understanding Developmental Psychology
3 วิธีรับมือกับ ‘ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด’
Finding Ease With Transition in Ever Changing Times
Post Views: 2,654