ไม่มีที่พักใจ

ขาด Social Support เหนื่อยจังเลย ที่พักใจก็ไม่มี หันไปทางไหน ก็ไม่มีใครรับฟัง

เรื่องAdminAlljitblog

เคยไหมที่เจอเรื่องยาก ๆ ในบางช่วงของชีวิตแล้วรู้สึกเครียด แต่ไม่มีใครรับฟัง ไม่มีใครให้ปรึกษา วันนี้ Alljit Podcast กับรายการ Learn & Share

 

อยากชวนทุกคนเรียนรู้เกี่ยวกับ ” Social Support ” และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในวันที่ไม่มี Social Support เป็นของตัวเอง จะทำอย่างไรได้บ้าง 

 

Social Support คืออะไร?

อ้างอิงจาก Psychology Dictionary คำว่า Social Support หรือ การสนับสนุนทางสังคม หมายถึง การให้ความช่วยเหลือแก่บุคคล โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้บุคคลสามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของตนเองได้ 

 

โดยความช่วยเหลือนี้จะมาจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว คนรัก เพื่อน กลุ่มทางสังคมที่คุณผู้ฟังเข้าร่วมและอื่น ๆ ความช่วยเหลือมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การช่วยเหลือทางจิตใจ การช่วยเหลือทางการเงิน  

 

จากการศึกษาพบว่า Social Support ส่งผลทางบวกกับสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทำให้จัดการความเครียดได้ดีขึ้น สร้างแรงกระตุ้นในการบรรลุเป้าหมายในชีวิต 

 

นอกจากจะทำให้บุคคลสามารถจัดการกับปัญหาได้ ยังทำให้ความสัมพันธ์ของบุคคลและคนรอบข้างแน่นแฟ้นขึ้นจากการได้ช่วยเหลือและสนับสนุนกันอีกด้วย

 

 

ส่งผลกระทบอย่างไร?

จากการศึกษาพบว่า การขาด Social Support เชื่อมโยงกับ โรคซึมเศร้า และ ความรู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อร่างกาย จิตใจ พฤติกรรม และการทำงานของสมอง

 

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาโดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ชายวัยกลางคนพบว่า การขาด Social Support ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิต เมื่อเปรียบเทียบผู้ชายวัยกลางคนระหว่าง กลุ่มที่มี Social Support และกลุ่มที่ไม่มี Social Support 

 

 

ไม่มี Social Support ทำอย่างไรดี?

1. เตือนตัวเองว่า การขอความช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องน่าอาย 

ในกรณีที่รู้สึกเกรงใจคนรอบข้าง ในวันที่อ่อนแอ การขอความช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องน่าอาย เพราะคนรอบข้างอาจพร้อมรับฟัง เพียงแต่เขาไม่รู้ว่าคุณกำลังมีปัญหาเท่านั้นเอง

 

2. สำรวจตัวเองว่า เราไม่มีใครหรือเราไม่เปิดรับให้ใครเข้ามา 

 ลองสำรวจดูว่า เราไม่มีใครหรือเราไม่เปิดรับให้ใครเข้ามา ประสบการณ์แย่ ๆ ในอดีตทำให้เราไม่ไว้ใจใคร แต่อย่าให้คนใจร้าย ทำให้เราปิดกั้นคนใจดีที่จะเข้ามาในชีวิตเลย 

 

3. เปิดใจสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ กับผู้อื่น

การนำตัวเองไปทำสิ่งใหม่ ๆ จะทำให้ได้สร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ เมื่อใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้น เป็นไปได้ที่วันหนึ่งกลุ่มคนเหล่านั้นจะกลายเป็น Social Support ของคุณได้

 

4. พึ่งพาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา

ทุกวันนี้มีช่องทางหลากหลาย เพราะบุคคลเหล่านี้พร้อมช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาทางความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ที่รบกวนการใช้ชีวิตของทุกคนอยู่แล้ว พึ่งพาไม่ใช่เรื่องผิด

 

5. จัดการด้วยตัวเองเบื้องต้น 

หากไม่สามารถหา Social Support หรือ ไม่สะดวกใจในการพึ่งพาผู้อื่น การทำ Morning Pages หรือ การเขียน 3 หน้ากระดาษทุกวันหลังตื่นนอน อาจช่วยให้ได้ระบาย ลดกังวล

 

” การมี Social Support อาจทำให้เราผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ “