การจากลา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เมื่อพบก็ต้องจาก..
“ การจากลา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เมื่อมีพบก็ต้องมีจาก และเวลาจะช่วยเยียวยาเราเอง”
ประโยคเหล่านี้พอฟังแล้วมันดูง่าย เพราะชีวิตมันเป็นแบบประโยคพวกนั้นที่คนเรามักจะพูดกันจริง ๆ แต่เชื่อไหมว่า เมื่อการจากลามาเผชิญหน้ากับเราแล้ว เราจะลืมประโยคพวกนั้นไปเลย
เพราะเอาเข้าจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำใจได้ยากมาก ๆ สิ่งที่ทำได้คือ ให้เวลาตัวเองได้เสียใจ ซึ่งก็จะเกิดเป็นคำถามขึ้นมาอีกว่า แล้วต้องให้เวลาตัวเองได้เสียใจนานแค่ไหน?
ในเวลาที่ผ่านมาก็เจอกับการจากลาบ่อย ๆ เพียงแค่เราอาจจะเด็กเกินที่จะเสียใจถึงขนาดต้องหาวิธีการรับมือ พอโตมาถึงได้เข้าใจว่าทำไมคนในครอบครัวถึงร้องไห้เวลาตาเสีย ทำไมย่าเสียใจตอนปู่จากไป
ชีวิตของคนเราเป็นโลกกลม ๆ หนึ่งใบ ในวงกลมนั้นก็ประกอบไปด้วยสิ่งของ ผู้คนในชีวิตเรา คนไหนที่เราให้ความสำคัญมาก ๆ ก็จะได้ส่วนของวงกลมในโลกของเราใหญ่หน่อย
พอเราขาดเขาไปก็เหมือนโลกของเราไม่เติมเต็ม เหมือนขาดหายอะไรไป ส่วนสิ่งไหนที่ได้พื้นที่ในวงกลมน้อยหน่อย เวลาเสียสิ่งนั้นไป ตัวเราก็ใช้เวลาทำใจไม่นานนัก
การจากลา เป็นเรื่องปกติ
คำพูดนึงที่อาจจะทำให้รู้สึกว่ากังวลน้อยลงคือ people come and go
คือ ไม่มีใครที่อยู่กับเราได้ตลอดชีวิต พวกเขาเข้ามาแล้วก็ต้องออกไป ไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง แต่สิ่งที่จะยังอยู่คือความทรงจำระหว่างกัน อย่างน้อยในช่วงเวลานึงเขาก็เคยเป็นหนึ่งพาร์ทของชีวิตเรา
“ไม่มีใครอยู่กับเราได้ตลอดชีวิต” ประโยคนี้มันจุกอกเหมือนกัน แต่มันก็คือเรื่องจริงมาก ๆ แต่ก็เป็นความจริงที่ใครหลาย ๆ คนยอมรับไม่ได้ สิ่งที่จะทำให้ผ่านไปได้คือการเปิดใจยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว
ยินดีกับเรื่องราวดี ๆ ที่เคยได้เกิดขึ้น จดจำเรื่องที่ดี ๆ ไว้เป็นกำลังใจให้กับเรา เราต้องดำเนินชีวิตของเราต่อไป
5 Stages of Grief ทฤษฎีระยะเวลาของการก้าวผ่านความสูญเสีย
จากคำถามว่า ต้องให้เวลาตัวเองได้เสียใจนานแค่ไหน เลยได้เจอกับ ทฤษฎีระยะเวลาของการก้าวผ่านความสูญเสีย ต้องบอกก่อนว่าทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีที่ครอบคลุมการสูญเสียทุกรูปแบบเลย
เช่น การเสียชีวิต การเลิกรา การตกงาน เพราะฉะนั้นทฤษฎีนี้อาจจะทำให้เราเข้าใจความเป็นไปทางความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น
ทฤษฎีนี้จะแบ่งความรู้สึกออกเป็น 5 ระยะ
Stage1: Denial ปฏิเสธ
คือสิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราเจอความสูญเสียหรือผิดหวังกับอะไรบางอย่าง ตัวเราจะปฏิเสธและไม่ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นจริง ๆ อาจจะมีความคิดว่ามันคือความฝัน ไม่ใช่เรื่องจริง
Stage2: Anger โกรธ
ระยะนี้เราจะเริ่มได้สติ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ้าง เริ่มรู้ตัวถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ก็เริ่มโกรธ
อาจจะตีโพยตีพาย โทษคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
Stage3: Bargaining ต่อรอง
เป็นระยะที่เราไม่มั่นคงในจิตใจมากที่สุด คือ หลังจากโกรธน้อยลง เราจะเริ่มอยากกลับไปแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด เช่น ขอโอกาส ถ้าย้อนกลับไปได้จะแก้ไขให้ดีขึ้น
Stage4: Depression เศร้าเสียใจ
หลังจากที่ผ่านทั้งสามระยะมาเราจะเริ่มรู้ตัวเองอย่างชัดเจนแล้วว่าเราต้องยอมรับและคงเปลี่ยนผลลัพธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ นี่คือความจริงที่เกิดขึ้น บางคนก็เศร้าเสียใจมาก กินไม่ได้ นอนไม่หลับ
เก็บตัวจมอยู่กับความเศร้า น้ำตาคือพร้อมไหลตลอดเวลา ซึ่งเป็นอาการซึมเศร้า ระยะนี้ต้องมีคนคอยดูแลพราะถ้าไม่มีคนไว้คอยรับฟัง เป็นที่ระบาย ไม่มีเพื่อนพูดคุย ก็จะเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้
และถ้าหากเราอยู่อยู่กับความเศร้า เสียใจนาน จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำให้ปรึกษากับจิตแพทย์
Stage5: Acceptance ยอมรับ
เป็นระยะที่อาการเศร้าเสียใจต่าง ๆ ดีขึ้น สามารถยอมรับการการจากลา การสูญเสียได้ แต่ก็อาจจะไม่ได้ถึงขั้นว่ามีความสุข หัวเราะร่าเริง แต่เริ่มอยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น
ช่วงนี้ต้องพาตัวเองออกไปหาความสุขบ้าง หรือไปในที่ที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจอะไรแบบนี้ก็ได้เพื่อฮีลตัวเอง
การจากลา กับ สัตว์เลี้ยงที่รัก
“Rainbow bridge คำที่ช่วยปลอบใจได้”
จากบทความ ของ Steemit เขาอธิบายสะพานสายรุ้งไว้ได้เห็นภาพมากว่า สะพานสายรุ้ง” คือ ดินแดนที่อยู่ติดกับขอบสวรรค์ เป็นทุ่งหญ้าสีเขียว มีแสงแดดส่องตลอดเวลา
เมื่อสัตว์เลี้ยงที่เรารักได้จากไป วิญญาณของพวกเขาจะไปอยู่รวมกันเพื่อรอเราที่นี่ ไม่ว่าพวกเขาจะจบชีวิตลงแบบไหนก็ตาม ร่างกายจะได้รับการฟื้นฟูจนกลับมาแข็งแรง และมีอวัยวะที่ครบถ้วนสมบูรณ์
ที่นั่นเขาจะได้เจอเพื่อน ๆ สัตว์เลี้ยงได้วิ่งเล่นด้วยกัน และไม่ต้องกลัวว่าจะอดอยาก เพราะมีอาหารให้พวกเขาได้กินตลอดเวลา และเมื่อวันที่เจ้าของได้จบชีวิตลง เราจะได้ไปเจอกับสัตว์เลี้ยงที่เรารักที่สะพานสายรุ้งนี้
พอรู้แบบนี้ใจเราก็จะเบาลง เพราะอย่างน้อยชีวิตของเขาหลังจากนี้ก็มีความสุขและในวันนึงเราอาจจะได้เจอกัน
และอย่างที่เรายก 5 Stages of Grief ขึ้นมาก็ทำให้เราเข้าใจว่า ความรู้สึกเสียใจมันมีขั้นมีตอนของมัน ไม่จำเป็นต้องเร่งรัดให้ตัวเองทำใจได้หรือห้ามไม่ได้ตัวเองเสียใจ
การเศร้าไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้รับมือกับสถานการณ์นั้นหรือจัดการกับมัน แต่จะช่วยให้เรารับมือกับสถานการณ์นั้นและก้าวต่อไปได้
6 เหตุที่ควรปล่อยให้ตัวเองได้เสียใจ เมื่อพบกับ การจากลา
เป็นบทความจาก psycology central ชื่อบทความว่า It’s Good to Feel Sad Sometimes
1.It can help you connect with others ทำให้เชื่อมต่อกับคนอื่นได้
หน้าที่หนึ่งของความเศร้าคือการกระตุ้นให้คนอื่นปฏิบัติต่อคนที่เสียใจด้วยความเห็นอกเห็นใจ จากงานวิจัยปี 2018 บอกไว้ว่าการโอบกอดความเศร้าสามารถเชื่อมโยงตัวเราเข้ากับความเห็นอกเห็นใจและความห่วงใยเมื่อต้องการมากที่สุด
2.It can help you process emotional or events ช่วยให้เราประมวลผลทางอารมณ์ได้
คือ ความเสียใจทำให้เราสามารถรับรู้ process ของอารมณ์ได้ รู้ว่าตอนนี้เราอยู่ใน stage ในเเล้ว เราเองก็จะเข้าใจตัวเองมากขึ้นและไม่กดดันตัวเอง เพราะรู้ว่าความเสียใจมันมีระยะของมัน
3.It’s a part of grieving มันคือส่วนหนึ่งของความเศร้า
เพราะมันเป็นเรื่องปกติมากที่เราจะรู้สึกเศร้าเสียใจ เมื่อเจอกับความทุกข์ระทมในจิตใจ หรือการจากลา มันเป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์
4.It can help with post-traumatic growth ช่วยเกี่ยวกับความงอกงามหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ
post-traumatic growth คือ การเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการเผชิญภาวะวิกฤตที่สำคัญในชีวิต หรือการผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวด ความงอกงามสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ
เช่น การรู้ซึ้งในคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ การมีสัมพันธภาพระหว่างบุคคลที่มีความหมายมากขึ้น การรับรู้ถึงพลังและความสามารถของตนเอง ความงอกงามจะไม่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อเวลาผ่านไป
อาจต้องมีปัจจัยบางประการที่ส่งผลให้เกิดภาวะนี้ขึ้น เช่น การมีวิธีการจัดการกับปัญหาที่มีประสิทธิภาพ หรือการได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การร้องไห้และปล่อยให้ตัวเองเสียใจ
5.It can teach you about your values สอนเกี่ยวกับคุณค่าในตัวเรา
จากงานวิจัยทำให้พบว่า การเสียใจทำให้เรามองเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะความรักจากคนรอบข้าง เพราะเมื่อเราเสียใจจะทำให้คนอื่นเห็นใจและห่วงใยเรามากขึ้น
ตัวเราก็จะรู้ว่าเรามีคุณค่าสำหรับเขา รวมถึงการที่เราผ่านความเสียใจไปได้ ตัวเราก็จะมองว่าเรามีศักยภาพและเก่งมาก ๆ
6.It can lead to positive change สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก
เมื่อเราพบว่าเราอยู่กับความเศร้านี้เป็นเวลานาน เราอาจจะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายกับตัวเอง ตัวเราเองเนี่ยแหละก็จะหาวิธีที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากความรู้สึกนี้จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางบวกได้
ทุกการจากลาสร้างความทรงจำที่ดีเสมอ แต่จะดีกว่าถ้าช่วงที่เรายังอยู่ด้วยกัน เราได้สร้างความทรงจำที่ดีต่อกันให้มากที่สุด ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ก่อนที่เราจะจากลากัน
Alljit ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้อ่านทุกท่านที่กำลังพบกับการจากลาทุกรูปแบบนะคะ:)
ที่มา:
it’s OK to Be Sad
“สะพานสายรุ้ง” ตำนานแห่งการรอคอย < The Rainbow Bridge >
Post Views: 4,591