การเป็น คนที่ถูกลืม เป็นสิ่งไม่มีใครอยากเป็น มิตรภาพเป็นบทบาทสำคัญในการเติบโต มนุษย์เป็นสัตว์สังคมซึ่งสังคมแรกที่เราพบเจอคือ ครอบครัว เพื่อนในวัยเรียน จนก้าวเข้าสู่สังคมวัยทำงาน
เราทุกคนจึงคุ้นชินกับเติบโตมาโดยมีคนรอบข้างอยู่ตลอด
บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ ทำอย่างไรดี? กับความรู้สึกถูกเมิน ถูกทอดทิ้ง ไร้ตัวตน
ถ้าวันหนึ่งเราเป็น คนที่ถูกลืม
เมื่อเราสร้างความสัมพันธ์กับใคร เรามักจะอยากอยู่กับเขาตลอดเวลา เมื่อไหร่ก็ตามที่เราถูกลืม เราอาจเกิดความรู้สึกเจ็บปวดใจ เมื่อความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นเราคงจำได้ดี
เพราะการถูกลืมจากเพื่อน คนรัก ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน สิ่งเหล่านั้นทำให้เรารู้สึกไร้ตัวตน เกิดเป็นภาวะเศร้าเจ็บปวดทางจิตใจ
จริง ๆ แล้วเราทุกคนล้วนเคยเจอภาวะการถูกลืม แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว ต้องเริ่มทำความเข้าใจก่อนว่าทำไมเราถึงถูกลืม เพราะอะไรเขาถึงลืมเรา สิ่งหนึ่งที่อยากให้จำ
คือความรู้สึกของเราไม่ได้สำคัญน้อยกว่าความรู้สึกของคนอื่นเลย
เพราะอะไรเราถึงเจ็บปวดจากการเป็น คนที่ถูกลืม
ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจ ว่าความรู้สึกของเราเป็นอย่างไร เพราะอะไรเราถึงเจ็บปวดจากการถูกลืมตรงนี้ เช่น การรู้สึกว่าเราไม่ได้รับความสำคัญตรงนั้นจนถูกตัดขาดออกจากสังคมที่เราอยากจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเขา
เราไม่เป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนกลุ่มเหล่านั้น รู้สึกไม่ถูกยอมรับสิ่งเหล่านี้เป็นความรู้สึกที่เหมือนกับถูกปฏิเสธอย่างรุนแรง กลายเป็นความรู้สึกเศร้ามัวหมอง ทุกคนล้วนอยากเป็นส่วนหนึ่งของใครสักคนรวมถึงของสังคม
เราเป็นสัตว์สังคมเมื่อปรารถนาหรือมีความต้องการบางอย่างแล้วเราถูกปฏิเสธเราจึงเศร้าเสียใจเกิดจากความรู้สึกที่ถูกลืม แต่การถูกลืมเป็นเรื่องธรรมชาติที่เราทุกคนมีสิทธิได้พบเจอ
ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าเราไม่ได้ถูกยอมรับจนนำไปสู่ความเจ็บปวด สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจที่เราถูกปฏิเสธ ว่าตอนนั้นเราเกิดความรู้สึกอย่างไร โกรธ เศร้า เสียใจ อิจฉา หรือริษยา
ตัวเราเองต้องคอยเตือนตัวเองว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องเล็ก ๆ ในชีวิต มองว่าครั้งหนึ่งคนเราก็ถูกปฏิเสธกันได้ อย่ามองว่าการถูกปฏิเสธครั้งนี้จะทำให้เราถูกปฏิเสธในทุก ๆ เรื่อง
ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นได้และต้องยอมรับได้ เพราะเกิดขึ้นได้กับทุกคน เกิดเป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว อย่าพยายามเอามายึดติดว่าไม่สามารถจัดการได้จนยอมรับไม่ได้
เมื่อเราหาเหตุผลไม่ได้ เราต้องคิดว่าเพราะอะไรเราถึงยอมรับไม่ได้ ลองทำความเข้าใจว่าเรื่องนั้นสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือเปล่า มาจากปัจจัยอะไรบ้างที่มาจากรอบ ๆ
พยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ที่ทำให้เราถูกลืม มีหลักฐานอะไรที่ถูกปฏิเสธ หาหลักฐานให้กับความคิดของเรา ว่าเพราะอะไรถึงถูกปฏิเสธ
อาจเป็นเหตุผลว่าตอนนั้นเขารีบมากหรือเขากำลังทำธุระอะไรอยู่หรือเปล่า ลองมองรอบ ๆ ให้ดีก่อน ว่าตัวเขามีเหตุผลอย่างอื่นไหมที่เขาแสดงออกมาแบบนั้น
หรือปฏิบัติกับเราอย่างนั้นจนไม่สามารถพาเราไปในจุดที่เราต้องการได้ บางทีเราอาจลืมมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง
ซึ่งหากมองให้รอบด้านมากขึ้นจะช่วยลดความรู้สึกของตัวเองได้ว่าเราไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดใจกับเรื่องนี้
การรับมือกับการถูกลืม
ถ้าเรื่องเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้ว พยายามเรียนรู้ความรู้สึกที่ได้เจอ เพื่อให้ตัวเองไม่ต้องรู้สึกเจ็บปวด พยายามหาอะไรมาทดแทน ปล่อยวางความเจ็บปวดได้สักระยะหนึ่ง
การที่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมจนเราเศร้าอยากที่จะร้องไห้ ปล่อยให้ตัวเองร้องไห้ได้เลย ร้องไห้เท่าที่เราอยากร้อง ปล่อยตามความรู้สึกเพื่อให้เรารู้สึกดีขึ้น
ให้เวลาตัวเองสักพักเพื่อคิดทบทวนว่าเพราะอะไรเราถึงรู้สึกมากขนาดนี้ ลองนึกถึงเหตุผลที่แท้จริง
อีกหนึ่งวิธีที่อยากจะแนะนำ คือ อยากให้ลองเขียนความรู้สึกของตัวเองลงบันทึกว่าเรารู้สึกอย่างไร แล้วเราระบายด้วยวิธีไหน เพื่อสำรวจตัวเองว่าเราระบายด้วยวิธีไหนและทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้
ถ้าทำแล้วไม่ดีขึ้นเลย ลองเลือกใครสักคนมารับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นต้องเลือกด้วยว่าเขาสามารถรับฟังเราได้และให้คำแนะนำได้ ถ้าเลือกผิดแล้วเขามาตอกย้ำเรา จะยิ่งทำให้เราแย่ลงไปอีก
คนที่มารับฟังอาจจะเป็นคนที่มาช่วยดึงความรู้สึกที่เราคิดว่าเราถูกทอดทิ้งให้กลับมารู้สึกดีขึ้นได้ว่าแท้จริงแล้วเรายังมีเขาที่คอยอยู่ข้าง ๆ เสมอ
สิ่งที่สำคัญคือต้องซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง
ถ้าหากต้องการความชัดเจน เราควรบอกให้เพื่อนคนนั้นเข้าใจด้วยว่าเรารู้สึกอย่างไร และถามเขาว่าเพราะอะไรเขาถึงทำแบบนั้น
เกิดอะไรขึ้นกับความสันพันธ์นี้ อะไรทำให้เขาทิ้งเรา อะไรที่ทำให้เขาลืมเราไป เป็นการพูดคุยกันด้วยเหตุผลไม่ใช่เป็นการกล่าวโทษเขา ไม่ใช้อารมณ์ที่รุนแรง
ถ้าเราได้คำตอบและเหตุผลของเขาแล้ว เราจะเข้าใจสถานการณ์ตรงนั้นได้ดีขึ้น เราต้องเปิดใจให้กว้างกับคำตอบนั้นด้วยนะ สิ่งที่สำคัญคือต้องซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง
นอกจากจะหาเหตุผลให้ตัวเองแล้วต้องหาคำตอบด้วยว่าเราได้ทำอะไรที่ไม่น่ารักไปหรือเปล่า
ไปทำอะไรให้เพื่อนรู้สึกอึดอัดก่อนหน้านี้ไหม จนทำให้เพื่อนไม่ชวนเรา ถ้าเรายอมรับได้ลองไปขอโทษเพื่อนและเริ่มต้นกันใหม่ อาจจะทำให้ความสันพันธ์นั้นกลับมาดีขึ้นได้
สิ่งสุดท้ายพยายามอย่ายึดติดกับความรู้สึกที่เขาทิ้งให้เราโดดเดี่ยว เพราะบนโลกนี้ยังมีใครอีกหลายคนที่อยากมีความสันพันธ์ที่ดีกับเรา การที่เรากับเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งกัน
อาจเกิดจากเรากับเขาเข้ากันไม่ได้ในเรื่องบางเรื่อง เพราะฉะนั้นพยายามปล่อยวางและหันกลับมาใส่ใจความรู้สึกของตัวเองให้มากขึ้น
Post Views: 5,204