สิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเคยพบเจอ คือ ความเครียด เครียดเรื่องงาน เรื่องเรียน เรื่องส่วนตัว เรื่องความรัก หรือการเงิน
บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ ความเครียดมีสัญญาณเตือนอย่างไร? เครียดแบบไหนควรไปพบนักจิตวิทยา?
ความเครียด เกิดจากอะไร?
เกิดจากการที่เราเผชิญบางสิ่งที่เรารู้สึกยากลำบากที่จะจัดการสิ่งนั้น หรือไม่สามารถจัดการได้ในทันที จนเกิดเป็นความเครียด ซึ่งสามารถสะสมจนเพิ่มระดับของความเครียดได้
ระดับของ ความเครียด มีกี่แบบ?
3 แบบใหญ่ ๆ คือ เครียดน้อย ปานกลาง จนถึงเครียดมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญของปัญหา ความยากและระยะเวลาในการจัดการปัญหา
ความเครียดมีสัญญาณบอกไหม?
ให้สังเกตตัวเอง ว่าเราเริ่มคิดทบทวนถึงปัญหาเรื่องหนึ่งบ่อย ๆ หรือพอว่างแล้วกลับมาคิดถึงเรื่องนั้นอีก และสังเกตว่า เรื่อง ๆ นั้นกระทบกับภาวะอารมณ์หรือไม่ เช่นเมื่อมีใครพูดถึงเรื่องที่คล้าย ๆ กันก็รู้สึกหงุดหงิด ไม่อยากฟัง ไม่อยากพูดคุยด้วย
ความเบื่อกับความเครียดแตกต่างกันอย่างไร ?
ความเบื่ออาจจะเป็นอารมณ์พื้นฐานของความเครียด เช่นเราอาจจะรู้สึกเบื่อกับสิ่งๆหนึ่ง มายาวนาน และสิ่งนั้นยังไม่ถูกจัดการ จนความเบื่อสะสม นำไปสู่ความเครียดได้
ต้องเครียดระดับไหน ถึงเข้าพบนักจิตวิทยา
ไม่จำเป็นต้องรอให้เครียดก็สามารถมาพบนักจิตวิทยาได้ ถ้าเริ่มรู้สึกว่าปัญหาทางด้านอารมณ์นั้นกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือเป็นอารมณ์ที่ไม่สามารถก้าวข้ามไปได้ หา
สาเหตุของอารมณ์นั้นไม่ได้ หรือพฤติกรรมเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเช่น กลายเป็นคนหงุดหงิดง่าย หรือชอบเก็บตัว ไม่ต้องการพบเจอผู้คน ก็ควรเข้ามาพบนักจิตวิทยาได้ บางทีเราอาจจะไม่รู้ตัวเองว่าพฤติกรรมเปลี่ยนไป แนะนำว่าให้ฟังเสียงคนรอบข้างที่มาสะท้อนให้เรารู้ตัวเอง
ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองป่วย แต่มีปัญหาอยากพบนักจิตวิทยา เริ่มต้นอย่างไร
เริ่มต้นด้วยการเล่า ถึงสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ว่าเหตุการณ์นั้นยากลำบากอย่างไร หรืออะไรที่ทำให้เรามาถึงจุดที่เรียกว่าปัญหาได้ ซึ่งในความเป็นจริง เมื่อมาพบนักจิตวิทยาแล้ว
จะมีการสอบถาม หรือชวนพูดคุย จนสามารถรู้ถึงต้นตอของปัญหาได้เอง
พบนักจิตวิทยาที่คลินิก โรงพยาบาลรัฐบาล หรือโรงพยาบาลเอกชนดี?
โรงพยาบาลรัฐก็จะมีข้อดีในเรื่องค่าใช้จ่าย แต่จะมีข้อเสียเรื่องเวลาหรือการอำนวยความสะดวกจะตรงข้ามกับโรงพยาบาลเอกชนคือ สะดวกสบาย
เรื่องเวลาเข้าพบได้มากกว่า แต่ค่าใช้จ่ายสูง ในส่วนของคลินิกก็อาจจะอยู่ตรงกลาง แต่ก็จะมีเรื่องของความน่าเชื่อถือเข้ามาให้เราต้องตัดสินใจ
การไปพบนักจิตวิทยา จะช่วยเราได้อย่างไรบ้าง
ในความเป็นจริงเมื่อเรามีปัญหา แล้วสามารถพูดคุยหรือเล่าให้ใครซักคนฟังได้อย่างแท้จริง ก็ช่วยให้เราดีขึ้นได้แล้ว ซึ่งในฐานะของนักจิตวิทยา ก็จะเพิ่มเติมในส่วนของการบำบัด
ปรับสมดุลของสภาวะจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การใช้ศิลปะ การใช้ธรรมชาติ ดนตรี ฯลฯ
ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีทางจิตวิทยาทั้งสิ้น ซึ่งนักจิตวิทยา จะใช้ศาสตร์ทฤษฎีทางจิตวิทยา สืบค้นเข้าไปในจิตใจของผู้ป่วยจนพบต้นตอของปัญหาทางจิตใจที่แท้จริง เพื่อปรับแก้ ช่วยแนะนำให้คนไข้มีความรับรู้ความเข้าใจ
สิ่งที่เป็นปัญหานั้นตามความเป็นจริง จนคนไข้มีสมดุลทางจิตใจที่ดีขึ้น หากคนไข้บางรายที่แสดงอาการทางกายมาก ก็จะต้องให้พบจิตแพทย์ด้วยเพื่อรับการรักษาด้วยยาควบคู่กันไป
เวลานักจิตวิทยามีความเครียด ทำยังไง?
บางคนก็เข้ารับการบำบัดกับนักจิตวิทยาด้วยเช่นกันกัน ถ้าอยู่ในระดับเริ่มต้นก็อาจจะใช้วิธีการสำรวจอารมณ์ตัวเองก่อน ทำความเข้าใจและพยายามที่อยู่กับอารมณ์นั้น
ถ้ามากขึ้นก็จะคุยกับเพื่อนหรือกับนักจิตวิทยาด้วยกันเอง เพื่อจะได้พบเจอมุมมองใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา
เมื่อเรารู้ตัวเองว่าเรามีความเครียด ความเครียดของเราอยู่ในระดับไหน ถ้าเรารับมือและจัดการกับความเครียดได้เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ที่เราไม่นำความเครียดนั้นมาอยู่กับเรานานเกินไป
แต่หากว่าใครที่ไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้
การไปพบนักจิตวิทยา จิตแพทย์คือทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้เราได้บางเบาจากความเครียดที่อยู่ภายในใจและความคิดของเรา
Post Views: 3,958