ในเวลาที่เราเจอกับคนที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกขุ่นเคืองใจ เเต่ละคนจะมีการตอบสนองต่อสิ่งนั้นเเตกต่างกันไป บางคนเฉยๆ บางคนโกรธ และถ้าสิ่งนั้น กระทบจิตใจอย่างมาก มันจะพัฒนาไปสู่ ความแค้น …
ความแค้น คืออะไร
ความแค้นคือ ความความไม่พอใจที่สะสมอยู่ภายในจิตใจเนื่องจากประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นธรรม พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของคำว่า “แค้น” ไว้ว่า โกรธเจ็บใจอยู่ไม่หาย
นั่นหมายความว่า ความแค้นกับความโกรธนั้นใกล้เคียงกันเพียงแต่แตกต่างกันที่ระยะเวลานั่นเอง
ความแค้น เป็นความรู้สึกโกรธที่ฝังลึกและยาวนานต่อเนื่อง การที่คนคนนึงสะสมความแค้นแบบต่อเนื่องแบบนี้จะทำให้ร่างกายและจิตใจไม่สมดุล ความแค้นจะก่อตัวขึ้นจนในที่สุดก็กลายเป็น “ความปรารถนาที่จะแก้แค้น”
ความปรารถนาจะหล่อเลี้ยงตัวเองและจนถึงจุดที่เริ่มจะทนไม่ได้ ด้วยวิธีนี้ ความแค้นจะค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นและจะก้าวไปสู่ความเกลียดชัง ที่ทำให้เราไม่มีความสงบสุขในใจ
คนเจ้าคิดเจ้าเเค้นคืออะไร
ตามสำนักงานราชบัณฑิตยสภาคำว่า เจ้าคิดเจ้าแค้น เป็นสำนวน หมายความถึงคนที่มักผูกอาฆาตพยาบาท ผูกใจแค้นกับคนที่ทำร้าย หรือทำให้ตนได้รับความลำบากอย่างไม่รู้จักลดละ ไม่รู้จักให้อภัย
คำว่า เจ้า แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ เจ้าคิดเจ้าแค้น แปลตรง ๆ ว่า เอาความแค้นเป็นใหญ่ หรือ คิดเอาความแค้นเป็นใหญ่
เราจะเจอคนเจ้าคิดเจ้าแค้นในหลากหลายรูปแบบ
1.คนเจ้าคิดเจ้าเเค้นในรูปแบบคนรัก
2.คนเจ้าคิดเจ้าเเค้นในรูปแบบเพื่อน
3.คนเจ้าคิดเจ้าเเค้นในรูปแบบครอบครัว
4.คนเจ้าคิดเจ้าเเค้นในรูปแบบเพื่อนร่วมงาน
5.คนเจ้าคิดเจ้าเเค้นในรูปแบบตัวเราเอง
เมื่อเกิด ความแค้น แก้แค้นหรือไม่แก้แค้นดีกว่ากัน?
นักจิตวิทยาสำรวจกลไกทางจิตที่อยู่เบื้องหลังการแก้แค้น กลับกลายเป็นว่าทั้งสองสิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นใครและอยู่ที่ไหน หากเป็นผู้แสวงหาอำนาจ
การแก้แค้นสามารถช่วยเตือนอีกฝ่ายว่าคุณไม่ควรถูกล้อเลียน หากอาศัยอยู่ในสังคมที่มีหลักนิติธรรมที่อ่อนแอ การแก้แค้นเป็นวิธีรักษาความสงบ
แต่การแก้แค้นมาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่าย การวิจัยของนักจิตวิทยาพบว่า แทนที่จะช่วยให้คุณดำเนินชีวิตต่อไปได้ อาจทำให้คุณต้องจมอยู่กับสถานการณ์และไม่มีความสุข
“แก้แค้นช่วยให้สะใจแต่เพียงชั่วครู่เท่านั้น ความพอใจนี้ไม่ถาวร”
จากบทความของเว็บไซต์ thematter ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า วิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่า สมองของมนุษย์จะเอนจอยกับการแก้แค้นจากกลไกของสมองส่วนให้รางวัล (Brain reward center)
เมื่อทำการสแกนสมองด้วยเทคนิค MRI ในห้องทดลอง นักวิทยาศาสตร์พบว่า การเห็นพฤติกรรมล้างแค้นของใครสักคนมักกระตุ้นให้สมองส่วนให้รางวัลหลั่งสารสื่อประสาทที่ชื่อ โดปามีน (Dopamine)
ที่ทำให้รู้สึกพึงพอใจ แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ ความรู้สึกเศร้าและความทรงจำในอดีตที่เจ็บปวด มักถูกกระตุ้นให้ย้อนคืนกลับมาเป็นของแถม และสมองส่วนความทรงจำระยะยาว Long-Term memory จะถูกกระตุ้นไปพร้อม ๆ กัน
งานวิจัยอื่นสนับสนุน
การศึกษาของมหาวิทยาลัย เคนทักกี เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการ ‘ล้างแค้น’ โดยเฉพาะ เป็นการทดลอง 6 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมรวม 1,516 คน โดยให้คนเหล่านี้มาเขียนเรียงความเรื่องส่วนตัว
โดยเลือกเรื่องอะไรก็ได้ พอเขียนเสร็จ ก็ให้แลกกัน กับคนอื่นเพื่ออ่าน แล้วก็ฟีดแบ็กกลับมาว่าคิดเห็นอย่างไรกับงานของเพื่อน โดยแบ่งคนในจำนวนนี้ออกเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มแรกทำแบบนี้โดยไม่ได้มีอะไรพิเศษพิสดาร ถือเป็นกลุ่มควบคุม ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง จะเป็นกลุ่มที่มีผู้วิจัยแฝงตัวเป็นเหมือนผู้เข้าร่วมอยู่ด้วย แล้วผู้วิจัยก็จะวิพากษ์วิจารณ์งานเขียนของบางคนอย่างเจ็บแสบ
หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมการทดลองจะมีโอกาสได้แสดงความโกรธ โดยวิธีแสดงความโกรธก็คือการมอบตุ๊กตาวูดูให้ โดยเจ้าตุ๊กตาวูดูนี้จะมีลักษณะบางอย่างเหมือนกับคนที่มอบฟีดแบ็กแย่ๆ ให้
แล้วจากนั้นก็อนุญาตให้สามารถเอาเข็มทิ่มตุ๊กตานี้ได้ อารมณ์ ของผู้เข้าร่วมนั้น ก่อนหน้าที่จะเริ่มเขียนความเรียงมีอารมณ์ดีอยู่ แต่หลังจากได้รับคำวิจารณ์แล้ว อารมณ์จะเสียขึ้นมาทันที
แต่ว่าหลังได้ทิ่มแทงตุ๊กตาวูดูแล้วพบว่าอารมณ์กลับคืนมาดีอีกครั้ง ผู้วิจัยเรียกกระบวนการนี้ว่า Mood Repair หรือการซ่อมอารมณ์และความรู้สึกนั่นเอง
ความรู้สึกอิ่มเอมหรือพึงพอใจหลังได้แก้แค้นนี้ เรียกว่า Sweet Revenge คือเป็นการแก้แค้นแสนหวานเหมือนกับได้รับ ‘รางวัล’
ผลกระทบของการเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น
“ความแค้นกักขังเรา”
ชายสองคนอยู่ในห้องขังเป็นเวลาหลายปี โดยต้องทนรับการทารุณกรรมและความอัปยศจากผู้ต้องขังทุกรูปแบบ เมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้วพวกเขาก็พบกันหลายปีต่อมา
เขาทั้งสองก็พูดคุยถามไถ่กันว่า “ยังจำเรื่องราวในนั้นได้หรือเปล่า” อีกคนบอกว่าลืม แต่อีกคนบอกว่า ยังคงเกลียดพวกเขาอย่างมาก
อีกคนมองมาที่เขาครู่หนึ่งแล้วพูดว่า: “ผมรู้สึกเสียใจด้วยนะ เพราะมันหมายความว่าพวกเขายังจับคุณเข้าคุกอยู่”
อย่างที่เห็นเลยว่า ความแค้นจะกลายเป็นคุก มันไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นบังคับเราแต่เป็นตัวเราเอง ความรู้สึกเกลียดชังลึก ๆ นี้ทำให้ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ เพราะยังคงลากทุกอย่างในอดีตไปพร้อมกับเรา
ทั้งที่สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตควรที่จะอยู่ตรงนั้น อยู่ที่เดิมแบบที่ควรจะเป็น
เจอกับคนเจ้าคิดเจ้าแค้นแบบที่เราไม่ได้ทำอะไรผิด
Vindictive Narcissist คือ คนหลงตัวเองแบบอาฆาต สาเหตุที่ทำให้เขาเกิดความบาดเจ็บทางอารมณ์ เช่น การที่มีคนเห็นต่าง พวกเขาจะมองว่าความคิดเห็นที่ต่างคือการโจมตี
จะรู้สึกเจ็บปวดมากจากการถูกปฏิเสธ ขัดใจ การที่คนอื่นสร้างขอบเขตให้กับตัวของเขาเองหรือพฤติกรรมที่สวนทางกับคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ พวกเขาอาจมีปฏิกิริยารุนแรงและจำเป็นต้องตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามให้รับรู้
โดยการโวยวาย เถียง เพื่อการเอาชนะและได้ในสิ่งที่เขาต้องการให้เป็น
ตัวอย่างสถานการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นให้ Vindictive Narcissist เกิดความอาฆาตพยาบาท
1.เมื่อถูกวิพากพิจารณ์ในที่ทำงาน แม้จะเป็นฟีดแบคที่สร้างสรรค์เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้นก็ตาม
2.มีการแย้งหรือตั้งคำถาม เมื่อ Vindictive Narcissist เล่าประสบการณ์หรือแสดงความคิดเห็น
3.เมื่อใครสักคนหนึ่งได้เป็นจุดสนใจของทุกคน
4.ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งทั้งที่เพิ่งเริ่มทำงาน
5.คนที่ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำหรือคำสั่ง
6.คนที่ Vindictive Narcissist รัก ไปสร้างความสัมพันธ์หรือสนิทสนมกับคนอื่น
7.เจ้านายชมผลงานคนอื่น
Vindictive Narcissist เกิดจาก
- เคยเจอกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญ traumatic events
- ถูกทอดทิ้ง ละทิ้ง
- ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากคนที่รัก
- ข่มเหง หลอกลวง
- เลือกปฏิบัติ
- ถูกประคบประหงมมากเกินไป
- คนในครอบครัวมีประวัติเป็น NPD หรือ ความผิดปกติทางบุคลิกภาพอื่นๆ (personality disorders)
- เติบโตมาในวัฒนธรรมที่มีความเป็นปัจเจก(เอาตัวเองเป็นหลัก)
เมื่อเราเจอกับ Vindictive Narcissist สิ่งที่เราต้องทำคือ
1.สร้างขอบเขตที่มั่นคงให้กับตัวเอง
การที่จะสร้างขอบเขตของตัวเองได้สิ่งที่ทำคัญคือเราต้องหนักแน่นในความคิด ค่านิยมและความเชื่อของเรา และพยายามสื่อสารออกไป
2.พยายามไม่ internalize
apa ให้คำนิยามว่า internalization = เป็นกระบวนการทางจิตที่เกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว โดยการนำบุคลิกภาพ ความเชื่อ ความรู้สึกหรือเจตคติของบุคคลหรือกลุ่มคนหลอมรวมเข้ามาและรับเอามาเป็นของตัวเอง
เมื่อเจอกับคนที่มีท่าทีอาฆาต เขาอาจจะใช้คำพูดที่นิยามเราในทางใดทางหนึ่ง เช่น เราอ่อนแอเกินไป ให้พยายามนึกไว้เสมอว่าเขาอาจจะต้องการทำร้ายเรา เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ
ในการไม่หยิบเอาความคิดที่น่าเจ็บปวดนั้นนั้นมาใส่ตัวเรา หรือที่เรียกว่า internalize
3.สร้างกำบังความโกรธ คือ การไม่ต่อล้อต่อเถียง เพราะอาจจะเป็นยิ่งสร้างความบาดหมางและทวีความรุนแรงมากขึ้น
4.พิจารณาขอความช่วยเหลือ จากเพื่อน ครอบครัวหรือผู้เชี่ยวชาญ
ฝึกจิตใจเพื่อลดความเจ้าคิดเจ้าแค้นลง
1.ให้อภัย
“ให้อภัยไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวเราเอง”
บทความจาก Psychology today
การให้อภัยไม่ได้บอกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมันไม่มีอะไร ไม่ได้บ่งบอกว่าเราคือคนผิดหรือยอมรับความผิด แต่การให้อภัยคือการเลือกที่จะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว มากกว่าการโฟกัสในสิ่งที่ “จะ” เกิดขึ้นหรือ “ควรจะ” เกิดขึ้น
การให้อภัยอาจหมายความว่าเราปล่อยวางและอยู่กับปัจจุบันมากกว่าที่จะจมอยู่กับอดีต…
การให้อภัยเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา เมื่อเจอกับการทรยศหักหลังเป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกถึงความรู้สึกต่างๆ ทั้งตกใจและโกรธ ซึ่งมักมาก่อนการให้อภัยเสมอ เราต้องจัดการกับความรู้สึกเจ็บปวดก่อนจะเข้าสู่การให้อภัย
เราควรเคารพกระบวนการนั้น – กระบวนการที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่รู้ตัว บางครั้งเพียงแค่สำรวจสถานการณ์และยอมรับผลกระทบของการทรยศ เพียงแค่ทำความเข้าใจเหตุผลและบริบทเบื้องหลังการทรยศอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการให้อภัยได้
ในทางจิตวิทยา คนที่ให้อภัยมักจะมีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดระดับความซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความโกรธ ในทางสรีรวิทยา การให้อภัยสัมพันธ์กับจำนวนเม็ดเลือดขาวและระดับฮีมาโตคริตที่ลดลง
เซลล์เม็ดเลือดขาวเป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้กับโรคและการติดเชื้อ ผลลัพธ์เหล่านี้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการให้อภัย ไม่ใช่สำหรับอีกคนหนึ่งแต่สำหรับตัวเอง
2.ทำความเข้าใจตัวเองอย่างตรงไปตรงมา
นักจิตวิทยาบอกว่า ให้เราลองปลดปล่อยความรู้สึกนั้นออกไป โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ให้เราทำความเข้าใจกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น คนเราอาจเกิดมาเจอความไม่พึงพอใจได้เสมอ
ลองสังเกตอาการทางกาย มองดูร่างกายของเราว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง เบื้องหลังความคิดของเราคือความโกรธหรือความคิดที่รู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ตามมาด้วยอาการทางกายบางอย่างหรือไม่
เช่น หน้าแดง มือสั่น ใจสั่น สัญญาณเตือนเหล่านี้คือเรากำลังมีอาการเจ้าคิดเจ้าแค้น เอาการกระทำของเขามาเป็นอารมณ์ ถ้าเห็นสัญญาณเตือนต้องเริ่มทำความเข้าใจเพื่อพาตัวเองออกมา
ค่อย ๆ หากิจกรรมผ่อนคลายที่เหมาะสม เพื่อทำให้ข้างในของเราสงบและเย็นลงได้ อารมณ์และความรู้สึกเป็นเรื่องยากที่จะจับต้องให้เท่าทันอารมณ์ร่างกายของตัวเองได้มากพอ
3.โอนถ่ายความรู้สึกในใจด้วยวิธีต่างๆ
-ลองไประบายที่เครื่องเล่น เพื่อให้ฮอร์โมนในร่างกายหลั่งสารเอ็นโดฟินช่วยให้เราเกิดความรู้สึกผ่อนคลายจากความรู้สึกนั้นลงได้
-เขียนระบาย
-เล่าออกไป จะได้มุมมองที่แตกต่าง
ความแค้นเป็นความรู้สึกที่ผูกมัดตัวเรากับทุกสิ่งที่เคยทำร้ายเรา ดังนั้นความเจ็บปวดจะไม่หายไป ยิ่งแค้น ยิ่งคิดก็ยิ่งรัดปมนั้นให้แน่นขึ้น ผูกยึดตัวเราไว้กับความทรงจำที่ไม่ดีหรือยึดเราไว้กับคนคนนั้นที่ทำร้ายเรามากขึ้น
การให้อภัยอาจจะทำได้ยากในทางปฏิบัติ ซึ่งเราเข้าใจมาก ๆ ว่าการที่จะลืมคนที่เคยทำร้ายเราเป็นเรื่องที่ค่อนข้างทำได้ยาก แต่การหันกลับมาโฟกัสที่ตัวเราเองให้มากที่สุด
อาจจะช่วยให้เราค่อย ๆ ออกมาจากสถานที่ตรงนั้น ออกมาจากความทรงจำนั้นได้ด้วยการหันกลับมารักตัวเอง ใส่ใจตัวเอง แบบที่มันควรจะเป็น
บางครั้ง คนที่คุณควรที่จะให้อภัยที่สุดอาจจะเป็นตัวของคุณเอง:)
ที่มา:
ทำไม ‘ล้างแค้น’ ถึงสะใจ? หรือวิวัฒนาการบอกอะไรเรื่องการ ‘ล่า’
The Psychology of Forgiveness
the-psychology-of-rancor
narcissistic-personality-disorder/extreme-vindictive-narcissism
science-of-revenge
Post Views: 3,899