คิดมาก คิดวน จนนอนไม่หลับ ทั้ง ๆ ที่เป็นความคิดของตัวเอง แต่กลับหยุดคิดไม่ได้? จะรับมืออย่างไรดี? กับอาการ “ คิดมาก ”
คิดมาก ปกติไหมในทางจิตวิทยา?
เวลาพูดถึงคำว่า คิดมาก หมายถึง เรามีความคิดบางอย่างที่หมกมุ่น วกวน ซึ่งโดยธรรมชาติมนุษย์จะต้องใช้ความคิดอยู่แล้ว
ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิดมาก เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าถามว่าปกติไหมถ้าอยู่ในระยะเวลานานจนกระทบฟังก์ชันการใช้ชีวิต
แต่ถ้ามีอาการทางกายเกิดขึ้น อาจจะเกิดเป็นความผิดปกติเกิดขึ้น แต่ถ้าโดยทั่วไป จัดการแล้วดีขึ้น จะถือว่าอยู่ในระดับที่ปกติ
คิดมาก แบบไหนที่ไม่ปกติ ต้องพบแพทย์?
อาการคิดมาก จะมี 2 ส่วนหลัก ๆ ที่จะกระทบการใช้ชีวิต อย่างแรกคือหมกมุ่นกับความคิดของตัวเอง คิดถึงสิ่งที่ผ่านมา
แล้วไม่สามารถหลุดพ้นจากความคิดนั้นได้ คิดวน ๆ คิดซ้ำ ๆ คิดอยู่แต่เรื่องเดิม ๆ บางคนอาจจะติดอยู่กับความผิดพลาด
บางคนติดกับความรู้สึกผิดบางอย่างในสิ่งที่เคยทำลงไป บางคนรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ ทำให้คิดวนอยู่แบบนั้นเรื่อย ๆ
แบบที่ 2 คือ คิดไปเกินกว่าที่เป็นจริง คิดถึงโลกอนาคต โดยส่วนใหญ่การคิดมากรูปแบบนี้จะตามมาด้วยความวิตกกังวล
เวลาที่เราคิดเรามักจะเห็นว่า พรุ่งนี้ต้องเป็นแบบนี้แน่เลย ต้องเกิดแบบนี้แน่เลย วนลูปกับเรื่องเดิม ๆ โดยไม่ได้ดึงขึ้นมาว่าคืออะไร
เลยจะคิดซ้ำไปซ้ำมา โดยที่ไม่อยู่บนโลกความเป็นจริง เราไม่ได้คิดอะไรที่อยู่กับปัจจุบัน คิดถึงแต่สิ่งที่ยังไม่เกิด คาดว่าจะเกิด
2 ส่วนนี้จะเป็นส่วนหลัก ๆ เลย ถ้าเราสังเกตตัวเองว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ แล้วเราเริ่มเห็นว่าสิ่งนี้เข้ามาทำให้เราหมกมุ่นกับตัวเอง
เริ่มเอาทักษะความคิดไปใช้กับอย่างอื่นไม่ได้ คงเริ่มเป็นสัญญาณที่จะทำให้รู้ตัวเองได้ว่า แบบนี้จะต้องไปเจอจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
คิดมาก พัฒนาไปเป็นโรคทางจิตได้ไหม?
เกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานและบุคลิกภาพของบุคคล หลายคนที่คิดมาก มักจะเป็นคิดมากที่มีอะไรซ้อนอยู่ข้างใน
บางคนคิดมากเพราะกังวล บางคนคิดมากเพราะว่ากลัวบางอย่างจะเกิดขึ้น บางคนคิดยึดติด ไม่สามารถยืดหยุ่นกับความคิดตัวเองได้
อาจจะเกิดเป็นโรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ ต้องดูว่าความคิดออกไปในรูปแบบไหน ถ้าคิดมากคิดวน คิดถึงอนาคต อาจจะเป็นวิตกกังวล
แต่ถ้าคิดถึงอดีต เรื่องที่เคยผ่านมา อาจจะทำให้เกิดเป็นอารมณ์บางอย่าง เช่น โรคซึมเศร้า รู้งี้น่าจะทำแบบนั้น รู้งี้ควรจะตัดสินใจเลือกแบบนี้
พอมีแต่ความ ‘รู้งี้’ แปลว่า เรายังไม่หลุดออกมาจากตรงนั้น การกลับไปคิดมาก แล้วเราสามารถคิดได้ว่า เรื่องนั้นผ่านมาแล้ว ใช้ชีวิตต่อในปัจจุบันได้ คงไม่กระทบอะไร
คิดมาก ทำให้มีอาการทางกายได้ไหม?
จริง ๆ พฤติกรรมมีเหตุและผลในการเกิดขึ้นอยู่แล้ว การคิดมากอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้มีอาการทางกายตามมาได้
ถ้าคิดมากหมายความว่าไม่สามารถหยุดคิดได้ ซึ่งเกิดเป็นอาการทางกายได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่อาการนอนไม่หลับ
ถ้าจะสังเกต บางคนคิดมากจะเริ่มกินข้าวไม่ได้ ไม่อยากออกไปข้างนอก เหนื่อย ปวดท้อง ปวดหัว อาการเหล่านี้เกิดได้หมด
ถ้าเรามีกลไกการป้องกันตัวเอง เช่น คิดมากทำให้ทุกข์ พอทุกข์มากทำให้กลไกป้องกันตัวเองจะต้องพยายาม balance
โดยดึงบางอย่างขึ้นมาเพื่อทดแทนไม่ให้กลับไปอยู่กับความคิด ความกังวล ความคิดมาก อาจจะแปรผันออกเป็นอาการทางกายได้
บางคนตึงตัว บางคนปวดบ่า ปวดไหล่ เกิดจากการที่เราไม่หยุดใช้ความคิด ทำให้ตึงไปทั้งระบบการทำงานของสมอง
กล้ามเนื้อไม่ได้ผ่อนคลาย สารสื่อประสาทหลายตัวไม่ได้หลั่งออกมาให้รู้สึกผ่อนคลาย ทำให้มีอาการเหล่านี้ตามมาได้เหมือนกัน
คิดมาก หยุดไม่ได้ นอนไม่หลับ รับมือเบื้องต้นยังไงดี?
คิดมากจนนอนไม่หลับ ต้องชัดเจนกับตัวเองว่า นอนไม่หลับเป็นแค่เฉพาะช่วงต้นไหม เพราะพอพูดถึงนอนไม่หลับจากความคิดมาก
จะเกิดได้หลายรูปแบบ ถ้าเป็นแค่ช่วงแรก นอนยาก ใช้เวลานานอยู่บนที่นอนกว่าจะหลับ อาจจะเป็นแบบหนึ่ง แต่ถ้านอนไม่ได้เลย
ตื่นง่าย สะดุ้งตื่นกลางคืนบ่อย ๆ ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น แบบนี้คงจะเป็นอาการอีกแบบ แบบแรกอาจจะเป็นช่วงต้น ใช้เวลานานในการนอน
ปกติกว่าร่างกายจะสงบ จะใช้เวลา 15-30 นาที ถึงจะผ่อนคลายและเข้าสู่ระบบการนอนหลับได้ ถ้าเป็นแบบนี้อาจจะต้องเขียนออกมา
ว่าที่คิดอยู่คืออะไร เพราะบางคนยังไม่ชัดเจนกับความคิดตัวเองว่าเรากำลังคิดเรื่องอะไร ถ้าคิดว่าพรุ่งนี้จะต้องไปเจอคุณครูแต่งานไม่เสร็จ
เราคงจะวนอยู่กับเรื่องเหล่านั้น ลองเขียนว่า เกิดอะไรขึ้น จะทำอย่างไรกับความคิดได้บ้าง พรุ่งนี้จะจัดการยังไงได้บ้าง
อยากให้ลองดึงความคิดนั้นออกมาก่อน ว่าคิดอะไร ทำอะไรได้บ้าง เช่น ถ้ารู้ว่าคิดเรื่องการบ้าน ไม่เห็นเป็นอะไรเลย เดี๋ยวพรุ่งนี้ไปคุยกับคุณครู
ถ้าเราหาทางออกให้กับความคิดตัวเองได้ ความคิดนั้นจะเบาบางลงได้ ทำให้เราค่อย ๆ จัดการได้ทีละส่วน แต่คนคิดมากหลายคนมักจะรวม
คิดเรื่องนี้ คิดเรื่องนี้ยังไม่เสร็จ แล้วไปคิดเรื่องนี้ เรื่องนี้เข้ามาอีก เดี๋ยวกลับไปคิดเรื่องนี้ก่อน หลายอย่างไปหมด ทำให้งงว่าตกลงคิดอะไรอยู่
ทำให้วกวนไปเรื่อย ๆ ไม่จบ เราเลยจะต้องใช้เวลานานมากขึ้นกว่าจะนอนหลับได้ ซึ่งพอได้ปัญหามา เราจะได้รู้ว่าเราจะจัดการยังไง
อะไรที่ควบคุมได้ในการจัดการกับปัญหานั้น บางอย่างเราคุมไม่ได้ เช่น คน สภาพอากาศ หรือสภาพแวดล้อม เราลองเขียนแล้วทำความเข้าใจกับตัวเองก่อน
ซึ่งจะช่วยให้เราปลดล็อกและนอนได้ดีขึ้น แต่ถ้าคิดมากจนสะดุ้งตื่น อันนี้คงมีอย่างอื่นร่วมด้วย บางคนพยายามดึงออกมาแล้ว
แต่สุดท้ายไม่มีวิธีจัดการปัญหา ทุกคนจะคิดวน ทำให้หลับได้สักพักแล้วสะดุ้งตื่นเรื่อย ๆ บางคนอาจจะคิดไม่สุด เหมือนจะเข้าใจแต่ยังคงวนอยู่ในใจ
เขาอาจจะต้องกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะของตัวเอง โดยส่วนมากจะแนะนำให้ลองฟังในยูทูปเกี่ยวกับการฝึกสติ แต่พอพูดว่าฝึกสติ
หลายคนจะคิดว่าให้ไปนั่งสมาธิหรอ ไปนั่งวิปัสสนาหรอ จริง ๆ ไม่ใช่ ในทางจิตวิทยา การฝึกสติคือการให้เรารับรู้อยู่กับปัจจุบันขณะของตัวเอง
ตอนนี้เราอยู่บนที่นอน เราได้กลิ่นอะไรบ้าง อากาศในห้องเป็นยังไง เกิดอะไรขึ้นกับเราตอนนี้บ้าง เหมือนดึงตัวเองมาอยู่กับปัจจุบัน
เราจะได้หยุดความคิด ร่างกายจะผ่อนคลายและเริ่มนอนได้มากขึ้น เวลาฝึกหายใจ รับรู้ลมหายใจ ส่วนมากจะเพ่งว่าหายใจเข้า หายใจออก
จริง ๆ เราเอาการหายใจให้สบาย ๆ เราหายใจแบบไหนแล้วเราสบาย ๆ กับตัวเอง ทิ้งทุกอย่าง ทำร่างกายให้เหมือนทิ้งตัวลงไป
หายใจเข้าหายใจออก เวลาที่เราหายใจแล้วเราไปโฟกัสกับลมหายใจของตัวเอง เราจะเห็นว่าเวลาท้องป่อง ท้องยุบลง
พอเอาตัวเองไปโฟกัสกับการหายใจของตัวเอง เราจะเริ่มรู้สึกว่าเราไม่ได้คิดเรื่องที่อยู่ในอนาคต ไม่ได้คิดเรื่องที่อยู่ในอดีต
เราอยู่ในปัจจุบันขณะของเราจริง ๆ อาจจะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายตามระบบของร่างกายอยู่แล้ว
ถ้าเราอยากเลิก คิดมาก จำเป็นไหม? เป็นไปได้ไหม?
เป็นคำถามที่ตอบยาก แปลว่าการที่เราอยากเลิกคิดมากไปเลย แสดงว่ามีบางอย่างอยู่ข้างหลังหรือเปล่า เราถึงไม่อยากเป็นคนแบบนั้นแล้ว
ถ้าเรายังคงเป็นมนุษย์ การคิดเป็นเรื่องหนึ่ง เป็นกระบวนการหนึ่งที่ควรจะมี แต่ถ้าจะเลิกคิดมากไปเลย แปลว่าตัวเราเองต้องกลับมาโฟกัสที่ตัวเอง
โดยส่วนมาก คนคิดมากจะชอบเอาตัวเองไปผูกกับคนอื่น ไปคิด ไปแคร์ ไปรู้สึกกับเรื่องที่คนอื่นทำแล้วกระทบตัวเรา
ถ้าเลิกไปเลย หายไปเลย อาจจะยาก เพราะสุดท้ายแล้วอยากให้ยอมรับมากกว่าว่าเราเป็นคนแบบนี้แหละ เราชอบเก็บอะไรมาคิด
เราเป็นคนที่จะต้องวางแผนกับอนาคตอยู่เสมอ เปลี่ยนมุมมองใหม่ต่อคำว่าคิดมากของตัวเอง เพราะว่าจริง ๆ คงเป็นทั้งข้อดีอีกด้านหนึ่งให้กับเราได้เหมือนกัน
ไม่ใช่แค่ว่าเราคิดมากแล้วเป็นเรื่องที่แย่อย่างเดียว ถ้าจะต้องเลิกไปเลย อาจจะยาก แต่ลดลงได้ ถ้าเริ่มคิดเยอะต้องดึงออกมา ว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่
เราจัดการยังไงได้บ้าง จะช่วยให้ความคิดของเรา จากที่คิดบ่อย ๆ อาจจะลดน้อยลงได้ในบางเรื่อง แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องยอมรับก่อน
เพราะสุดท้ายตัวเราคือตัวเรา เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเราได้อย่าง 100% ถึงวันหนึ่งเราจะพยายามไม่คิดมาก
แต่อยากให้ลองถามตัวเองดูว่า เราแน่ใจหรอ ว่าเราชอบตัวเองที่แบบนั้น เราแน่ใจใช่ไหม ว่าถ้าเราไม่คิดอะไรเลย จะดีต่อตัวเราจริง ๆ
คนที่หมกมุ่นกับเรื่องที่ผ่านมา มันอาจจะเป็นบทเรียน ข้อคิด ที่ทำให้ได้กลับมาทบทวนตัวเองว่าจะทำยังไงไม่ให้กลับมาเป็นแบบเดิม
ทำยังไงให้เจอปัญหานั้นแล้วไม่กลับมาเกิดขึ้นอีก ‘รู้งี้’ เกิดขึ้นได้ แต่สุดท้ายแล้ว ในวันนั้นเราคงมีทางเลือกอยู่ประมาณนั้น
คงเป็นทางเลือกที่ดีของเราแล้ว เราถึงตัดสินใจแบบนั้น เราคงเป็นตัวเราที่สุดแล้วที่เราเลือกแบบนั้น จะทำให้เราได้ข้อคิด ได้กลับมาตระหนักกับตัวเอง
ว่าเราจะทำยังไงให้ไม่กลับมาเป็นตัวเราในอดีต หรือบางคนที่คิดไปถึงอนาคต กังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิด มันจะทำให้เขามีแผนการ
ในการจัดการตัวเอง เพื่อให้วันพรุ่งนี้ออกมาดีที่สุด ถ้าเรามองแบบนี้ การคิดมากก็อาจจะไม่ได้แย่เสมอไป
ถ้าคนใกล้ตัว คิดมาก เราพูดกับเขายังไงดี?
เราพูดกันได้ตรง ๆ อาจจะไม่ใช่พูดว่า เธอคิดมากจัง แต่เป็นการบอกถึงสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ แล้วแสดงออกถึงความคิดมาก
เช่น เธอกำลังคิดถึงเรื่องนี้ แต่มันยังไม่เกิดขึ้นนะ เธอคิดว่าตอนนี้เราทำอะไรได้บ้าง อีกคนหนึ่งอาจจะอยู่ข้างหน้าโดยที่ไม่รู้ว่าไม่อยู่กับปัจจุบัน
หรือเราอาจจะเห็นอีกคนกำลังพูดเรื่องเก่า ๆ บ่อย ๆ อาจจะบอกว่า เธอคิดว่ามันเกิดขึ้นมานานแค่ไหนแล้ว การพูดกันตรง ๆ ไม่จำเป็นต้องทำร้ายจิตใจกัน
หรือไม่จำเป็นต้องไม่ถนอมความรู้สึกของกันและกัน เพียงแต่ว่าเราต้องตั้งต้นว่าเราหวังดีที่จะบอกเขา เพื่อให้เขากลับมาตระหนักกับตัวเองมากขึ้น
เราจะใช้คำถามเหล่านี้แหละเพื่อเป็นการบอกเขาว่า เธอไม่อยู่ตรงนี้นะ เธอกำลังมองกลับไปในช่วงเวลาที่ผ่านมานานมาก หรือถ้าเขายังติดอยู่ตรงนี้
อาจจะลองถามว่า เราช่วยอะไรเธอได้บ้าง เราอยากให้เธอกลับมาอยู่กับเราตรงนี้ อยากให้ก้าวไปข้างหน้า เราช่วยอะไรได้บ้างไหม
Post Views: 3,094