อากาศเปลี่ยนแปลง อารมณ์และความรู้สึกเลยเปลี่ยนตาม ฤดูหนาวเป็นช่วงที่กลางวันสั้นกว่าตอนกลางคืนจึงทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ” ซึมเศร้าตามฤดูกาล ”
ซึมเศร้าตามฤดูกาล
เพราะอะไร… ฤดูต่าง ๆ ถึงส่งผลกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึก? ฤดูอื่น ๆ สามารถทำให้เราเกิดภาวะนี้ได้ไหม? ในทางจิตวิทยา สภาพอากาศเชื่อมโยงและสัมพันธ์กับเรา
ซึมเศร้าตามฤดูกาล คืออะไร
ซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder: SAD) คือ ความผิดปกติทางอารมณ์ที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล อาการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อได้รับแสงแดดน้อยลงผิดปกติ
โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่เช้าสว่างช้า เย็นมืดไว ทำให้ร่างกายสร้างเมลาโทนิน ซึ่งเมลาโทนินจะทำให้รู้สึกง่วงมากเป็นพิเศษจนทำให้ไม่อยากจะทำอะไร รวมถึงได้รับวิตามินไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ เมื่ออากาศหนาว หลายคนมีแนวโน้มที่จะอยู่บ้านมากกว่า การที่รูปแบบชีวิตเปลี่ยนแปลง จาก Active กลายเป็นเปื่อย ๆ เนือย ๆ อาจนำไปสู่ “ซึมเศร้าตามฤดูกาล” ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ฤดูฝนยังนำไปสู่ซึมเศร้าตามฤดูกาลได้เช่นกัน จากเว็บไซต์ NEJAVU กล่าวว่า ยิ่งฝนตกหนักและนานเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เราต้องอยู่ในร่มนานเท่านั้น นอกจากจะโดนแสงแดดน้อย
การไม่ได้ขยับเขยื้อนร่างกายจะทำให้การไหลเวียนโลหิตทำงานได้ช้าลง กล้ามเนื้อจึงมีความกระฉับกระเฉงที่น้อยลงตามไปด้วย ที่สำคัญคือ ฝนตกจะทำให้ร่างกายรับรู้ความเจ็บปวดง่ายขึ้น
เพราะก่อนที่ฝนจะตกความกดอากาศจะต่ำลง ช่วยให้ของเหลวจากหลอดเลือดเคลื่อนที่ไปยังเนื้อเยื่อได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เกิดความกดดันต่อเส้นประสาทและข้อต่อ ส่งผลต่อการรับรู้ความเจ็บปวด
ส่วนใหญ่ อาการจะเริ่มต้นและสิ้นสุดในเวลาเดียวกันทุกปี คือ เริ่มต้นในฤดูใบไม้ร่วงและดำเนินต่อไปในฤดูหนาว แต่เป็นไปได้ที่ผู้ป่วยจะแสดงอาการในฤดูร้อนและหายไปในช่วงฤดูหนาวเช่นกัน
ในส่วนของผู้ป่วยที่แสดงอาการในฤดูร้อน มีงานวิจัยหลายงานค้นพบว่า บางคนจะ sensitive ในฤดูร้อน เพราะร่างกายปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่ร้อนได้ไม่ดีนัก ซึ่งเป็นความแตกต่างส่วนบุคคล
ซึมเศร้าตามฤดูกาล และ Winter Blues ต่างกันอย่างไร
ข้อมูลจากเว็บไซต์ APA กล่าวว่า SAD เป็นมากกว่า Winter Blues เพราะ Winter Blues เป็นเพียงภาวะอารมณ์ที่ประกอบไปด้วยความเศร้าและความเหนื่อยล้าในช่วงที่หนาวที่สุดของปีเท่านั้น
แต่ SAD จะถูกจัดอยู่ในเกณฑ์วินิจฉัยโรคและมีอาการที่กระทบกับชีวิตประจำวัน ได้แก่ เศร้า , เหนื่อยล้า , ไม่มีอารมณ์ทำอะไร , มีปัญหาการนอน การกิน , มีความคิดและความรู้สึกทางลบ
อาการของ ซึมเศร้าตามฤดูกาล
อาการจะเหมือนซึมเศร้าทั่วไป แต่ว่าแตกต่างกันตรงที่ว่าจะมีเงื่อนไขเกี่ยวกับช่วงเวลาและฤดูกาลเพิ่มเข้ามา ต้องสังเกตจากการ… ดูว่าพอหมดจากฤดูกาลนี้ไป อาการเหล่านี้หายไปด้วยหรือเปล่า
1.รู้สึกกระสับกระส่าย เศร้าหรือหงุดหงิดเกือบจะทั้งวัน
2.รู้สึกหมดความสนใจกับกิจกรรมที่ครั้งนึงเราเคยสนใจ
3.พลังงานน้อยและเฉื่อยชา
4.มีปัญหาเรื่องการนอนหลับมากผิดปกติ
5.อยากคาร์โบไฮเดรต กินมากเกินไปและน้ำหนักขึ้น
6.ขาดสมาธิ
7.รู้สึกไร้ความหวัง ไร้ค่า และโทษตัวเอง
8.มีความคิดว่าไม่อยากอยู่แล้ว
อาการของ ซึมเศร้าตามฤดูกาล แต่ละประเภท
Fall and Winter SAD (Winter Depression)
1.นอนหลับมากเกินไป
2.ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคาร์โบไฮเดรต
3.น้ำหนักเพิ่มขึ้น
4.เหนื่อย อ่อนแรง
Spring and Summer SAD (Summer Depression)
1.นอนหลับยาก (Insomnia)
2.เบื่ออาหาร
3.น้ำหนัดลดลง
4.วิตกกังวล
5.หงุดหงิด
สาเหตุของ ซึมเศร้าตามฤดูกาล
1. แสงแดดมีบทบาท
เมื่อฤดูร้อนเปลี่ยนเป็นฤดูหนาว วันของเราสั้นลงและมีแสงแดดน้อยลง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเมื่อปริมาณแสงแดดลดลง มันจะรบกวนนาฬิกาชีวิต ที่ควบคุมวงจรการนอนหลับและตื่น
นอกจากนี้แสงแดดยังส่งผลต่อระดับเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ส่งผลต่ออารมณ์ แสงแดดที่ลดลงจะทำให้ระดับของเซโรโทนินน้อยลง ส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าได้
2. ขาดวิตามิน D
ปริมาณของวิตามิน D ที่ควรได้รับคือ 25 ไมโครกรัม การพยายามรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม พาตัวเองไปเจอแสงแดด รวมถึงการกินวิตามิน D เสริม จะช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น
3. การปรับตัวของร่างกาย
ร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับสภาพอากาศได้ดี ทำให้ sensitive กว่าคนอื่น ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของแต่ละบุคคลในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อม
กลุ่มที่เสี่ยงเป็น ซึมเศร้าตามฤดูกาล มากที่สุด
จากเว็บไซต์ POBPAD บอกว่า ซึมเศร้าตามฤดูกาล พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่บุคคลในกลุ่มต่อไปนี้อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป
-เพศหญิง
-ผู้ที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น 20-40 ปี
-ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคไบโพลาร์
-ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล
-อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร ซึ่งมีช่วงเวลากลางวันสั้นกว่าพื้นที่ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร
การป้องกันและรักษา
ด้วยความที่ภาวะนี้ถูกจัดอยู่ในเกณฑ์การวินิจฉัย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพบผู้เชี่ยวชาญ เพราะการพบผู้เชี่ยวชาญจะทำให้เราได้รู้วิธีการจัดการตัวเองที่ถูกต้องและมีคุณภาพ
สำหรับฤดูหนาว ที่พบมากในต่างประเทศ มีการบำบัดที่เรียกว่า Light therapy คือ จะมี Light therapy box ที่ฉายแสงออกมา ซึ่งแสงที่ออกมานั้นจะเป็นแสงที่ปราศจากรังสี UV
การบำบัดจะให้เปิด Light therapy box ค้างไว้ หันเข้าหาตัว ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีต่อวัน ส่วนการจัดการตัวเองเบื้องต้น คือ พยายามพาตัวเองออกไปเจอแดด
ดูแลการกินการนอนให้ดี รวมถึงใช้เวลาอยู่กับคนรอบข้างให้มาก เพื่อดึงตัวเองจากความรู้สึกดิ่ง ดาวน์ และสุดท้ายคือ พยายามทำตัวให้ Active เข้าไว้ กลับไปทำกิจกรรม
เมื่อไหร่ควรไปหาหมอ
เป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกแย่ได้ในบางวัน แต่ถ้าการรู้สึกแย่ในแต่ละครั้งของเรา มันทำให้เราไม่มีแรงจูงใจที่จะไปทำกิจกรรมที่เราชอบหรือทำอะไรที่เราต้องทำได้
สิ่งนี้อาจเป็นสัญญาณ ที่เราสังเกตได้ด้วยตัวเองหรือคนรอบข้างอาจสังเกตเห็นและบอกให้เรารู้ อีกประเด็นที่สำคัญคือ ถ้าหากว่ารูปแบบการนอนของเราผิดปกติ
หรือความอยากอาหารผิดปกติ เพิ่มหรือลดอย่างผิดสังเกต มีการดื่มเเอลกอฮอลล์เพื่อความสบายใจหรือผ่อนคลาย สุดท้ายคือมีความคิดสิ้นหวังหรือความคิดฆ่าตัวตาย
พฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้นี่แหละ เป็นสัญญาณสำคัญที่บอกว่า ” ตอนนี้แหละเราควรที่จะหันหน้าเข้าหาคุณหมอ ” อย่าลืมหมั่นรักและสังเกตตัวเองในทุก ๆ วันนะคะ
อ้างอิง
–pobpad.com
–mayoclinic.org
–abingtonhealth.org
–nejavu.com
–apa.org
–verywellmind.com
Post Views: 2,614