เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเป็นผู้รับฟังกันใช่ไหมคะ แต่เคยสงสัยไหมว่าตัวเราเองเป็น ผู้ฟังที่ดี สำหรับคนอื่นหรือเปล่า?
บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยในทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ
ทำไมคนเราถึงต้องเป็น ผู้ฟังที่ดี
เมื่อพูดถึงการฟังหลายคนคงคิดว่าเป็นการที่ได้ยินในสิ่งที่คนอื่นพูดสามารถทำได้อย่างง่ายดายเพราะคนเราเกิดขึ้นมาก็ได้ยินแล้ว แต่น้อยคนจะรู้ว่าการฟังอย่างตั้งใจนั้นแตกต่างกับชีวิตประจำวันอย่างสิ้นเชิง
การฟังอย่างตั้งใจมีคุณภาพไม่ใช่การฟังเพื่อโต้ตอบถกเถียงกลับไป แต่เป็นการฟังเพื่อให้เข้าอกเข้าใจว่าผู้พูดกำลังอยู่ในภาวะอารมณ์, ความรู้สึกนึกคิดอะไรอยู่
เข้าใจแม้คำพูดที่เขาไม่ได้พูดเหมือนกับว่าคุณเข้าไปอยู่ในโลกของเขา เมื่อไหร่ที่สามารถเข้าไปอยู่ในโลกของเขาได้ จะทำให้เข้าใจเขามากขึ้นและลดความขัดแย้งลง
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่คนรอบข้างมักมาระบายหรือเล่าความในใจให้ฟังอยู่บ่อย ๆถ้าคุณไม่ตั้งใจฟังในสิ่งที่เขาพูดเขาอาจรู้สึกว่าคุณไม่ให้ความสำคัญกับเขา
ในทางกลับกันถ้าเป็นคุณเองที่อยากระบายบางสิ่งใครให้สักคนรับฟัง ถ้าเขาไม่ตั้งใจฟัง ฟังแบบผ่าน ๆ ก็คงทำให้รู้สึกแย่ไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ นี่จึงเป็นสาเหตุที่เราควรรับฟังผู้อื่นอย่างตั้งใจด้วยเช่นกัน
คนส่วนมากมักถูกพัฒนาการพูดแต่ไม่ค่อยได้เรียนรู้พัฒนาการฟังสักเท่าไหร่ การฟังอย่างตั้งใจเป็นทักษะสำคัญที่ต้องฝึกฝนเพราะบางทีอาจจะหลงลืมว่าการรับฟังที่ดีคืออะไร
วิธีเริ่มต้นเป็น ผู้ฟังที่ดี
1. สำรวจตัวเองก่อนว่าคุณสามารถวางความคิดตัวเองลงได้ไหม
2. มีความพร้อมในภาวะอารมณ์ของตัวเองที่จะรับฟังใครสักคนแล้วหรือยัง
หากยังไม่พร้อมที่จะรับฟังให้บอกคนนั้นอย่างตรงไปตรงมา เช่น ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในภาวะอารมณ์บางอย่าง เพื่อไม่ให้การรับฟังครั้งนี้ทำให้เขารู้สึกไม่ดี
3. ฟังเพื่อเข้าใจอารม์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นของคนที่อยู่ตรงหน้า สะท้อนคำพูดบางอย่างให้เขารู้สึกว่าคุณสนใจที่อยากเข้าใจเขา
เช่น แล้วเขารู้สึกอย่างไรกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น, เขาคิดไว้บ้างหรือยังว่าจะจัดการเรื่องนั้นอย่างไร ให้เขาเล่าเรื่องไปและหาทางแก้เอง
การกระทำนี้ช่วยส่งเสริมทั้งเขาและคุณบทสนทนาจะเป็นเชิงแลกเปลี่ยนและเน้นทำความเข้าใจกัน
ข้อควรระวัง
1. อย่าลืมว่าคุณฟังเพื่อที่เข้าใจอารมณ์และความรู้สึกที่เขาเลือกจะมาระบายให้ฟัง การเป็นผู้รับฟังที่ดีอาจไม่ได้หมายถึงคุณจำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นส่วนตัวลงไป
ก่อนแสดงความคิดเห็นออกไปให้รอจนกว่าผู้พูดจะถามเองว่า คุณคิดอย่างไร รอจนกว่าจะได้จังหวะเหมาะสมในการแสดงความคิดเห็น
2. ไม่จำเป็นต้องนำตัวเองเข้าไปอยู่ในเรื่องที่เขาเล่า คนส่วนมากมักจะตัดสินเรื่องราวตรงนั้นว่าผิดหรือถูกผ่านความคิดในมุมของตัวเอง
3. ไม่นำประสบการณ์ของตัวเองไปเปรียบเทียบกับมุมมองผู้อื่น คุณอาจเข้าใจว่าการเปรียบเทียบเป็นทางเลือกที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงความรู้สึกของผู้อื่นมากที่สุด
แต่การคิดแบบนี้นั้นบั่นทอนมาก อีกทั้งยังทำให้ผู้พูดรู้สึกว่าคุณไม่ได้ตั้งใจฟังเลย และการขัดจังหวะคู่สนทนาเร็วเกินไป เขาอาจรู้สึกอึดอัด ไม่อยากฟังความเห็นของคุณ
เมื่อคุณฟังและเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกผู้พูดแล้ว คุณจะมองในมุมเขาได้มากขึ้น
รับรู้ว่าเขาคิด,รู้สึกอย่างไรกับเรื่องนั้น
แต่เมื่อไหร่ที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ อาจจะถามเขากลับได้ว่า เรื่องราวเกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อให้เข้าใจลึกซึ้งอีกว่าสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่นั้นคืออะไร อาจไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องทั้งหมดของเขา
แค่รับรู้ว่าเขาอยากให้คุณช่วยเหลืออะไร หากเขาอยากได้ความคิดเห็น คุณก็สามารถแสดงความคิดเห็นตัวเองออกไปได้
ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การเป็นผู้ฟังที่ดี คือ ต้องเคารพการตัดสินใจของผู้พูดเสมอ เพราะไม่ได้หมายความว่าคุณแนะนำวิธีการเขาไป
สำหรับเขาจะใช้ได้ผล แต่ละคนย่อมมีวิธีจัดการที่แตกต่างกันออกไป คุณมีหน้าที่รับฟังและอยู่ข้างๆเขาเท่านั้นเอง
Post Views: 5,545