พ่อแม่ลำเอียง รู้สึกว่าพ่อแม่รักน้องรักพี่มากกว่า พูดอะไร ทำอะไร ก็ไม่มีใครให้ความสนใจ เหมือนถูกคนในครอบครัวลืม จนเกิดเป็นความรู้สึกน้อยใจและรู้สึกเหมือนเป็นส่วนเกิน พ่อแม่ที่รักลูกไม่เท่ากันมีจริงหรือเปล่า?
Alljit ร่วมกับคุณกวินทิพย์ จันทนิยม นักจิตวิทยาการปรึกษา ที่จะพาคุณมาทำความเข้าใจกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่วัยรุ่นต้องพบเจอ และเรียนรู้วิธีรับมือในมุมมองของนักจิตวิทยา
พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน พ่อแม่ลำเอียง มีจริงไหม?
เป็นไปได้ทั้งสองอย่าง พ่อแม่บางคนอาจจะรักลูกคนใดคนนึงมากกว่า แต่ก็แล้วแต่ครอบครัวของแต่ละคนด้วย พ่อแม่บางคนก็อาจจะรักลูกเท่า ๆ กัน แต่ถ้าอ้างอิงจากงานวิจัย หลาย ๆ งานวิจัยมีผลออกมาว่าส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่มีแนวโน้มที่จะรักลูกไม่เท่ากัน
ความรู้สึกว่า พ่อแม่ลำเอียง มาจากสาเหตุอะไร
อาจจะสังเกตได้จากการเอาใจใส่ของพ่อแม่ หรือพี่น้องได้รับความสนใจจากพ่อแม่มากกว่าเรา หรือพ่อแม่มีความเอ็นดูพี่น้องมากกว่าเรา มันเป็นการแสดงออกของพ่อแม่ที่เราสามารถรับรู้ได้ว่าเรากำลังถูกรักน้อยกว่าพี่น้องคนอื่น ๆ
วิธีแก้ไขปัญหา พ่อแม่ลำเอียง
ต้องปรับแก้ทั้งสองฝ่าย ต้องเปิดใจพูดคุยกันแบบตรง ๆ อธิบายให้เห็นภาพให้เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย แล้วพยายามปรับแก้กันอาจจะคนละครึ่งทาง แล้วแต่จะตกลงกัน
เพราะถ้าแก้ฝ่ายใดฝ่ายนึง มันก็คงจะไม่มีอะไรที่ดีขึ้น ฝ่ายที่ปรับอยู่ฝ่ายเดียวก็จะรู้สึกเหนื่อย
ความสนิทกันในครอบครัวส่งผลต่อความรักไหม
ส่งผลต่อกันอย่างแน่นอน สัมพันธภาพในครอบครัวเป็นกุญแจสำคัญที่ส่งผลทำให้ครอบครัวรักใคร่กลมเกลียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสามีภรรยาหรือลูก ๆ พี่น้องที่ได้อยู่ในครอบครัวอันอบอุ่น
จะรู้สึกว่าอยากอยู่ด้วยกัน อยากทำกิจกรรมร่วมกัน มีความรักอันดีต่อกันทุกคนในบ้าน ส่งผลให้ครอบครัวนั้น ๆ มีความสุข
ส่วนใหญ่พ่อแม่มักจะห่วงลูกคนเล็กมากว่าคนโตเพราะว่าอะไร
พ่อแม่คงมีความคาดหวังว่าลูกคนโตหรือพี่คนโตนั้น มีความโตกว่าน้อง มีความเข้าใจและรู้เรื่องอะไรมากกว่าน้องมาก่อนแล้วเพราะเราเกิดก่อน
พ่อแม่คงมองว่าพี่คนโตต้องเข็มแข็งดูแลตัวเองได้ เป็นพี่ที่ต้องคอยปกป้องดูแลน้อง ๆ พี่คนโตต้องเก่ง
พ่อแม่เลยอาจจะไม่ห่วงมากเท่าน้องคนเล็กที่ยังมีความเป็นเด็กกว่าเราด้วยอายุหรือวุฒิภาวะต่าง ๆ พ่อแม่เลยต้องเอาใจใส่ลูกคนเล็กเป็นพิเศษ
ความรู้สึกของลูกคนกลางที่มักจะถูกลืม
ปัญหาลูกคนกลางหรือ “Middle Child Syndrome” มีความเชื่อกันว่าลูกคนกลางมักจะมีความรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยก ถูกละเลย ไม่ได้รับความรัก การดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควรจากพ่อแม่ซึ่งมีสาเหตุมาจากลำดับการเกิด (Order of Birth)
โดยปรากฏการณ์ลูกคนกลางที่ว่านี้มาจาก ทฤษฎีจิตวิทยารายบุคคลของแอดเลอร์ (Adler’s Individual Psychology) ข้อสรุปถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อบุคลิกของบุคคลไว้ 3 ประการ ซึ่งมีลำดับการเกิดของเด็กในครอบครัวเป็นหนึ่งในปัจจัยอีกด้วย
เขาบอกว่าลูกคนกลางส่วนใหญ่มีบุคลิกที่มีความทะเยอทะยานสูง ไม่กลัวต่ออุปสรรค เป็นคนมีความอดทนสูง แต่มักรู้สึกว่าตัวเองถูกมองข้ามอยู่ตลอดจากคนในครอบครัว มีแนวโน้มที่จะเป็นคนดื้อรั้นและในส่วนลึกจะมีความรู้สึกอิจฉาพี่หรือน้องอยู่
เพราะส่วนมากจะมีความคิดว่า พ่อแม่เห่อลูกคนโตและชอบโอ๋น้องคนเล็ก ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตน กลายเป็นปมปัญหาทางใจให้ลูกคนกลางนั่นเอง
จัดการกับความรู้สึกว่าพ่อแม่ลำเอียงสำหรับพี่คนกลาง
ให้เราคิดว่าเรามีความเก่งอยู่ในตัวเอง เราดูแลตัวเองให้ดีได้ไม่แพ้พี่คนโตเลย และคิดในแง่ดีว่าเราไม่ต้องกดดันกับความคาดหวังของพ่อแม่เท่าพี่คนโตที่เค้าต้องแบกรับตรงนี้ไว้ แล้วเราก็ไม่ใช่เด็กแบบน้องคนเล็กแล้ว
พ่อแม่ไม่ต้องโอ๋เราขนาดน้องคนเล็กก็ได้ เราก็ต้องพยายามปรับตัวเองเพื่อให้มีความโดดเด่นขึ้นมา เพราะลูกคนกลางมักจะมีความพิเศษตรงที่ มักมีจิตใจที่แข็งแกร่งจากประสบการณ์ที่ต้องอยู่แบบคนตรงกลาง
เป็นคนที่ปรับตัวได้ง่ายเพราะต้องรับบทบาทถึงสองบทบาทในเวลาเดียวกัน
คือตำแหน่งน้องของพี่คนโตและตำแหน่งพี่ของน้องคนเล็ก และยังเป็นคนที่สามารถเรียนรู้และใช้ชีวิตด้วยการพึ่งพาตนเองได้เพราะพ่อแม่อาจจะไปเอาใจใส่พี่คนโตและโอ๋น้องคนเล็กทำให้ลูกคนกลางต้องพยายามทำอะไรด้วยตัวเองอยู่เสมอ
คงสรุปไม่ได้แน่ชัด ว่าพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากันจริงไหม หลาย ๆ อย่างมันอาจจะมีเหตุผลในตัวของมัน แต่ถ้าการกระทำใด ที่เรารู้สึกว่าพ่อแม่ทำให้เราอึดอัดเสียใจ ลองบอกพ่อแม่ ว่าเรารู้สึกอย่างไร ท่านจะได้เข้าใจเรามากขึ้น
Post Views: 4,603