เคยเป็นกันไหม ปรึกษาคนอื่นเวลามีเรื่องทุกข์ใจแล้วได้รับการตอบกลับว่า “ เรื่องแค่นี้เอง ” เหมือนว่าเราอ่อนแอและไม่มีความอดทน เราจะก้าวผ่านคำพูดแบบนี้ได้อย่างไร?
บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ
เวลาที่เราได้ยินคำว่าเรื่องแค่นี้เอง มันทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดใช่ไหมคะ? แน่นอนว่าคำว่า “เรื่องเเค่นี้เอง” ของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน เวลาที่เรามีปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตมันคงเป็นความรู้สึกที่ไม่ไหวเเล้ว เราถึงเลือกที่จะเล่าให้ใครสักคนฟัง
อย่างน้อยแล้วเราก็ได้ระบายอารมณ์และความรู้สึกที่มันท่วมท้นออกไปบ้าง เเต่เวลาที่เราเล่าออกไปแล้ว กลับได้ยินคำตอบกลับที่ทำให้เรารู้สึกแย่กว่าเดิม เช่น การโดนเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือแม้กระทั่งคำพูดแย่ ๆ
เช่นคำว่า “เรื่องแค่นี้เอง” เดี๋ยวมันก็ผ่านไป คนอื่นเขาเจอมาเยอะกว่านี้อีก ไม่เห็นจะต้องร้องไห้เลย ร้องไห้ทำไม?
เรื่องแค่นี้เอง ?
ถ้าเรามองในมุมของเราที่เห็นว่า เราเป็นคนที่มีความรู้สึกท่วมท้นแล้วเราเลือกที่จะคุยกับเขา แต่เขากลับทำลายความรู้สึกและนำเรื่องราวของเราไปเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็นคำพูด สีหน้า การกระทำของเขาที่เเสดงออกมา
เราที่อยู่ตรงหน้าย่อมรู้สึกแย่ไปกับมัน แม้ว่าเขาอาจจะทำเพื่อให้เรามีแรงฮึดสู้ มีเเรงผลักดันที่จะก้าวออกมาจากปัญหานั้น แต่ ณ เวลานั้นแล้วเราคงไม่ได้ต้องการอะไรแบบนั้น
ใครหลาย ๆ คนก็คงจะชอบเปรียบเทียบเรากับอะไรที่ดูจะแย่กว่า ที่ดูเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก ๆ โดยที่ไม่ได้มองเห็นเลยว่าอารมณ์ของเรามันกำลังอยู่ใน Status แบบไหน
ในวันที่เรารู้สึกแย่มาก ๆ เเล้วเรารู้ตัวว่าเราแบกรับมันไม่ไหวแล้ว เราเลือกใครสักคนมารับฟัง แล้วเขามีการเปรียบเทียบแบบนี้ มันแปลว่าเขาอาจจะไม่ได้ต้องการรับรู้หรือเขาอาจจะฟังแต่ไม่ได้เข้าใจสาเหตุของความรู้สึกของเรา
เพียงแค่ใครสักคนยอมรับฟังอารมณ์และความรู้สึกของตัวเราเองเพื่อให้เราสามารถรับรู้คุณค่าของตัวเรา เป็นสิ่งที่ทำให้เรามองเห็นว่าปัญหาเหล่านั้นมีอยู่จริง อารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นมันสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดที่มีอยู่จนท่วมออกมา
ความคิดของคนเเต่ละคนล้วนผ่านการมอง ผ่านทัศนคติและประสบการณ์ที่เขามี มันก็เลยออกมาเป็นคำพูดที่กระทบต่อจิตใจของเรา ถ้าใครหลาย ๆ คนลองเปลี่ยนคำพูดหรือวิธีการให้คำปรึกษาใหม่ ๆ การตอบสนองในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ดูใส่ใจกันมากขึ้น
เช่น เรื่องนี้มันทำให้เธอรู้สึกอย่างไรบ้าง? วันนี้เป็นอย่างไรบ้างสำหรับเธอ? คำพูดเหล่านี้คงเป็นอะไรที่ดีต่อใจเรามากกว่า เราก็คงอยากรับฟังคำพูดเหล่านั้นมากขึ้น
เราจะก้าวผ่านคำพูดแบบนี้ได้อย่างไร?
“เริ่มต้นที่การยอมรับ”
ก่อนอื่นเราอาจจะต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของคนอื่นได้ เราไม่สามารถเปลี่ยนมุมมองของใครหลาย ๆ คนที่มีต่อเรื่องของเราได้และเราไม่สามารถควบคุมการกระทำของคนอื่นให้เป็นดั่งใจของเราได้
เทคนิคการสื่อสารให้ดีขึ้น
1.เริ่มต้นจากการบอกความรู้สึกของตัวเอง
บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนั้น เรากำลังรู้สึกอย่างไรกับเรื่องราวเหล่านั้น เวลาที่เขากำลังเปรียบเทียบโดยใช้คำว่า “แค่นี้” “เดี๋ยวก็ผ่านไป” ลองบอกความรู้สึกของเราว่า เรากำลังเสียใจอยู่กับอะไรบ้าง เรากำลังรู้สึกแย่ รู้สึกดิ่ง ดาวน์กับอะไรบ้าง
และเราอาจจะต้องบอกถึงพฤติกรรมของเขาด้วยว่า การที่เขาพูดแบบนี้ออกมามันกระทบต่อความรู้สึกและจิตใจของเราอย่างไรบ้าง อาจจะไม่ใช่การต่อต้านหรือกระทบกระทั่งกัน แต่เปลี่ยนเป็นการบอกความรู้สึกของเราสะท้อนออกไป
บางทีอาจจะเป็นการเปิดมุมมองของเขาถึงสิ่งที่เขาควรจะทำหรือสิ่งที่เขาควรจะตอบกลับมา มันจะทำให้เราและเขาเข้าใจกันมากขึ้นและลดคำพูดที่ทำร้ายจิตใจของเราลง
2.ภาษากายสำคัญ
การสื่อสารด้วยคำพูดอย่างเดียวคงไม่พอ ภาษากายก็เป็นอะไรที่สำคัญไม่แพ้กันเลย เช่น ในขณะที่เรากำลังพูดอยู่เเล้วเรานั่งกอดอก ท้าวคางไปด้วย
อาจจะทำให้อีกฝ่ายไม่ได้สัมผัสถึงความรู้สึกของเราจริง ๆ และเเปลความท่าทางเหล่านั้นตามประสบการณ์และความคิดที่มีต่อภาษากายที่เราเเสดงออก
ลองพยายามพูดคุยด้วยความเป็นเรา เปิดเผยให้เขาเห็นถึงข้างในของตัวเราว่ามันหนักยังไง มันเหนื่อยยังไงบ้าง อาจจะทำให้เขาเข้าใจถึงความรู้สึกของเรามากขึ้น
Post Views: 5,111