โรคกลัว

ความกลัวที่อาจไม่ใช่แค่กลัว อาจจะเป็น โรคกลัว

เรื่องAdminAlljitblog

เมื่อความกลัวทำให้เกิด โรคกลัว บางสิ่งที่คนอื่นไม่กลัว กลัวอะไรแปลก ๆ หรือรู้สึกหวาดกลัวอย่างรุนแรงต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งจะเป็นไปอย่างไร้เหตุผล

 

และหาเหตุผลไม่ได้ว่ากลัวเพราะอะไร อาจเรียกได้ว่า โรคกลัว หรือ Phobia

ทำความรู้จักเกี่ยวกับ โรคกลัว หรือ Phobia

โรคกลัว เป็นโรคที่ผู้ป่วยมักจะแสดงอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรงต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือสถานการณ์เฉพาะ ซึ่งจะเป็นไปอย่างไร้เหตุผล และจะกลัวเฉพาะสิ่งเร้าบางอย่างเท่านั้น

 

เช่น กลัวรู กลัวที่แคบ กลัวสัตว์บางชนิด โรคเหล่านี้ล้วนเป็นโรคที่ไม่น่ากลัวและคนทั่วไปไม่กลัวกัน ในกรณีรุนแรงไม่เพียงแค่จะมีอาการหวาดกลัวเท่านั้น

 

แต่ยังรวมถึงการเอ่ยถึง หรือเห็นสิ่งที่มีความใกล้เคียงกันจะทำให้รู้สึกกลัวด้วย ในส่วนของความกลัว ความกลัวคือ ปฏิกิริยาตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่มีไว้ป้องกันตัวเอง

 

เวลาเจอกับอะไรที่อาจจะส่งผลไม่ดีต่อตัวเอง เวลาที่เราเผชิญกับสิ่งที่ทำให้เรากลัว ร่างกายของเราก็จะเตือนตัวเองด้วยการสร้างเหงื่อ ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และเพิ่มอะดรีนาลีนให้เราตื่นตัวมากยิ่งขึ้น

 

โรคกลัว เกิดขึ้นได้อย่างไร

ปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคกลัว แต่มีหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายถึงสาเหตุ เช่น อาจมีที่มาจากปมขัดแย้งที่ติดค้างในจิตใต้สำนึก มีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับสิ่งนั้น ๆ มาก่อน

 

เกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีบางอย่างในสมอง และส่วนหนึ่งเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เนื่องจากพบว่าคนที่ขี้กลัวมักมีบุคคลในครอบครัวที่ขี้กลัวเหมือน ๆ กัน

 

ประเภทของ โรคกลัว

โรคกลัวแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่

1. โรคกลัวเฉพาะอย่าง (Specific Phobia)

เป็นชนิดของโรคกลัวที่พบได้บ่อย เช่น กลัวงู แมลงสาบ ผีเสื้อ ของมีคม กลัวเลือด กลัวความสูง ความมืด

2. โรคอะโกราโฟเบีย (Agoraphobia)

เป็นกลุ่มอาการกลัว (cluster of phobias) สถานการณ์หลาย ๆ อย่างที่มีลักษณะร่วมกัน คือหลบออกไปจากตรงนั้นได้ยาก หรือความช่วยเหลือเข้ามาถึงได้ยาก

 

เช่น กลัวที่ชุมชนที่มีคนเบียดเสียด กลัวที่แคบ ห้องไม่มีหน้าต่าง กลัวการนั่งรถตู้ด้านหลัง การเข้าเครื่อง MRI การขึ้นเครื่องบิน

 

3. โรคกลัวกิจกรรมทางสังคม (Social Phobia)

ผู้ป่วยจะกลัวเมื่อรู้สึกว่าตัวเองกำลังตกเป็นเป้าความสนใจของผู้อื่น เช่น การพูดหน้าชั้น การพูดผ่านไมโครโฟน หรือแม้แต่การขึ้นรถเมล์ประตูด้านหน้า

 

กลัวขนาดไหนถึงเรียกว่า โรคกลัว

ความกลัวจริง ๆ แล้วเป็นสัญชาตญาณที่ทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่รอดได้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติกับมนุษย์เราแทบทุกคน เมื่อเราเกิดความกลัว ไม่ว่าจะเป็นการกลัวความสูง กลัวสัตว์ร้าย หรือกลัวคนแปลกหน้า

 

มนุษย์จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัวนั้น ซึ่งเท่ากับว่าจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดอันตรายกับตัวเราเองแต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเกิดความกลัวจนทำให้ตัวเองทุกข์มาก ๆ ทำให้เสียงานเสียการ เกิดความตึงเครียด

 

เป็นความกลัวที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนจนก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา ในกรณีแบบนี้จะถือว่าเป็น “โรคกลัว (Phobia)” ซึ่งจัดว่าเป็นความผิดปกติทางจิตเวชอย่างหนึ่ง

 

อาการของโรคกลัว

ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติเมื่อพบกับสิ่งที่ตัวเองรู้สึกกลัว เช่น อาการกลัวรู กลัวเสียงดัง กลัวความรัก กลัวทะเล เมื่อได้มีโอกาสพบเจอกับสิ่งที่ตัวเองรู้สึกกลัว อาจทำให้มีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้นกับตัวเองได้

 

เช่น กล้ามเนื้อตึงตัว ปวดศีรษะ ใจสั่น หายใจไม่ทัน รู้สึกชาวูบขึ้นมาทั้งตัว มือสั่น ปากสั่น และบางรายอาจรู้สึกกลัวจนถึงขนาดวิงเวียนและหมดสติไปได้เลย

 

กลัวในสิ่งที่คนอื่นไม่กลัว

โรคกลัวเสียงดัง (Misophonia)

กลัวเสียงดัง หรือ มีอาการเกลียดเสียง เมื่อต้องได้ยินเสียงบางอย่าง เช่น เล็บขุดเหล็ก เสียงประทัด เสียงพลุ เป็นต้น เมื่อได้ยินแล้วจะรู้สึกตื่นกลัว ไม่สบายใจ อึดอัด อยากหนีไปไกล ๆ

 

โรคกลัวไม่มีหนังสืออ่าน (Abibliophobia)

อาการนี้ มักเกิดขึ้นกับคนที่ชอบอ่านหนังสือ หรือ เป็นหนอนหนังสือ เพราะจะมีอาการกลัว เมื่อไม่มีวัตถุให้จับอ่าน ส่วนใหญ่จะเกิดในคนที่เสพติดหนังสือมาก ๆ ต้องอ่านอยู่ตลอด ๆ

 

โรคกลัวทะเล (Thalassophobia)

มักเกิดขึ้นเมื่ออยู่ใกล้ทะเล หรือ แค่เห็นภาพถ่ายก็อาจกลัวได้ สาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากความคิด ที่จินตนาการว่าใต้ทะเลลึก อาจมีอะไรซ่อนอยู่ เป็นสิ่งลึกลับที่เราไม่อาจรู้ได้

 

โรคกลัวผู้ชาย (Androphobia)  

อาการกลัวผู้ชาย มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงในช่วงวัยรุ่นมากที่สุด โดยจะมีอาการกลัวผู้ชาย หลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชาย และอาจมีอาการกลัวถึงขั้นไม่กล้าคบกับผู้ชายเลยสักคน

 

โรคกลัวการอยู่คนเดียว (Autophobia)

เป็นภาวะความกลัวที่เฉพาะเจาะจง โดยการกลัวการเป็นตัวเอง กลัวความเหงา กลัวการอยู่คนเดียว กลัวการต้องแยกจากผู้อื่น การกลัวความโดดเดี่ยว อาจเกิดจากประสบการณ์ในจิตใจ เช่น เคยถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว

 

โรคกลัวเชื้อโรค (Mysophobia)

เป็นอาการกลัวความสกปรก กลัวเชื้อโรค เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่ปนเปื้อน โดยอาจมีการแยกตัวออกมา จากสิ่งที่คิดว่าสกปรก ไม่สะอาด หรือ มีเชื้อโรคเยอะ อาจส่งผลให้เกิดความวิตกกังวล เครียดสะสม

 

โรคกลัวกระจก (Eisoptrophobia)

ไม่กล้ามองเข้าไปในกระจกเพราะรู้สึกว่าตัวเองจะถูกดูดเข้าไปในโลกอีกฝั่งที่อยู่ในกระจก นอกจากนี้ผู้ที่มีอาการกลัวกระจกจะรู้สึกกังวลเป็นอย่างมากถ้าหากกระจกเกิดแตกขึ้นมาเพราะกลัวว่าความโชคร้ายจะมาเยือน

 

โรคกลัวรู (Trypophobia)

เป็นความรู้สึกกลัว หลอน ขยะแขยง ขนลุก มีเหงื่อออก ตัวสั่น อึดอัด คลื่นไส้ หรือสะอิดสะเอียนเมื่อเห็นผิวของวัตถุที่เต็มไปด้วยรูเล็ก ๆ หรือมีลักษณะตะปุ่มตะป่ำ เช่น ฝักเมล็ดบัว รังผึ้ง เมล็ดทับทิม สตรอเบอร์รี่

 

โรคกลัวเลือด (Hemophobia)

เป็นความกลัวต่อเลือดอย่างรุนแรงและไม่สมเหตุผล ซึ่งผู้ที่มีอาการเฉียบพลันจะมีปฏิกิริยาตอบสนองทางกายมากกว่าความกลัวปกติธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการคือเป็นลม

 

ซึ่งอาจพบปฏิกิริยาดังกล่าวได้ในผู้ที่มีอาการกลัวเข็ม และอาการกลัวการบาดเจ็บ 

 

โรคกลัวเข็ม

อาการคือแค่นึกถึงขั้นตอนการเจาะเลือดก็เกิดความวิตกกังวลอย่างเฉียบพลัน มีอาการแพนิก ตื่นตระหนก หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วขึ้น เหงื่อออก ความดันโลหิตลดลง จนอาจเป็นลมหมดสติ

 

โรคกลัวสัตว์

เป็นอาการที่มีความกลัวต่อสัตว์อย่างรุนแรงและไม่สมเหตุสมผล เมื่อเจอสัตว์ประเภทต่าง ๆ ที่เป็นสัตว์ที่เราคุ้นเคยกัน เช่น น้องหมา น้องแมว หรือสัตว์ใหญ่ทั่วไปอย่าง

 

เช่น ช้าง ม้า วัว หลายคนอาจมองว่าน้องตัวเล็ก น่ารัก หรือไม่มีพิษภัย แต่สำหรับคนที่เป็นโรคกลัวจะกลัวมากกว่าคนปกติและไม่อยากที่จะเข้าใกล้เลย

 

โรคกลัวความรัก

มักแสดงอาการทางกาย เช่น สั่นกลัว ร้องไห้ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หายใจหอบถี่ เหงื่อออกมาก เมื่อรับรู้ว่ามีบุคคลอื่นพยายามสานความสัมพันธ์ หรือแสดงออกว่าชอบตัวเอง

 

เคสตัวอย่างอาการกลัวของดาราฮอลีวู้ด

“นิโคล คิดแมน” กลัวผีเสื้อจนขึ้นสมอง เป็นความฝังใจวัยเด็กที่เห็นผีเสื้อยักษ์เกาะหน้าประตูบ้านแล้วหวาดผวา เขาเล่าว่า เขารู้สึกแทบหยุดหายใจทุกครั้งที่เห็นผีเสื้อยักษ์เกาะประตูบ้าน

 

แต่ต้องกลั้นใจปีนรั้ว แล้วคลานเข้าไปด้านหลังบ้าน เพื่อไม่ให้ผ่านประตูใหญ่ พอโตขึ้นก็พยายามรักษาอาการกลัวผีเสื้อ โดยเดินดุ่ม ๆ เข้าพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา แต่พอเจอกับผีเสื้อยักษ์ในกรงท้องไส้ก็ปั่นป่วนทันที 

 

“คริสเตน สจ๊วต” ซุป’ตาร์สุดฮอตของฮอลลีวูด กลัวม้าดีด สาเหตุเกิดจากจากที่ตัวเองเคยตกหลังม้าตอนอายุ 9 ขวบ จากนั้นก็ฝังใจมาจนโต

 

“เมแกน ฟ็อกซ์” ให้สัมภาษณ์ว่า ตัวเองนั้นในชีวิตนี้กลัวกระดาษ , กลัวรูปตัวเอง , เกลียดเชื้อโรค และความมืด

 

“จอห์นนี่ เด็ปป์” มีอาการกลัวตัวตลก ไม่ใช่แบบตลกคาเฟ่ตีหัวแบบบ้านเรา แต่เป็นตัวตลกที่แต่งหน้าขาว ทาปากแดง ๆ หัวหยอย ๆ แบบโบโซ่ในสวนสนุก

 

ซึ่งสาเหตุเกิดจากการที่เขาไม่ชอบการแต่งหน้าและรอยยิ้มที่ดูเหมือนเฟคขึ้นมาของตัวตลกแบบนี้เลย มันดูน่าสยดสยองมากกว่าที่จะน่ารัก

 

เมื่อเป็นโรคกลัวควรทำอย่างไร รักษาด้วยวิธีแบบไหนดี

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า แพทย์จะรักษาโรคกลัวด้วย 2 วิธีหลัก คือ

 

1. พฤติกรรมบำบัด จัดเป็นการรักษาหลัก วิธีการคือให้ผู้ป่วยเข้าหาและเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตัวเองกลัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากสิ่งที่ผู้ป่วยกลัวน้อย ๆ ก่อน

 

เมื่อหายกลัวแล้วจะค่อย ๆ ให้เผชิญกับสิ่งที่ผู้ป่วยกลัวมากยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงเป้าหมายที่ผู้ป่วยตั้งใจไว้ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยอย่างมาก ๆ

 

2. การรักษาด้วยยา โดยยาที่นำมาใช้ จะเป็นยาประเภท เช่น ยาแก้โรคซึมเศร้าบางชนิด ยาระงับอาการสั่น โดยแพทย์จะใช้ยาในผู้ป่วยที่กลัวมากจนไม่ยอมทำพฤติกรรมบำบัด

 

ซึ่งยาจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกกลัวน้อยลงและกล้าที่จะฝึก เมื่อผู้ป่วยประสบความสำเร็จในการทำพฤติกรรมบำบัดแพทย์จะค่อย ๆ ลดยาลงจนหยุดยาได้ เพราะการให้ยาอย่างเดียวไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยหายขาด

 

เมื่อหยุดยาอาการกลัวก็จะกลับมาอีก ดังนั้นผู้ป่วยต้องบำบัดเพื่อกล้าที่จะเผชิญต่อสิ่งที่เรากลัวนั่นเอง

 

Phobia อาจไม่ใช่โรคกลัวที่มีอาการรุนแรง แต่สามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ป่วยได้ส่วนหนึ่ง หากสำรวจตัวเองแล้วรู้สึกว่ากำลังมีอาการกลัวในสิ่งเหล่านี้อยู่

 

อยากให้ลองไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับอาการและแนวทางการรักษา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและก่อให้เกิดเป็นปัญหาเรื้อรังในภายหลังได้

 

ที่มา :

https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Phobia-detai

 

https://www.bumrungrad.com/th/conditions/phobias

 

https://th.theasianparent.com/20-https://www.pptvhd36.com/news//14421-phobia

 

https://www.thairath.co.th/news/foreign/844832